'จุรินทร์' นำเกษตร-พาณิชย์ หนุนรัฐบาล 'ลุยงานช่วยประชาชน' ชุดเฉพาะกิจ

12 ส.ค.2565 - นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวานนี้(11 ส.ค.2565)ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 1 / 2565 ในวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 10:30 น. ถึง 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะกรรมการโดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้มีการบรรจุแผนการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตไปในโอกาสนี้ด้วย โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้ตัวแทนคือ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ สำหรับการประชุมเฉพาะกิจวันนี้นั้นเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 170 / 2565 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติด้านเศรษฐกิจลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ เป็นประธานและมีรองนายกรัฐมนตรี 4 ท่านเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและฝ่ายเลขานุการ ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจแล้วสองครั้ง โดยสำนักงานที่โยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมและได้เสนอแผนที่ดำเนินการไปแล้วโดยการนำของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จุรินทร์ นอกจากนั้นก็จัดทำข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รัฐบาลทำแผนรองรับ 4 ด้านคือ 1.ด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.ด้านการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร 3.ด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี 4.ด้านเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันโดยทั้ง 4 ด้านนั้นมีมาตรการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือ Current policy มาตรการระยะเร่งด่วนหรือ Quick win และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องหรือ Follow -up Urgent policy โดยในส่วนมาตรการรองรับที่กระทรวงพาณิชย์เสนอที่ถูกนำบรรจุไว้ในข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมคือ 1.การควบคุมราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน 2.การเร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 3.การเร่งรัดเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าที่มีศักยภาพและเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และการแก้ไขอุปสรรคปัญหาและผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า 4.การยกระดับการเจรจาเอฟทีเอที่มีอยู่ 5.การเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ การทำข้อตกลงเจาะตลาดเมืองรองด้วยมินิเอฟทีเอ 6.การจับคู่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ Online Business Matching และในการประชุมกรรมการใหญ่ทางรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ก็ได้ขอเพิ่มมาตรการทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์หรือทางปศุสัตว์ไปด้วย

ในที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์โลกโดยมีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและความขัดแย้งเรื่องใต้หวันและประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและกรณีที่ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบ หน่วยงานต่างๆทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศธนาคารโลกรวมถึง OECD ต่างก็ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 อย่างต่อเนื่องและในทางกลับกันก็ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้นยังได้ตรวจสอบเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอย่างละเอียด

จากนั้นในที่ประชุมก็ได้สรุปแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีการรายงานเครื่องบ่งชี้วิกฤติเศรษฐกิจล่าสุดซึ่งแยกเป็น 4 ส่วนคือวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร วิกฤติด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และวิกฤติโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งก็มีการพูดถึงค่าน้ำมันและก๊าซหุงต้ม เรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องไฟฟ้า เรื่องวัตถุดิบก็พูดถึงปุ๋ยและอาหารสัตว์ที่ราคาเพิ่มทำให้ต้นทุนทางการเกษตรเพิ่มส่งผลต่อชาวนาและยางพาราที่มีราคาขายต่ำกว่าต้นทุน เป็นต้น แต่ตรงส่วนของปุ๋ยและอาหารสัตว์นั้น รองนายกฯจุรินทร์ก็รายงานสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานโดยเฉพาะการหาปุ๋ยนำเข้าทดแทนจากรัสเซียโดยได้จากซาอุดีอาระเบียหลังการเปิดประเทศและก็ได้แล้ว 300,000 กว่าตัน ส่วนที่เหลือกำลังจะต้องเจรจาอีกในวาระที่จะไปซาอุดีอาระเบียช่วงวันที่ 27-31 สิงหาคม 2565 นี้ รวมทั้งมาตรการทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ และมาตรการช่วยเกษตรกรด้านหลักของโครงการประกันรายได้การจ่ายชดเชยตรงนี้ช่วยเกษตรกรไว้ได้มาก นอกนั้นในส่วนของหนี้ครัวเรือนจริงๆก็เริ่มลดลงแต่รายจ่ายครัวเรือนอาจจะยังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและในส่วนของธุรกิจขนาด SMEs แม้ในภาพรวมค่อยๆค่อยๆฟื้นตัวแต่ก็ยังไม่กลับสู่ระดับปกติและยังกังวลเรื่องต้นทุนกำไรกันอยู่ก็จะต้องมีมาตรการมาดูแล อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมก็ได้พิจารณามาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน Current policy ด้านวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้า ได้แก่ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพอันเนื่องมาจากพลังงานแพงโดยกระทรวงพลังงาน เช่น ตรึงราคาน้ำมัน ตรึงค่า Ft คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV และช่วยเหลือค่าน้ำมันให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนกระทรวงพาณิชย์มีการดำเนินการควบคุมราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด อาหารกระป๋อง ฯลฯ ด้านวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบ มีการให้ความรู้ในการปรับสูตรอาหารสัตว์เน้นใช้วัตถุดิบภายในประเทศทดแทนการนำเข้าและช่วยรายย่อยให้ผลิตสูตรอาหารสัตว์ใช้เองได้จากวัตถุดิบท้องถิ่น มีการดำเนินโครงการบริหารจัดการปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะปุ๋ยเคมีราคาแพง ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโพแทสในประเทศ ตลอดจนมีมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น ส่วนกระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาดูแลปริมาณปุ๋ยคงคลังในประเทศและร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเจรจาซื้อขายปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียสำเร็จ 323,000 ตันแล้ว สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน เปิดตลาดนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองเพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ในด้านวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ดำเนินโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มาตรการเสริมสภาพคล่องด้วยการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต ขยายเพดานวงเงินบัตรเครดิต คลินิกแก้หนี้ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นต้น มีการออกมาตรการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมและผู้ประกันตนโดยกระทรวงแรงงาน ส่วนกระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการ คนละครึ่ง มาตรการภาษีสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรและผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เป็นต้น ในด้านวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเจรจา FTA กับคู่ค้าศักยภาพและเจรจาเพื่อลดอุปสรรคการค้า รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA 14 ฉบับที่มีอยู่ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังออกมาตรการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี การลงทุนโครงสร้างในประเทศโดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง โครงข่ายถนน ระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำ

สำหรับมาตรการเร่งด่วน หรือ Quick Win ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้า ได้แก่ มาตรการประหยัดพลังงานของกระทรวงพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและหน่วยงานราชการลดการใช้ไฟ และให้พิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอันเนื่องจากราคาน้ำมันแพงเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในมุมประชาชน ส่วนกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการจัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือนของ ขสมก. รฟท. และ รฟม. เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน ในด้านวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร มีการเตรียมมาตรการลดต้นทุนการผลิต อาทิ โครงการบริหารจัดการปุ๋ย ชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกร สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์สำรวจคัดเลือกเกษตรกร จัดทำแผนรับซื้อและจัดหาปุ๋ยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้านวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs ที่ประชุมเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูร่วมกับกระทรวงการคลังให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกร ฐานข้อมูลหนี้เกษตรกรเพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนด้านวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังพิจารณามาตรการสนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยขยายวัตถุประสงค์ของมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ (Transformation Loan) โดยเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลงทุนนวัตกรรม และการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร เป็นต้น

ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง หรือ Follow-up Urgent policy โดยในด้านวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้า กระทรวงคมนาคมจะส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดต้นทุนและปรับรูปแบบการขนส่ง เน้นการขนส่งทางราง ลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงงานสะอาด ในด้านวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศสอดคล้องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกทั้งจะศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทส ส่วนด้านวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs รัฐบาลจะดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พัฒนาทักษะทางการเงินทุกช่วงวัย เร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ สร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการเอสเอมอีในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สินเชื่อมเสริมสภาพคล่อง และจะเข้ามาดูแลหนี้สินของประชาชนรายย่อยด้วย ในด้านวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน จะดำเนินมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเตรียมความพร้อมในการแย่งแยกห่วงโซ่การผลิตของโลกและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการผลักดันการเจรจากรอบความร่วมมือด้านดิจิทัลกับสิงคโปร์ ขยายความร่วมมือด้าน BCG เพิ่มการให้ความสำคัญกับอ่าวเบลกอลและมหาสมุทรอินเดียภายใต้กรอบ IORA และ BIMSTEC ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการยกระดับการเจรจาเอฟทีเอที่มีอยู่และเปิดเจรจากรอบใหม่ ตลอดจนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
....

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

รัฐบาลแนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว ปฏิบัติตามกฎตลาดโลก

รัฐบาลเสริมความเข้มแข็งสินค้าไทย ให้เท่าทันกฎระเบียบของทุกตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัว หลังสเปนจ่อออกกฎใหม่ เครื่องดื่มพสาสติกต้องใช้ฝาแแบยึดกับขวด

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

'พาณิชย์' ลุยต่อ จัดธงฟ้าราคาประหยัด ลดภาระค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ชาว จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี

“พาณิชย์” เดินหน้าลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน จัดงานธงฟ้าราคาประหยัด ทั้งที่จ.สุรินทร์ และจ.อุบลราชธานีนำสินค้าจากผู้ประกอบการ ห้าง เกษตรกร SMEs วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายรุ่นใหม่ YEC และ Young Smart Farmer รวม 10 หมวดสินค้า กว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุด 60%