สุดเศร้า! ร่าง 7 แรงงานเสียชีวิตในอิสราเอล ถึงไทยแล้ว ลำเลียงกลับภูมิลำเนา

26 ต.ค.2566 - เมื่อเวลา 10.30 น. ที่เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ร่าง 7 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสงครามในอิสราเอล ได้มาถึงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว โดยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY083 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 10.35 น. ซึ่งประกอบด้วย 1.นายธีรพงษ์ กลางสุวรรณ ชาวจังหวัดอุดรธานี  2.นายศักดา สุระคาย ชาวจังหวัดหนองคาย 3.นายนิติกร แซ่ว่าง ชาวจังหวัดเชียงราย 4.นายอภิชาติ กุสะรัมย์ ชาวจังหวัดขอนแก่น 5.นายศักดิ์สิทธิ์ โคตมี ชาวจังหวัดอุดรธานี 6.นายศรีทัศน์ กาเหว่า ชาวจังหวัดกำแพงเพชร 7.นายพิรุฬห์ พานนพิมพ์ ชาวจังหวัดอุดรธานี

โดยมีญาติพี่น้อง และ ครอบครัว บางส่วนของผู้เสียชีวิต มารอรับร่างของแรงงานทั้ง 7 ราย ตั้งแต่เช้า พร้อมกับนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายร่างแรงงานทั้งหมดกลับภูมิลำเนา

โดยทางกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล สถานะคืนวันที่ 24 ตุลาคม 2566 โดยมีผู้เสียชีวิต 31 ราย เพิ่มขึ้น 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 18 ราย (คงเดิม) และผู้ที่คาดว่าถูกควบคุมตัว จำนวน 19 ราย  

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 7 ราย มี 1 ราย คือ นายอภิชาติ กุสะรัมย์ อายุ 29 ปี ชาวขอนแก่น ที่ไปทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์พร้อมกับน้องชาย คือ นายพงษ์เทพ กุสะรัมย์ อายุ 26 ปี และ ถูกกลุ่มฮามาสบุกยิงเสียชีวิต ทั้ง 2 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการส่งศพคนน้องกลับมาแล้ว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 และ ทางครอบครัวได้ทำพิธีฌาปนกิจที่วัดหัวหินประเสริฐธรรม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ไปเมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา

จากการสอบถาม นายวิเชียร บุญช่วย หัวหน้าทีมที่ลำเลียงศพ เผยว่า รอบนี้ตนเองไปส่งร่างที่ โรงพยาบาลเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เนื่องจากทางญาติแจ้งความจำนงว่าจะไปเปิดหีบที่โรงพยาบาล ก็เลยต้องไปส่งที่นั้น และ ขอแสดงความเสียใจกับทางญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยทาง สุริยา และทีมงานจะทำอย่างดีที่สุด

ขณะที่นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างของแรงงานไทยที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอลวันนี้กลับมาทั้งหมด 7 ราย โดยมี 5 รายที่มีประกันสังคมในประเทศไทย ทั้งนี้ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์การเยียวยาเท่ากันทั้งหมด ต่างกันแค่สิทธิประกันสังคมที่เพิ่มเข้ามา ขณะที่รัฐบาลยังคงเร่งนำแรงงานไทยกลับประเทศให้เร็วที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยุติลงเมื่อใด โดยทุกคนที่เดินกลับมา ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้ทั้งหมด

ส่วนขั้นตอนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากอิสราเอล ที่เหลือยังต้องใช้เวลาพอสมควร และวันนี้ตนเองจะได้พบกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล ซึ่งจะมีการสอบถามความชัดเจนในอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ทางการอิสราเอลจะให้กับแรงงานไทยด้วย

ส่วนในช่วง 2 วันที่ผ่านมากลุ่มฮามาสโจมตีหนักขึ้นมีผลต่อการเคลื่อนร่างมาสนามบินหรือไม่นั้น นายอารี ยอมรับว่า ในพื้นที่มีปัญหาหลายอย่าง จึงมีแนวคิดว่า หากต่อไปจะมีแรงงานไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะในอิสราเอลจะต้องมีการหาที่หลบภัยให้ หรืออาจมีการซ้อมหลบภัยเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งหากมีการป้องกันไว้ก่อนก็จะปลอดภัยและสูญเสียน้อยกว่าเดิมได้

ส่วนกรณีที่นายจ้างจากอิสราเอล เสนอค่าจ้างให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการจูงใจให้อยู่ต่อ นายอารี บอกว่าก็เป็นสิทธิของนายจ้าง ขึ้นอยู่กับคนงานของเรา และจากการที่ตนเองไปรอรับแรงงานพบว่าร้อยละ 70 บอกว่ายังมีภาระหนี้สิน แต่เนื่องจากช่วงแรกยังมีความกลัวต่อเหตุการณ์จึงต้องเดินทางกลับมาตั้งหลักก่อน แต่อาจจะเดินทางกลับไปทำงานอีก โดยหากต้องการเดินทางกลับไปอีกครั้งกระทรวงแรงงานก็จะหาอาชีพให้ตามที่ความถนัด

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดว่า จะให้ธนาคาร ธกส. และธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและระยะยาวให้กับแรงงานเพื่อช่วยเรื่องหนี้สินที่กู้ยืมไปทำงานในอิสราเอล เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับประเทศนั้น มองว่า เป็นเหตุผลหนึ่งของนายกรัฐมนตรีที่จะจูงใจแรงงานกลับมาได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแรงงานว่าจะรับเงื่อนไขนี้หรือไม่ ซึ่งก็มองว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีในการหาทางออกให้แรงงาน

ขณะที่กรณีมีบางเงื่อนไขของกระทรวงแรงงานที่หากเซ็นชื่อรับเงินเยียวยาไปแล้ว อาจจะถูกตัดสิทธิไม่ได้ไปทำงานที่อิสราเอลต่อนั้น นายอารี ยืนยันว่า ไม่มีเงื่อนไขนี้ อาจจะเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อน โดยการจะให้แรงงานกลับไปทำงานที่อิสราเอลจะมีการหารือแนวทางที่ชัดเจนในการช่วยเหลืออีกครั้ง

นายอารี ยังกล่าวถึง การติดตามค่าแรงจากนายจ้างที่อิสราเอล สำหรับแรงงานที่กลับมาประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างด้วยว่า ขณะนี้ได้ส่งทูตแรงงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานอีก 10 คนที่ส่งไปช่วยประสานงานในเรื่องนี้ และจะประสานกับลูกจ้างด้วยว่ายังเหลือ หรือตกหล่นอะไร ขั้นตอนไหนบ้าง

ส่วนแรงงานที่จะเดินทางกลับไปทำงานตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่มีเกินครึ่งที่ให้ข้อมูลว่าอยากจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก ส่วนโอกาสที่นายจ้างในอิสราเอลจะไม่รับกลับไปทำงานนั้น นายอารียืนยันว่าไม่มี ซึ่งตามเงื่อนไขต้องรับอยู่แล้วเพราะบริษัทอยากให้กลับไป และอาจจะมีการเพิ่มค่าแรงเป็นแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานไทยกลับไปทำงาน ต่อให้เดินทางกลับมาก่อนครบสัญญาก็ตาม เนื่องจากแรงงานไทยมีความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรซึ่งอิสราเอลมีต้องการด้านนี้

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวในกลุ่มแรงงานจากอิสราเอลว่าจะรับกลับถึงแค่สิ้นเดือนเท่านั้น นายอารี บอกว่า หากแรงงานไทยมีความประสงค์จะเดินทางกลับ ทางรัฐบาลก็จะประสานหาเครื่องบินให้ไม่มีการทอดทิ้งแน่นอน และไม่ใช่แค่สิ้นเดือนนี้ ซึ่งกระแสข่าวอาจเป็นเพียงการกระตุ้นเพื่อให้แรงงานได้รีบกลับมาอย่างปลอดภัย และยืนยันว่าแรงงานที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดจะได้รับการดูแลในการกลับประเทศอย่างแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

ทอ. เตรียมส่ง UAV สนับสนุนรักษาความปลอดภัยแนวชายแดน อ.แม่สอด

เพจ กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force ได้เผยแพร่ภาพ และข้อมูลว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนด้านตรงข้าม อ. แม่สอด จว.ตาก กองทัพอากาศ โดยศูนย์ยุทธการทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ

'เศรษฐา' เตรียมบินไปแม่สอด 23 เม.ย. หลังปะทะเดือดใกล้ชายแดนเมียนมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวิตข้อความผ่าน x ว่า “จากสถานการณ์การปะทะกันบริเวณสะพานมิตรภาพ 2 ฝั่งเมียนมา