สรุปคำปราศรัย 'รุ้ง-ไมค์-อานนท์' ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน 'คดีล้มล้างการปกครอง'

iLaw เผยแพร่ สรุปคำปราศรัย รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินล้มล้างการปกครองฯหรือไม่ ไมค์-ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่เหมาะสม อานนท์-กษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและใต้รัฐธรรมนูญ รุ้ง-ไม่มีใครเกิดมาสูงกว่าใคร

10 พ.ย.2564 - iLaw ได้ เผยแพร่ สรุปคำปราศรัย รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ โดยระบุว่า 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ ณฐพร โตประยูร ร้องขอให้วินิจฉัยว่าการชุมนุมและปราศรัยของผู้ชุมนุม 8 คน ได้แก่ อานนท์ นําภา ภาณุพงศ์ จาดนอก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พริษฐ์ ชิวารักษ์ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ สิริพัชระ จึงธีรพานิช สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้องเฉพาะการกระทําในการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ของทนายอานนท์, ไมค์ ภาณุพงศ์ และรุ้ง ปนัสยา ไว้พิจารณาวินิจฉัย

+++ผมต้องการให้พระมหากษัตริย์ อยู่ในที่เหมาะสม อยู่ร่วมกับคนไทยได้+++

สรุปคำปราศรัย ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก การชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" 10 สิงหาคม 2563
"หากเรากําลังจะสร้างถนนลาดยาง 1 เส้นเพื่อความเจริญงอกงามให้กับประเทศ แต่ดันบังเอิญมีต้นไม้ใหญ่ขวางอยู่ รู้ไหมต้นไม้ใหญ่ คือ ใคร หลายคนอาจคิดว่ามันไม่ยากเลยกับการสร้างถนนลาดยาง คือการสร้างให้มันเป็นวงเวียนใช่ไหมครับ แต่สําหรับผม ผมคิดว่าเราควรย้ายต้นไม้ให้ไปอยู่ในที่ที่สมควรอยู่ และสร้างถนนลาดยางที่แข็งแรงและสมบูรณ์
.
ผมกําาลังจะเปรียบเทียบว่าการที่เราพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่เราสามารถพูดได้ เพราะเมื่อผมย้ายต้นไม้ หรือสร้างถนนให้เกิดความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้นไม้จะอยู่ในที่ที่เหมาะสม และถนนก็ยังคงแข็งแรง เปรียบเสมือนกับว่าวันนี้เรากําลังจะสร้างประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าโดยให้กษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม"
.
ภาณุพงศ์กล่าวว่า ตัวเขาเองไม่แน่ใจว่าการขึ้นปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม จะเป็นเหตุให้เขาถูกถอนประกันในภายหลังหรือไม่ แต่เขาก็ไม่สนใจ เพราะคิดว่าการกระทําของเจ้าหน้าที่ คือพฤติกรรมของคนที่สนับสนุนเผด็จการทหาร
.
ภาณุพงศ์ระบุว่าก่อนที่เขาจะขึ้นปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม เคยมีคนถามว่าสิ่งที่เขากำลังทำเหมือนเป็นการขุดดินด้วยมือเปล่า หรือเป็นความพยายามถอนรากต้นไม้ใหญ่ด้วยมือของคนเพียงคนเดียวหรือไม่ ซึ่งจำนวนคนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 คือ สิ่งที่พิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ทำเพียงลำพัง
.
สำหรับสิ่งที่เขาต้องการในการปราศรัยวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เขาเพียงหวังให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมร่วมกับประชาชน แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง คือ ยังมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนืออำนาจอธิปไตย อยู่เหนือประชาชน เพราะประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์จะถูกจัดการด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาจึงหวังว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปรับตัวเข้ากับประชาชนและกลับมาอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ประชาชน
.
ภาณุพงศ์ปราศรัยต่อว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้หยุดคุกคามประชาชน รัฐบาลก็ยังไม่ทำเพราะยังมีเจ้าหน้าที่ติดตามไปถ่ายรูป ไปหาข้อมูลส่วนบุคคล อยากฝากไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ ว่าขอให้ลาออกเพื่อประชาชน ไม่อย่างนั้นก็ให้ยุบสภาแล้วให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ ดูว่าประชาชนจะรักพล.อ.ประยุทธ์จริงหรือไม่ มาแข่งกับเขาที่เป็นคนธรรมดาก็ได้ ดูว่าประชาชนจะเลือกใครมากกว่ากัน

+++ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัด กษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและใต้รัฐธรรมนูญ+++

สรุปคำปราศรัย ทนายอานนท์ นำภา การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 สิงหาคม 2563
"สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทําให้ผมลุกขึ้นมาพูดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในชุดครุยของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คือภาพของพี่น้อง นิสิตนักศึกษา นักเรียนมัธยมพากันชูป้ายตั้งคําถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อยู่ด้านล่าง แต่คนอยู่บนเวทีไม่กล้าที่จะพูด หลังจากนั้นน้องๆ นักเรียนมัธยม นิสิตนักศึกษา โดนคุกคามทุกคน นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้าย
สังคมต้องยอมรับความจริง ป้ายที่นิสิตนักศึกษา นักเรียนมัธยม พี่ป้าน้าอาชู ว่าคนที่อยู่ในสถาบันนั้นหมายถึงใครไม่ได้ นอกจากจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องใช้สัญญะ การพูดอย่างตรงไปตรงมาเป็นประโยชน์มากกว่า"
.
ทนายอานนท์ระบุว่า หลังได้รับฟังผู้ปราศรัยคนก่อน เขาเชื่อว่าปรีดี พนมยงค์ น่าจะตายตาหลับ และผู้ลี้ภัยอย่างปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลน่าจะรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
.
การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่10 สิงหาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากกว่าหนึ่งหมื่นคน นี่ไม่ใช่ม็อบมุ้งมิ้ง แต่เป็นม็อบที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น สำหรับตัวเขาเองก่อนหน้าที่จะมาชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เคยปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และถูกรายงานสดผ่านสื่อช่องต่างๆ โดยที่บางช่องถูกสั่งให้ตัดการถ่ายทอดสด แต่การปราศรัยในวันนี้คงจะตัดไม่ทันแล้ว จึงขอฝากไปถึงสื่อมวลชน ขอให้นึกถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนรุ่นก่อนๆอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ อิศรา อมันตกุล และสื่อฝ่ายประชาธิปไตยคนอื่นๆ และขอให้ทำหน้าที่แบบเดียวกับพวกเขาเหล่านั้น
.
สำหรับการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการชุมนุมเพื่อยืนยัน สามข้อเรียกร้อง จริงๆ แล้วในสามข้อเรียกร้องมันมีข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดอยู่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด คือปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ การชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่การชุมนุมเพื่อล้มล้างสถาบัน หากแต่เป็นการชุมนุมที่นำปัญหาและความจริงในบ้านเมืองมาพูด
.
ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองจากนี้ไปจะต้องถูกตั้งคำถามโดยสาธารณะ สิ่งที่คนที่มาชุมนุมในที่นี้ต้องการเห็นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรับตัวเข้าหาประชาชน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการที่คณะรัฐประหาร 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไป
.
ประเด็นปัญหาข้างต้น ตัวเขาเองเคยแสดงความคิดเห็นไว้หลายที่แล้ว ทั้งในเวทีวิชาการหรือเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจนำประเด็นนี้มาพูดในพื้นที่การชุมนุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย คือการที่เขาได้เห็นนักเรียน นิสิตนักศึกษาถือป้ายเขียนข้อความตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมทว่าผู้ปราศัยบนเวทีกลับไม่กล้าพูดถึงประเด็นดังกล่าว แล้วหลังจากนั้นคนถือป้ายก็ถูกติดตามคุกคาม
.
ตัวของอานนท์เห็นว่า ป้ายข้อความเหล่านั้นตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากจะหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตัวเขาเชื่อว่าการพูดอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ต่อผู้ฟัง และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะหากปัญหาไม่ถูกนำมาพูดอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาก็จะคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนคนที่ถือป้ายก็ต้องแบกรับความเสี่ยงต่อไป
.
ข้อเสนอของตัวเขา และข้อเสนอของผู้ชุมนุม ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นข้อเสนอที่สามารถทำได้โดยกระบวนการปกติของรัฐสภา ขั้นแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาส.ว. รวมถึงเอาอำนาจในการเลือกนายกของส.ว. ออกไป
.
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็สามารถใช้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการปกติ ให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขกฎหมายทั้งที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ และการโอนอัตรากำลังพลไปให้สถาบันพระมหากษัตรย์ให้มีความเหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตย
.
หากส.ส.เห็นหัวประชาชนและยึดมั่นในหลักการ ก็สามารถแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นได้ตามกลไกปกติ ส่วนส.ส.ที่ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่ยึดมั่นในหลักการ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็อย่าไปเลือกเข้าสภา
.
ในอนาคตหากเผด็จการไม่รับข้อเสนอของประชาชน แต่ไปใช้วิธีการอื่น เช่น ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ก็ขอประชาชนอย่าให้การยอมรับ และหากมีการรัฐประหารก็ขอให้ประชาชนออกมาร่วมกันต่อสู้ และขอให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เคียงข้างกับประชาชนและประชาธิปไตย โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองคณะรัฐประหาร
.
+++ไม่มีใครเกิดมาสูงกว่าใคร ทุกคนยืนอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน+++

สรุปคำปราศรัย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 สิงหาคม 2563
"ธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ใครสูงส่งกว่าใคร มีแต่เราเองที่สร้างเรื่องสมมติเหล่านี้ขึ้นมาหรือบางทีคนสร้างไม่ใช่เรา แต่เป็นใครคะ เป็นพวกเขาเองที่สร้างมันขึ้นมา เพื่อกดขี่ข่มเหงและเสวยสุขบนความทุกข์ยากของประชาชน เราทุกคน มนุษย์ทุกคนมีเลือดสีแดงไม่ต่างกันไม่มีใครในโลกนี้เกิดมาพร้อมเลือดสีน้ําเงิน"
.
ปนัสยาระบุว่า เธอจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน (10 สิงหาคม 2563) พร้อมทั้งชี้ว่า เหตุการณ์ที่ทนายอานนท์ นำภาและไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกจับ(เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563) เป็นเพราะทนายอานนท์พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย
.
ปนัสยากล่าวถึงธรรมชาติของการเกิดว่า อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีทารกสองคนเกิดมาในเวลาเดียวกัน และก็ยังคงเป็นไปได้ที่ทารกคนแรกจะเกิดมาพร้อมกับความโชคดีที่ได้เกิดมาอย่างเพียบพร้อม แต่การที่ทารกคนแรกจะเกิดมาเป็นผู้สูงศักดิ์ สูงส่งกว่าอีกคนนั้นไม่ควรเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กคนที่สองเมื่อเติบโตมาจะต้องก้มลงกราบเท้าเด็กคนแรก
.
ปนัสยากล่าวต่อไปว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ใครสูงหรือต่ำกว่าใคร การที่ใครจะสูงต่ำกว่าใครเป็นเรื่องที่คนสร้างกันขึ้นมาเอง หรือแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กดขี่ข่มเหงและเสวยสุขอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน
.
ปนัสยากล่าวว่า ประเด็นที่สองที่เธออยากจะพูดถึงคือการการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างทางการเมือง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เห็นต่างทางการเมืองคนแรกที่ถูกทำอันตราย ก่อนหน้านั้นผู้ที่ถูกรัฐไทยกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จะถูกถีบลงจากเฮลิคอปเตอร์ ถูกฆ่าและเผาในถังน้ำมัน ในปี 2561-2562 มีการพบศพสองศพลอยมาตามแม่น้ำโขง โดยลักษณะของศพมีการใส่กุญแจมือ คว้านท้อง ยัดด้วยเสาปูนแล้วถ่วงน้ำ เมื่อตรวจดีเอ็นเอจึงทราบว่าเป็นศพ ไกรเดช ลือเลิศ หรือกาสะลอง และ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือภูชนะ ผู้ลี้ภัยการเมืองที่ลี้ภัยไปอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพร้อมกับสุรชัย แซ่ด่านซึ่งหลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเสียชีวิตแล้วเช่นกัน
.
กรณีของวันเฉลิมนั้นพิเศษกว่ากรณีอื่นๆ ตรงที่มีข่าวลือว่า มีบุคคลที่อาจใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจเป็นการพาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์ แม้ไม่อาจยืนยันได้ว่าข่าวลือกรณีวันเฉลิมเป็นความจริงหรือไม่ แต่ความคลุมเครือเรื่องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องย่อมส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสี่ยมเสียพระเกียรติเพราะถูกติฉินนินทาโดยประชาชน
.
เพื่อรักษาพระเกียรติ สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ทำความจริงให้ชัดเจนปราศจากความคลุมเครือ ปนัสยาระบุด้วยว่า มีเพียงหลักฐานเท่านั้นที่จะสามารถยุติการตั้งข้อสังเกตในลักษณะเชื่อมโยงกรณีของวันเฉลิมกับสถาบันฯ รัฐบาลต้องเข้าใจว่าความรักความศรัทธาไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการบังคับ แต่เกิดจากการพยายามรักษาศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สามารถตั้งอยู่คู่แผ่นดินไทยได้สืบไป
.
ปนัสยาทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยจะต้องทำได้โดยปกติ ประเทศไทยควรเป็นที่ๆ ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องกลัวจะมีคนมาฆ่าหรือทำร้ายเพียงเพราะการพูดอะไรบางอย่าง สิ่งที่ทนายอานนท์ และไมค์ภาณุพงศ์ทำคือความพยายามเปิดทางให้ทุกคนสามารถพูดและสื่อความในใจออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะตามหลักการประชาธิปไตยทุกคนควรสามารถ พูดและแสดงความเห็นทางการเมืองตามที่ตัวเองเชื่อได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดิศร' ซัดแรงมีรัฐสภาไปทำพระแสงอะไร จะแก้รัฐธรรมนูญ ยังให้ศาลวินิจฉัยอำนาจประชาชน

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แยกกันและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่คล่อมเลน มีบางครั้งจะยื่นญัตติได้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นฝ่ายตุลาการ แต่เราฝ่ายนิติบัญญัติ เราคิดของเราเองได้

'เอกนัฏ' พร้อมหนุนญัตติเพื่อไทย ถามศาลรธน. บรรจุวาระแก้รธน. แต่ต้องไม่แตะหมวด 1,2

"เอกนัฏ" หนุนถามศาล รธน. แต่ขอเพื่อไทยวางหลักประกัน ไม่แตะหมวด 1-2 แก้รายมาตรา ป้องรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่ผลพลอย รปห. ชี้ หากแก้เกือบทั้งฉบับ จะเสียของดี

'รัฐสภา' ถกบรรจุวาระจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 'ก้าวไกล' หนักใจยื่นดาบให้ศาลรธน.อีกแล้ว

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

ด่วน! ศาลออกหมายจับ 'ไมค์ ภาณุพงศ์' ไม่มาฟังคำพิพากษาคดี 112

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี อ.2380/2564 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายภาณุพงศ์ หรือ ไมค์ จาดนอก อายุ 28 ปี แกนนำม็อบคณะราษฎร เป็นจำเลย ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

กกต.ย้ำไม่ได้เร่งยุบก้าวไกลแต่ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาล รธน.แล้วตั้งแต่ 25 มี.ค.

กกต.แจง ส่งเอกสาร ยื่นยุบก้าวไกล เพิ่มเติมถึงศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องยุบภูมิใจไทยเป็นคนรับประเด็น

กกต.ได้เอกสาร 44 สส.ก้าวไกลลงชื่อแก้ 112 ส่งศาลรธน.พิจารณายุบพรรคแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญยังไม่พิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกลเนื่องจากมีเอกสารบางรายการที่กกต.ส่งไปไม่ชัดเจนและมีคำสั่งให้กกต. ส่งเอกสารที่ชัดเจนให้กับศาลรัฐธรรมนูญภายใน