ลือสนั่นกลางสนามสอบนักธรรม! ปลด 'สังฆราชน้อย'

ข่าวร้อนวงการสงฆ์! ผลพวงจากการปลด 3 เจ้าคณะจังหวัดยังไม่หมด 'อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอม' วิเคราะห์ข่าวลือสนั่นกลางสนามสอบนักธรรม ปลดสมเด็จชิน เลขาธิการพระสังฆราช

24 พ.ย.2564 - เว็บไซต์อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอม ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เขียนบทความล่าสุดไว้ในน่าสนใจว่า “ปลดเลขาสังฆราช ! ลือสนั่นกลางสนามสอบนักธรรม สำนักพุทธฯโบ้ยมหาเถรสมาคม ไม่รู้เรื่องปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด แถมพระครูเล็กคุยโวหน้าหลวงปู่หา "เป็นพระบรมราชโองการ" งานเข้าสมเด็จชิน! โดยมีเนื้อหาว่า อา..โบราณว่า "ไม่มีฝอย หมาไม่ขี้" กรณีที่มี "ข่าวลือ-ปลดเลขาสมเด็จพระสังฆราช" ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ ใครบังอาจลือก็ถือว่า "เทียบเท่าหมิ่นเบื้องสูง" ถึงปานนั้น แต่นั้นก็ย่อมจะมีอะไรบางอย่างที่ "มีเค้ามูล" ว่าเกิดการถกเถียงหรือสั่งการอะไรบางอย่าง ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ "ระดับสูง" คือมหาเถรสมาคม และปัญหาที่ว่านั้นก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไรใหญ่กว่า "ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์" ของพระครูเล็ก ในปัจจุบัน ซึ่งยังหาสังกัด หาเลขา หรือแม้แต่พระถือย่ามติดตาม ก็ยังหาไม่ได้

ภาพพระครูเล็กต้องใช้ "กองกำลังทหาร" คุ้มกัน "นับสิบคัน" ยกขบวนกรุยทางเสือผ่านย่างเข้าสู่ดินแดนน้ำดำ ทำให้ "พระผู้ใหญ่" ไม่แฮปปี้ เพราะนี่มิใช่ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ผู้สมถะ แต่กลับกลายเป็นภาพผู้มีอำนาจระดับ "เจ้าพ่อ-มาเฟีย" แถมหลังจากนั้นก็ยังมี "ม็อบชาวพุทธ" ประท้วงพระครูเล็ก เพิ่มเชื้อไฟเข้าไปอีก ถ้าเมื่อวาน พระครูเล็กเข้าสนามสอบวัดประชานิยมจริง ก็รับรองว่า เวลานี้ ภาพพระครูเล็ก "ถูกชี้หน้าไล่พ้นกาฬสินธุ์" ก็คงกระจายไปทั่วโลก ตบหน้า "ผู้แต่งตั้ง" เสียจมดิน อายไปถึงสวรรค์นิพพาน

จากการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครั้งล่าสุดนั้น นอกจากมหาเถรสมาคม อันมี "พระสังฆราชอัมพร" วัดราชบพิธ เป็นประธานสูงสุด จะต้องดูแลรับผิดชอบต่อการ "แต่งตั้งโยกย้าย" พระสังฆาธิการทุกระดับแล้ว รัฐบาลไทยและรัฐสภาไทย ก็ยังโอนอำนาจ "การบริหารสูงสุด" ไปถวาย "สำนักพระราชวัง" โดยระบุว่า การแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับ หากผ่านมหาเถรสมาคมแล้ว "ต้องทูลเกล้าพระเจ้าอยู่หัว" เพื่อทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ และให้พระราชดำรินั้น "เป็นอันสิ้นสุด ไม่ว่ากรณีใดๆ"

การแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์เช่นนี้ ถือได้ว่าขัดกับหลักการ "The King can do NO Wrong" ที่แปลว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง หลักการก็คือ การยกสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือการเมือง ให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แน่นอนว่า จะเลือกเอาเฉพาะ "ส่วนดีไว้" กับสถาบันนั้น คงทำไม่ได้ สุดท้ายจึงต้อง "ยกทั้งดีและเสีย" ให้รัฐบาลรับผิดชอบแทน ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่มีทั้งดีและเสีย

แต่เมื่อมีการแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ ครั้งล่าสุดดังกล่าว ก็เท่ากับการเอา "ทั้งดีและเสีย" ถวายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ "รับผิดชอบ" ซึ่งปรากฏว่า หลายคำสั่งแต่งตั้งพระสังฆาธิการ ได้พระดี มีคุณสมบัติเหมาะสม ผู้คนก็แซ่ซ้องสรรเสริญในพระมหากรุณาธิคุณ แต่บางคำสั่ง เช่น ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่า "หลวงพ่อบัวศรีผิดอะไร" พระโยมกาฬสินธุ์ "ทั้งจังหวัด" ก็ยืนยันว่าเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อบัวศรี ไม่มีใครเห็นพิรุธอะไรในตัวท่าน หนำซ้ำ เมื่อถูกปลดไปแล้ว ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อบัวศรี กลับยิ่งเพิ่มพูน ขณะที่ "พระครูเล็ก" ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์แบบ "ข้ามห้วย" นั้น เมื่อหลวงตาอินทร์ถวาย ศิษย์เอกหลวงตาบัว ออกมาเผยเบื้องหลังของการรับตำแหน่ง ก็ยิ่งทำให้กระดำกระด่าง เสียหายลามปามไปถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์

แต่ไม่ว่าจะมีปรากฏการณ์อะไรขึ้น สุดท้าย กระบวนการก็จะต้อง "เดินตามกฎหมาย" หมายถึงว่า ปัญหาพระครูเล็ก ก็จะต้องย้อนกลับไปยัง "ต้นทาง" ซึ่งเป็นที่มาของ "คำสั่ง" หรือ "พระบรมราชโองการ" แต่งตั้งพระครูเล็ก อันหมายถึง..มหาเถรสมาคม และ สำนักพระราชวัง นั่นเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "การเมือง" มีผลเกี่ยวข้องกับทั้งคณะสงฆ์ไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การจะนำเอา "สถาบันพระพุทธศาสนา" มาเป็นหลักทางการเมืองเรื่องคุณธรรม รวมทั้งผนึกเป็นเนื้อเดียวกันกับ "สถานพระมหากษัตริย์" นั้น มองมุมหนึ่งก็ถือว่าดี เพราะการพระศาสนากับการเมืองแยกกันไม่ได้ แต่อีกมุมหนึ่งนั้นก็สุ่มเสี่ยง ถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นมาทางใดทางหนึ่ง ก็จะกระทบอีกทางหนึ่ง เพราะผูกขาไว้ติดกัน

ปัญหาสำคัญที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงจะมองเห็น ก็คือ การที่มีพระสงฆ์ส่วนหนึ่ง มีใจออกห่าง ไม่ค่อยจะจงรักภักดี หรือเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ บ้างออกอาการหนักถึงกับ "ร่วมม็อบต่อต้าน" หรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนในสังคมสงฆ์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏพฤติการณ์เยี่ยงนี้มาก่อน ไม่ต่างจากการด่าพ่อด่าแม่ จึงพยายามแก้ไขด้วยการ "ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจแต่งตั้งพระสังฆาธิการและพระราชทานสมณศักดิ์โดยตรง"

แต่การให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจแต่งตั้งคณะสงฆ์ "โดยตรง" นั้น ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีก็คือ : หากพระบรมราชโองการนั้น สัมฤทธิ์ผล ผู้คนก็จะแซ่ซ้องสรรเสริญในพระมหากรุณาธิคุณ

ข้อเสียก็คือ : หากพระบรมราชโองการนั้น ไม่สัมฤทธิ์ผล ผู้คนก็จะว่าร้ายนินทากระทบกระทั่งไปจนถึงสถาบัน..

นั่นเพราะมิได้ใช้หลักการ The King can do NO Wrong

จริงอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งใจดี ให้มีการดูแลกิจการพระพุทธศาสนา ผ่านราชสำนัก ซึ่งคงจะมองว่าเรื่องวัดบริหารง่ายไม่ซับซ้อนเหมือนกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ แต่การตีหญ้าให้งูตื่น ด้วยมหกรรม "เงินทอนวัด" ของรัฐบาลทหาร ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายในแวดวงชาวพุทธ กลายเป็นบาดแผลใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดกรณี "พระพิมลธรรม" ในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2500

ทุกวันนี้ รัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งเดินตามสฤษดิ์ต้อยๆ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาพระศาสนาได้ เพราะคิดและทำแบบทหาร หนำซ้ำยังเอาปัญหาไปให้สถาบันพระมหากษัตริย์รับผิดชอบ โดยคิดฝันว่า ถ้าให้พระมหากษัตริย์ทรงกำกับกิจการพระพุทธศาสนา เหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการพระพุทธศาสนาน่าจะราบรื่น โดยหารู้ไม่ว่า สังคมไทยสมัย ร.5 กับ ร.10 นั้น ต่างกันลิบลิ่ว

กรุงเทพและปริมณฑลในสมัย ร.5 ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งโยกย้ายพระสังฆาธิการด้วยพระองค์เองนั้น เล็กกะจิดริด ส่วนหัวเมืองต่างๆ นั้น เจ้าเมืองสมัยนั้นยังถืออำนาจแต่งตั้งสังฆราชด้วยพระองค์เอง กรุงเทพไม่เกี่ยว

เมื่อเกิดกรณี "มหาคำปิง" ศิษย์เอกของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และพระอนุชาในพระเจ้าอยู่หัว ร.5 ปรากฏว่า พระสงฆ์เชียงใหม่เกิดการกระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมรับอำนาจจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่งตั้ง มหาคำปิง ให้เป็น พระนพีสีพิศาลคุณ ข้ามหน้า "ครูบาโสภา" วัดฝายหิน ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์แห่งมหานครเชียงใหม่มายาวนาน รุ่นพ่อแม่ครูอาจารย์ของมหาปิง

สุดท้าย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินปัญหาด้วยการ "นิมนต์ครูบาโสภา" ลงมากรุงเทพฯ และทรงโปรดแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์เป็น "พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์" แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ อันเป็นการนับหนึ่ง เป็นปฐมเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

การทรงตั้ง "ครูบาโสภา" เป็นสังฆปาโมกข์นครพิงค์นั้น ก็เท่ากับ "ทรงลดบทบาทของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระอนุชาลงไป ส่งผลมหาปิงหรือพระนพีสีพิศาลคุณนั้นไร้อำนาจ จึงเกิดความเบื่อหน่าย ถึงกับ "ลาสิกขา" ไปในที่สุด

การประดิษฐาน "ธรรมยุตวงศ์" ในนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ อันเป็นหัวเมืองใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของคณะธรรมยุตวัดบวรนิเวศวิหาร จึงเป็นอัน "ล้มเหลว" ดังคำกล่าวว่า ทำไมธรรมยุตไม่รุ่งเรืองในเมืองเชียงใหม่ ต่างกับภาคอีสานที่เบ่งบานกว่าภาคอื่น

ณ วันนี้ เกิดปัญหาว่าด้วยการปกครองในท้องถิ่นกาฬสินธุ์แล้ว เป็นธรรมยุตกับธรรมยุต เท่ากับแตกกันภายใน ซึ่งทุกฝ่ายก็อยู่ภายใต้การบริหารปกครองของ "เจ้านายเดียวกัน" ตั้งแต่เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ (วัดบวรนิเวศวิหาร) สมเด็จพระสังฆราช (วัดราชบพิธ) และสำนักพระราชวัง (ซึ่งในหลวง ร.10 ทรงเคยผนวชและจำวัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร) จึงเป็นปัญหาที่ "แก้ไขได้" ง่ายกว่าการข้ามนิกาย เพราะนี่เพียงแต่ "ข้ามเขต" เท่านั้น จึงยังไม่รู้ว่า ทางผู้เกี่ยวข้อง "ทุกฝ่าย" จะใช้กุศโลบายใดในการแก้ไขปัญหากาฬสินธุ์

กลับมาที่ "ข่าวลือ ปลดเลขาฯ พระสังฆราช" ซึ่งลำดับเหตุการณ์ได้ว่า เกิดเหตุที่ห้องประชุมมหาเถรสมาคมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) วันที่ 30 กันยายน 2564 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการในสมเด็จพระสังฆราช ได้แจ้งต่อที่ประชุม มส. เรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการ มากมายถึง 36 รูป ในบรรดาพระสังฆาธิการเหล่านั้น มีตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และกาฬสินธุ์ รวมอยู่ด้วย

แต่ต่อมา เมื่อมีการไม่ยอมรับมติมหาเถรสมาคมครั้งดังกล่าว ก็มีข่าวว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ปฏิเสธ ไม่รู้ไม่เห็นว่าเป็นมาอย่างไร ใครเป็นคนเสนอปลดเสนอตั้งเจ้าคณะจังหวัดที่มีปัญหา อาตมาไม่ทราบ

เออ แปลกไหมล่ะฮะ ก็สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นเลขามหาเถรสมาคม เสนอข่าวว่า "สมเด็จชิน เป็นผู้เสนอต่อที่ประชุม มส. เอง" แต่กลับบอกว่า "ไม่รู้ว่ามาจากไหน" เอามาจากผีหรือไร ?

ใช่แต่แค่นั้น ครั้นนักข่าวไปถาม "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวมหาเถรสมาคมตั้งแต่ต้น นายสิปป์บวร แก้วงาม รอง ผอ.พศ. และรักษาการ ผอ.พศ. ซึ่งรอคั่วตำแหน่ง ผอ.พศ. แทนนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการไป ก็ใช้ม้าแทน สั่งให้ "นายสิทธา มูลหงษ์" เป็นผู้ออกมาแถลงข่าวแทน ซึ่งก็แถลงได้ใจมาก เพราะคุณสิทธาแกยอมรับว่า "มีมูลเหตุการทำผิดในอำนาจหน้าที่ เพียงพอต่อการพิจารณาถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดทั้งสามรูปจริง" แต่พอถามหาคำสั่งตามสายงานบังคับบัญชา นายสิทธาก็ใช้สำนวนไทยโบราณว่า "การสิ่งใดที่นอกเหนือจากนี้ คงไม่สามารถอธิบายได้ไปมากกว่านี้" จากนั้นก็โบ้ยให้ไปถาม "เจ้าคณะใหญ่" ผู้มีอำนาจโดยตรง

สรุปตรงกันว่า ไม่ว่าสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ไม่ว่าสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม ต่างไม่รู้เรื่อง ปล่อยให้อีกฝ่ายใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ยื่นเรื่องผ่านหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอดูข้อมูลการสั่งปลด 3 เจ้าคณะจังหวัดดังกล่าว การจะปล่อยเรื่องให้เงียบจึงไม่ได้ผล ช่วงนี้ก็ปล่อยให้เกิด "ข่าวลือ" ไปต่างๆ นานา ว่าคนโน้นคนนี้ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งดังกล่าว บ้างลือหนักถึงขั้นว่า มีผู้มีบารมีเหนือมหาเถรสมาคม เลยทีเดียว

แต่ข่าวลือหรือการปฏิเสธ "ที่มาของคำสั่ง" ของทั้งเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น ก็พลันมลายกลายเป็นความกระจ่างชัดแจ้งแดงแจ๋ไปทันที่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ปรากฏว่า พระครูสุทธิญาณโสภณ หรือพระครูเล็ก ผู้ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม ให้ดำรงตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์" แทนพระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) ได้เดินทางเข้าไปในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มุ่งหน้าไปยังวัดป่าสักกะวัน อำเภอสหัสขันธ์ ขอเข้ากราบ พระเทพมงคลมุนี (หา สุภโร) หรือหลวงปู่ไดโนเสาร์ เจ้าอาวาส

โดยเมื่อหลวงปู่หาถามว่า ท่านซื่อว่าจังได๋ (ท่านชื่ออะไร) พระครูเล็กก็ประกาศว่า "ที่เพิ่น อ้า ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ครับผม" หลวงปู่หาถามย้ำว่า "ซื่อว่าจังได๋" (ชื่ออะไร) พระครูเล็กถึงเพิ่งจะเอ่ยชื่อว่า "พระครูสุทธิญาณโสภณ ครับ ที่เขาเรียกว่าอาจารย์เล็กนะครับ" ฯลฯ

การประกาศโดยไม่ได้ถามว่า "ที่เพิ่น อ้า ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ครับผม" นั้น นอกจากจะส่อเจตนาพระครูเล็ก ว่ามีวัตถุประสงค์ในการมากาฬสินธุ์อย่างไรแล้ว ก็ยังเป็นการประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการว่า ตนเอง ได้รับพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์

คำพูดของพระครูเล็ก ต่อหน้าหลวงปู่หา และต่อมาได้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกนั้น กลายเป็นเชื้อชั้นดี ที่บ่งชี้ว่า "การแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์" นั้น เป็นพระบรมราชโองการเพียวๆ เพราะพระครูเล็กมิได้อ้างมหาเถรสมาคมหรือเจ้าคณะธรรมยุตเลย จะโดยความพยายามหาเหตุผลเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในตำแหน่งก็ตามแต่ แต่การประกาศว่า "เป็นพระบรมราชโองการ" นั้น ย่อมจะมีทั้งผลดีและผลเสีย

ผลดี อาจจะเกิดแก่พระครูเล็ก เพราะแกปฏิเสธไปในตัวว่า ผมไม่รู้ตัว ไม่ได้วิ่งเต้น เป็นพระบรมราชโองการ พระครูเล็กจึงมาทำหน้าที่ตามที่ได้รับพระบรมราชโองการ ส่วนตัวมิได้มีความอยากได้ใครมีอะไร แต่ผลเสียนั้น ย่อมจะกระทบวังอย่างเลี่ยงไม่ได้

ภาพของการใช้ "เจ้าหน้าที่ทหารคุ้มกันนับสิบคันรถ" รวมทั้ง "อ้างพระบรมราชโองการ" ของพระครูเล็กนั้น ถือได้ว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่โสภา ไม่ว่าจะกับตัวพระครูเล็กหรือใครที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งพระครูเล็กเลย

ดังนั้น ในสนามสอบธรรมสนามหลวงชั้นโทและเอก ทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน ศกนี้ ในฐานะที่ "สมเด็จพระมหาวีรวงศ์-สมเด็จชิน" ท่านดำรงตำแหน่งทั้งเลขาสมเด็จพระสังฆราช และแม่กองธรรมสนามหลวง จึงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการตั้งพระครูเล็กและสอบธรรมสนามหลวงโดยตรง

ข่าวที่ออกมา จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะกระทบกับ "สมเด็จชิน" อย่างจัง ลือหนักถึงกับกว่า "ปลดสมเด็จชิน เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว น่าจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น น่าจะพิจารณาเฉพาะ "บทบาท" ของพระครูเล็ก ที่ Over Acting และ Over Talking คือ พูดและทำเกินตัว ส่งผลกระทบถึงผู้ใหญ่ไปถึงเบื้องบน จนผู้ใหญ่ในระดับ "เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช" ต้องนำปัญหาไปพูดจา...กลางสนามสอบ

แต่ผลสอบสวนการกระทำของพระครูเล็กที่ Over ไป ในแดนกาฬสินธุ์นั้น จะเป็นฉันใด ทางสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กำลัง...รวมคะแนน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ว่าไง 'บิ๊กโจ๊ก' ให้ถามนายกฯ เซ็นคำสั่งปลดออกจากราชการจริง-ไม่จริง?

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 12.10 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน

'ผู้ว่าฯ นครปฐม' แจงเหตุปลด 'กำนันนก' พ้น กต.ตร.

‘ผู้ว่าฯนครปฐม’ แจงปลด ‘กำนันนก’ พ้น ‘กต.ตร.’ เหตุถูกดำเนินคดี ทำขาดคุณสมบัติ ยันกำลังเร่งติดตามตรวจสอบปม ‘ฮั้วประมูล’ นัดถกกำนัน-ผญบ.ทั้งจังหวัด 19 ก.ย.

เดือด​ 'พุทธะอิสระ'​ ฉะพระอุปัชฌาย์-เจ้าคณะฯกระเตง​ 'กาโตะ'​ ปล้นศรัทธาชาวบ้านเปย์สาว!

นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ "พุทธะอิสระ" อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ดังนี้ ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งทำให้สังคมเขาเหยียดหยาม ดูถูกว่าสงฆ์ปกครองว่าไม่เที่ยงธรรม