กทม.เตรียมเจ้าหน้าที่ 1.7 แสนคนดูแลเลือกตั้งอาทิตย์นี้

กทม.จัดเตรียม จนท. 1.7 แสนคน วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่ และระบบประมวลผลคะแนน รับมือวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. คาดแต่ละเขตเริ่มทยอยส่งผลคะแนน​ 19.00 น.เป็นต้นไป

19 พ.ค.2565 - นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการซ้อมการประมวลผลคะแนนและทดสอบระบบรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยนางสุธาทิพย์ กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้งฯ ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้เรียบร้อยแล้วในทุกด้าน ทั้งด้านบุคลากรรวมทั้งสิ้น 167,298 คน ประกอบด้วย กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 61,353 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 13,634 คน อาสาสมัครสาธารณสุข 13,634 คน เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย 405 คน และข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร 78,272 คน

ด้านวัสดุอุปกรณ์ หีบบัตรเลือกตั้ง คูหาลงคะแนน ป้ายกระดานสำหรับปิดประกาศหน้าที่เลือกตั้ง บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยในวันที่ 21 พ.ค. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จะตรวจรับวัสดุ อุปกรณ์ทั้งหมด ณ สำนักงานเขตเพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้งในวันถัดไป ในส่วนสถานที่ ทั้ง 50 สำนักงานเขต ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดตั้งเป็นหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 6,817 หน่วย แบ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่ตั้งอยู่ในอาคาร 2,956 หน่วย และเป็นเต็นท์ 3,861 หน่วย จัดเตรียมศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งระดับเขต สถานที่ประมวลผลคะแนนเลือกตั้ง สถานที่เก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้ง และวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งฯ ทั้งก่อนวันเลือกตั้ง และหลังวันเลือกตั้ง เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

สำหรับแนวทางการนับคะแนน และการรายงานผลคะแนนในการเลือกตั้งฯ หลังจากปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่จะนับคะแนนพร้อมกันทั้งในส่วนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่หน่วยเลือกตั้ง แยกกระดานคะแนนผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก. โดยได้กำชับให้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่สำหรับการนับคะแนนที่มีโทนเสียงต่างกัน หรืออาจใช้ผู้นับคะแนนเป็นเพศหญิงและชาย เพื่อป้องกันความสับสน

ทั้งนี้เมื่อแต่ละหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนแล้วเสร็จให้นำหีบบัตรเลือกตั้งและวัสดุอุปกรณ์ พร้อมทั้งแบบรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งมาส่งที่สำนักงานเขต โดยเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลแต่ละเขตจะบันทึกข้อมูลผลคะแนนของแต่ละหน่วยเลือกตั้งผ่านทางระบบประมวลผลคะแนน ซึ่งจะถูกส่งไปยังศูนย์ประมวลผลใหญ่ เพื่อรวบรวมและประมวลผลในภาพรวมของ 50 สำนักงานเขตที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งหลังจากปิดหีบเลือกตั้งแล้ว คาดว่าแต่ละหน่วยเลือกตั้งน่าจะใช้เวลาในการนับคะแนนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และจะทยอยส่งคะแนนเข้ามาได้ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป​ ทั้งนี้จะใช้ระยะเวลาในการนับคะแนนนานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนหน่วยและจำนวนประชากรในแต่ละเขตว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน

โดย กทม.ได้จัดเตรียมระบบประมวลผลคะแนนเลือกตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งติดตั้งจอรายงานผลคะแนนให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้ติดตามจำนวนทั้งหมด 6 จอ ได้แก่ ห้องบางกอก/ บริเวณลานช้าง และโถงชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา จุดละ 2 จอ นอกจากนี้จะมีการแถลงข่าวรายงานผลคะแนนเป็นระยะจนกระทั่งรวบรวมคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จทุกหน่วยเลือกตั้ง จากนั้นจะสรุปผลคะแนนเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาประกาศผลอย่างเป็นทางการต่อไป

ด้านนายสมชัย สุรกาญน์กุล ประธาน กกต.กทม.กล่าวว่า ผู้พิการ ทุพลภาพ และผู้สูงอายุ ตามกฎหมายให้สามารถแสดงตน ณ หน่วยเลือกตั้งได้ โดยจะให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งพาลงคะแนน ส่วนผู้พิการกรณีที่มือใช้การไม่ได้ เจ้าหน้าที่สามารถช่วยลงคะแนนตามเจตนารมณ์ของผู้พิการได้ และต้องบันทึกเหตุการณ์ไว้ด้วย กรณีคนตาบอดจะมีบัตรลงคะแนนภาพสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยจะเจาะรูเท่าจำนวนผู้สมัคร และพิมพ์อักษรเบลล์ ซึ่งเมื่อลงคะแนนเสร็จจะให้เจ้าหน้าที่พาไปหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง และกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ได้จัดเตรียมสถานที่ลงคะแนนแยกไว้ชัดเจนทุกหน่วยเลือกตั้ง โดยจะมีกรรมการประจำหน่วยคอยดำเนินการตามกระบวนการ เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้ว อนุญาตให้กรรมการประจำหน่วยยกหีบบัตรเลือกตั้งไปให้หย่อนได้

“มั่นใจในเรื่องของระบบการประมวลผล เนื่องจาก กทม.ได้ทำเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว ยังไม่ปรากฎเรื่องความผิดพลาด และสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการประมวลผลไม่ได้เป็นความลับ สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา พร้อมยืนยันว่าจะเป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการป้องกันระบบล่ม ก็ไม่มีความกังวล เพราะได้มีการติดตั้งระบบที่ศูนย์ของ กทม. ได้มีการสำรองข้อมูลและระบบไฟไว้เรียบร้อยแล้ว”นายสมชัยกล่าวและว่า ส่วนสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีการเตรียมรับมือไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น หากเกิดน้ำท่วมก็จะมีการย้ายหน่วยเลือกตั้ง​ ซึ่งมั่นใจว่าเราเตรียมการป้องกันสำหรับสถานการณ์ต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป