ซูเปอร์โพลเผยผู้ปกครองห่วงบุหรี่ไฟฟ้าระบาดกลุ่มเด็กและเยาวชน

23 มี.ค. 2568 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความกังวลของผู้ปกครองต่อบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 1,190 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงความกังวลของผู้ปกครองต่อการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.8 กังวล ในขณะที่ร้อยละ 7.2 ไม่กังวล นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญของความคิดเห็นผู้ปกครองต่อการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.1 ระบุ เด็กเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าผ่านโซเชียลมีเดียและร้านค้าออนไลน์ มากที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 84.2 ระบุ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่ยาเสพติดชนิดอื่น ๆ เช่น กัญชา ยาบ้า ไอซ์ หรือยาเสียสาว ร้อยละ 77.5 ระบุ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเสพแล้วติดเร็วกว่าเดิม ร้อยละ 66.8 กังวลการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในและใกล้สถานศึกษา และ ร้อยละ 60.9 เคยพบเห็นเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโซเชียลมีเดียและเห็นจริงด้วยตัวเอง

ที่น่าพิจารณา คือ ความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อการบังคับใช้กฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 ระบุ ต้องแก้ไขกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้บังคับใช้ได้อย่างจริงจังมากขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 81.5 ระบุ สนับสนุนให้มีหน่วยงานเฉพาะกิจ จู่โจม จับกุมและปราบปรามขบวนการต้นตอการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่เปราะบาง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น และ ร้อยละ 75.6 ระบุ ต้องการให้เพิ่มโทษ ผู้ขายออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม ผู้โฆษณา ผู้ครอบครอง

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงประเมินการรับรู้ ความกังวล และข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคประชาชนต่อบทบาทของรัฐในการป้องกันและควบคุมปัญหาดังกล่าว โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กับการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ และสังคมมีความต้องการนโยบายสาธารณะที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจข้างต้น สำนักวิจัยซูเปอร์โพลขอเสนอแนวทางในการจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ดังนี้

1. การปฏิรูปกฎหมาย: พิจารณาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า จำหน่าย และครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

2. มาตรการด้านการศึกษา: บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับโทษและผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในหลักสูตรการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

3. การบูรณาการภาครัฐและท้องถิ่น: ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง

4. การรณรงค์สื่อสารสาธารณะ: จัดทำแคมเปญสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้ข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดในกลุ่มเยาวชน

5. การมีส่วนร่วมของครอบครัว: เสริมสร้างบทบาทของผู้ปกครองในการเฝ้าระวังและให้คำปรึกษาแก่บุตรหลานเกี่ยวกับภัยของบุหรี่ไฟฟ้า

กล่าวโดยสรุป การศึกษาครั้งนี้ของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลชี้ให้เห็นว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยมิได้เป็นเพียงปัญหาสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนถึง ความล้มเหลวของระบบควบคุมสื่อ โซเชียล การตลาด และการบังคับใช้กฎหมาย ที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งของมาตรการควบคุมการจำหน่าย โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์ และจัดตั้งระบบรายงานการละเมิดที่มีประสิทธิภาพ สร้างสื่อรณรงค์เชิงสร้างสรรค์ ที่เข้าใจง่ายสำหรับเด็กและเยาวชน ให้เห็นถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ครอบครัว และโรงเรียน ในการเฝ้าระวังและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อปกป้องอนาคตของประเทศจากภัยสุขภาพรูปแบบใหม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซูเปอร์โพลชี้ผลสำรวจคนไทยมีความทุกข์มากขึ้น แต่ยังมั่นใจฝีมือ 'อิ๊งค์'

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในสายตาของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,215 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 19 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

ซูเปอร์โพลชี้ 'ตึกถล่ม' กระทบศรัทธาประชาชน จี้รัฐฟื้นเชื่อมั่นด่วน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ถอดบทเรียนตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวในใจประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ

โพลชี้ ปชช. ส่วนใหญ่ขอให้หน่วยงานรัฐติดตามแผ่นดินไหว  พร้อมแจ้งสถานกาณ์ทันที

ความต้องการของปชช.ส่วนใหญ่ ขอให้หน่วยงานรัฐ ปรับปรุง พร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน พบส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 87.1 ต้องการให้ เฝ้าระวัง ติดตามพื้นที่เสี่ยง สื่อสาร ไลฟ์สดจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีไลฟ์สดทันที ตอบสนองรับมือเหตุฉุกเฉิน แก้วิกฤต และฟื้นฟูเยียวยา

ซูเปอร์โพลเปิดผลสำรวจพบชีวิตคนไทยเวลานี้แย่ลง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ชีวิตคนไทย ดีขึ้น เหมือนเดิม หรือ แย่ลง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ