กสม. แนะรัฐทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีข้อมูลใช้น้ำชัดเจน

กรรมการสิทธิฯ แนะรัฐทบทวนโครงการผันน้ำยวมมูลค่ากว่า 1 แสนล้าน เผยผลการตรวจสอบพบไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงหลายประเด็น ชี้กระบวนการรับฟัง-EIA ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแถมยังขาดข้อมูลการใช้น้ำที่ชัดเจน

5 ต.ค.2566 - ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เมื่อเดือนกันยายน 2564 ระบุว่า กรมชลประทาน (ผู้ถูกร้อง) มีแผนดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เนื่องจากโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ชุมชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA โดยเฉพาะกระบวนการให้ข้อมูลและการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างแท้จริง รวมถึงขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน

นางปรีดากล่าวว่า กสม.ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การดำเนินการของกรมชลประทานเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯเห็นว่า หากมีการดำเนินโครงการย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการเป็นวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลปริมาณความต้องการใช้น้ำกับน้ำต้นทุนที่มีของลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งโครงการต้องใช้งบประมาณก่อสร้างรวมค่าดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษา ในระยะเวลา 25 ปี สูงถึง 170,000 ล้านบาท

นอกจากนี้หากมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับบริษัทเอกชนจากต่างชาติ อาจขัดต่อพันธกรณีของรัฐในการคุ้มครองสิทธิเรื่องน้ำ (Right to the water) ของประชาชนในประเทศ ซึ่งรัฐไม่ควรดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่จะเป็นการกีดกั้นหรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงน้ำ หรือเข้าไปแทรกแซงการจัดสรรน้ำที่เป็นวิถีหรือธรรมเนียมดั้งเดิมโดยพลการ จึงเห็นว่า โครงการดังกล่าวของกรมชลประทานยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำและความต้องการใช้น้ำที่ชัดเจนครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าโครงการจะเป็นไปเพื่อความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงหรือมีหลักประกันความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการได้

นางปรีดา กล่าวว่า 2. การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EIA จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงและข้อห่วงกังวลของผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ในหลายประเด็น เช่น ความกังวลของชาวบ้านต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะวิถีชีวิต วัฒนธรรม และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีความเชื่อเรื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติและเป็นการกระทบต่อพื้นที่เคารพบูชาของชาวชุมชน การเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับทราบข้อมูลหรือบอกแจ้งข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้ากระชั้นชิดเพียง 1 วัน

การจัดเวทีในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่เดินทางยากลำบาก การกำหนดเขตสำรวจศึกษาไม่ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนคนตลอดทั้งแนวโครงการ ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาพบปะแนะนำโครงการ แต่ถูกอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็น รูปแบบการสื่อสาร การใช้ภาษา การมีล่ามที่ยังไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการให้ลงชื่อในเอกสารที่ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับเรื่องใด ทำให้ไม่สามารถเข้าใจหรือแสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ และขาดความเชื่อมั่นต่อข้อมูลในรายงาน EIA เป็นต้น

นางปรีดากล่าวว่า กสม. เห็นว่า การดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EIA โครงการของกรมชลประทาน ไม่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งในส่วนสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมรักษา จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือชุมชนผู้มีส่วนได้เสีย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา ซึ่งได้กล่าวถึงหน้าที่ของรัฐในการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่เหมาะสมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและมีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจได้รับผลกระทบจากโครงการ จากการตรวจสอบพบว่า ประชาชนได้มีหนังสือขอสำเนารายงาน EIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา แต่กลับได้รับรายงาน EIA ที่มีการปกปิดข้อมูลบางส่วน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า การให้ข้อมูลของบุคคลที่ถูกอ้างอิงมีความถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงาน EIA สอดคล้องกับข้อมูลในพื้นที่หรือไม่ จึงเห็นว่าการดำเนินการของกรมชลประทาน ไม่สอดคล้องกับสิทธิของบุคคลและชุมชนในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐ และหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมให้บุคคลและชุมชนได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตในการดำเนินโครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน ถูกต้องรอบด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้

นางปรีดากล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้น กสม.จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกรมชลประทาน (ผู้ถูกร้อง) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สรุปได้ดังนี้

1. ให้ กรมชลประทาน และ สทนช. ทบทวนโครงการนี้ และเร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำ และแผนแม่บทในระดับลุ่มน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในการดำเนินการต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้วิธีการและกลไกตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและนำไปสู่แผนการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ซึ่งสอดรับกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม

2. กนช. ควรชะลอการพิจารณาโครงการฯและควรมอบหมายให้ สทนช. เร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำ และแผนแม่บทในระดับลุ่มน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. จี้หน่วยงานรัฐ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทำร้ายร่างกายหมอที่ภูเก็ต คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

กรรมการสิทธิฯ ชู 5 แนวทางหนุนนิรโทษกรรม

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือขอทราบความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... (ฉบับพรรคครูไทยเพื่อประชาชน) ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญกสม

รัฐบาลเชิญชวนเกษตรกร-ประชาชน สมัครร่วมโครงการจ้างงาน ช่วงว่างเว้นทำเกษตร

ช่วยเกษตรกรฤดูแล้ง! 'รัฐบาล' เชิญชวนเกษตรกร-ประชาชน สมัครร่วมโครงการจ้างงานกับกรมชลฯ สร้างรายได้ทดแทนช่วงว่างเว้นจากการทำการเกษตร

นักวิชาการชี้โครงการ 'ผันน้ำยวม' มูลค่าแสนล้านเสี่ยงผิดกม. สร้างหนี้รัฐมหาศาล ไม่คุ้มค่า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม โดยมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ชาวร้อยเอ็ด จัดเวทีใหญ่ 2.4 พันคนลงชื่อไม่เห็นด้วยสร้างเขื่อนกั้นน้ำชี

ชาวบ้านลุ่มน้ำชีและเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีกว่า 350 คน ได้ร่วมเวทีนำเสนอข้อมูล เพื่อให้กรมชลประทานยกเลิกโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำ-ประตูระบายน้ำ(เขื่อน)กั้นแม่น้ำชี ที่มีแผนดำเนินการศึกษาและก่อสร้างบริเวณหมู่บ้านไชยวาน ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ