ม็อบเช็กเลย! 'ชัชชาติ' เซ็นคำสั่งไฟเขียว 7 พื้นที่ชุมนุมได้

24 มิ.ย. 2565 - นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยมีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้

1.สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ

1.1 ลานคนเมือง เขตพระนคร

1.2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

1.3 ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร

1.4 ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง

1.5 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี

1.6 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ

1.7 สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

ทั้งนี้ ลักษณะ ขนาดพื้นที่ และความสามารถในการรองรับผู้เข้าร่วมชุมนุมตามข้อ 1.1-1.7 มีรายละเอียดตามแผนผังและตารางแนบท้ายประกาศนี้

2.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ

2.1 ผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้

พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม

2.2 การแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ตามข้อ 2.1 กระทำได้ตังต่อไปนี้

2.2.1 แจ้งโดยตรงต่อสำนักงานเขต

2.2.2 แจ้งทางโทรสาร และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร

2.2.3 แจ้งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม สามารถแสดงหรืออ้างอิงหรือเข้าถึงเพื่อนำกลับมาใช้ในภายหลังและยังคงความครบถ้วนของข้อความในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถระบุตัวผู้ส่งได้ และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร

ทั้งนี้ ในการแจ้งตามข้อ 2.2.2 และ 2.2.3 หากเกิดกรณีที่มีข้อสงสัย สำนักงานเขตพื้นที่อาจแจ้งให้ผู้แจ้งส่งต้นฉบับเอกสารขอใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร

2.3 ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งใช้สถานที่เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะได้ภายในกำหนดเวลาตามข้อ 2.1 ให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนเริ่มการชุมนุม เพื่อให้การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้เข้าชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ครบถ้วน ผู้จัดการชุมนุมจึงควรแจ้งสำนักงานเขตล่วงหน้าก่อนวันชุมนุมตามความเหมาะสม

2.4 ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากทรัพย์สินของทางราชการ มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทุกประการ

2.5 การชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตาม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

2.6 หากสำนักงานเขตพื้นที่หรือเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตรวจพบว่า ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามข้อ 2.5 ก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ดร.เสรี ชี้เปรี้ยง ‘รัฐบาลไม่ทำชั่ว’ ป้องกันการรัฐประหารได้

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะเขียนกฎหมายกี่ร้อยมาตราเพื่อป้องกันการทำรัฐประหารก็ป้องกันไม่ได้

ม็อบการเมืองจุดติด-ไม่ติด อยู่ที่พฤติกรรม การกระทำ ผู้นำประเทศ-พรรคร่วมรัฐบาล

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อศุกร์ที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีการตั้ง คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา