ปลื้มเส้นทางเชื่อมต่อ 4 ปท.อาเซียน โครงข่ายระเบียง ศก. หนุนการค้าชายแดน

นายกฯ ปลื้มผลงาน ถนนเส้นประวัติศาสตร์ ทางหลวงหมายเลข 12 เชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียน โครงข่ายคมนาคมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หนุนการค้าชายแดน

5 มิ.ย.2566-นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชื่นชมความสำเร็จผลงาน ถนนสายเศรษฐกิจเส้นประวัติศาสตร์ ทางหลวงหมายเลข 12 สายกาฬสินธุ์-บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ้านนาไคร้) – อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง รองรับการเดินทางในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร และส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Corridor)

รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเชื่อมโยง โดยทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่นี้ยังเชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านไปยังจังหวัดมุกดาหารเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในขณะที่อีกฝั่งสามารถวิ่งไปยังเมียนมาได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันอีกด้วย ถือเป็นทางเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งยังเป็นทางลัดเชื่อมจังหวัดกาฬสินธุ์-มุกดาหาร ให้ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก และลดระยะการในการเดินทาง 

นอกจากนี้ ทางหลวงหมายเลข 12 ยังเป็นเส้นทางสนับสนุน และรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor–EWEC) ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารมีการดำเนินการลงทุนแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 392 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯจาก BOI 5 โครงการ วงเงิน 2,102 ล้านบาท และมีธุรกิจตั้งใหม่ 868 ราย วงเงิน 1,655 ล้านบาท

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จจากยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน คู่ไปกับการพัฒนาตามแนวทางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ใช้จุดแข็งและความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของประเทศเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางคมนาคม เพิ่มโอกาส ช่องทางการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของไทย ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และทั่วโลก”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง