ครม.เคาะปรับอัตรา-เพิ่มเพดาน 'คืนเงิน' ดึงกองถ่ายหนังต่างประเทศเข้าไทยมากขึ้น

ครม.ไฟเขียวทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ปรับอัตราการคืนเงินเป็นร้อยละ20-30 พร้อมขยับเพดานการคืนเงินต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาท เพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันหลังหลายประเทศออกมาตรการดึงดูดกองถ่าย

7 ก.พ.2566 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการปรับเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขมาตรการส่งเสริม ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

ทั้งนี้ จะเป็นการปรับปรุงใน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่1 ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม ร้อยละ 15-20 เป็นร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ร้อยละ 20 เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งหลังจากนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยวในส่วนของเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยตรงเป็นลำดับแรก เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่า ค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง

ส่วนที่2 เป็นการปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งจะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำาภาพยนตร์ต่างประเทศ เนื่องมาจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit)เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-68 (มาตรการมีผลในปี 66 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 67-68) รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.54

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี กระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800 อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด19 ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463.74 ล้านบาท ส่วนปี 64 ที่ยังมีโควิด19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท

โดยนับแต่มีมาตรการส่งเสริม ได้มีภาพยนตร์ 43 เรื่องที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในไทย 8,560 ล้านบท มีภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 34 เรื่อง เงินลงทุน 6,283 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่นค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 รัฐบาลได้จ่ายเงินคืนภายใต้มาตรการดังกล่าวแล้วจำนวน 29 เรื่อง เป็นเงิน 772.13 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 560.03 ล้านบาท และจากการจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 212.10 ล้านบาท

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งผู้ถูกรางวัล สลากกินแบ่งรัฐบาล ยกเลิกจ่ายเงินสดตั้งแต่ 1 เม.ย.2566 เป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้แจ้งขอยกเลิกการให้บริการจ่ายเงินรางวัล เป็นเงินสด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 เป็นต้นไป

ไม่ถือเป็นวันลา ข้าราชการร่วมบรรพชาอุปสมบทถวายพระกุศล 'สมเด็จพระสังฆราช'

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 28 มี.ค. 66 ได้เห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท 97 รูป

ครม.ไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน! ศาลปกครอง สั่งระงับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

'บิ๊กตู่' มอร์นิ่งทักทายสื่อฯยามเช้า ด้าน 'วิษณุ' เผย นายกฯ-ครม.ลาได้ไม่จำกัดเวลา

ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมนายกฯ

2 ล้านรายที่ยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการฯไม่ผ่าน ให้กลับไป กรุงไทย ออมสิน ธ.ก.ส. ด่วน!

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และขณะนี้อยู่ระ