น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๑ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้านตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเล่าเรียนศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงในราชสำนักตามธรรมเนียมของเจ้านายในพระราชวงศ์ ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความอุตสาหะและใฝ่รู้ในเรื่องของการศึกษาจนเชี่ยวชาญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ บังคับบัญชากรมทหารแม่นปืนหน้า กรมทหารแม่นปืนหลัง  กองญวนอาสารบ และกองอาสาจาม ทรงเป็นผู้ที่มีความทันสมัย รอบรู้ภาษาอังกฤษ และสนพระทัยวิทยาศาสตร์และเครื่องยนต์กลไก โดยเฉพาะเรื่องการต่อเรือจากตะวันตก

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบวรราชาภิเษกให้ดำรงพระอิสริยยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง มีพระนามว่าสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน พระปรีชาสามารถที่เด่นชัดในสายตาของชาวสยามและชาติตะวันตก คือ ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ และทรงรอบรู้ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างตะวันตกเป็นอย่างดี ทรงริเริ่มนำนวัตกรรมจากตะวันตกมาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง อาทิ ทรงต่อเรือรบแบบใช้เครื่องจักร ทรงต่อเรือกำปั่นแบบตะวันตกลำแรกของสยาม ทรงฝึกหัดทหารปืนใหญ่ ทรงพระราชนิพนธ์แปลตำราปืนใหญ่ขึ้นเป็นเล่มแรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยรักในงานด้านศิลปะ ทั้งดนตรี กวีวรรณกรรม นาฏศิลป์และประณีตศิลป์ พระราชวังบวรสถานมงคลที่ประทับของพระองค์ จึงเป็นเสมือนศูนย์กลางในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมหลากหลายสาขา ทรงมีความชำนาญด้านประพันธ์บทร้อยกรอง และทรงเป็นนักเล่นสักวาที่มีฝีพระโอษฐ์คมคาย ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมและเพลงยาวต่างๆ ขึ้นหลายสำนวน ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี ๔ ชนิด เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องใหญ่"

เบื้องปลายพระชนม์ชีพ  พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล ลักษณะเป็นตึก ๒ ชั้น แบบตะวันตก พัฒนารูปแบบมาจากสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคที่แพร่หลายอยู่ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาขณะนั้น หลังคาพระที่นั่งทรงจั่วชั้นเดียวไม่มีมุขลดหน้าจั่วทั้งสองด้านปั้นปูนประดับเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือ รูปปิ่นประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าอยู่ภายในช่อมาลาประกอบลายพันธุ์พฤกษา อันมีที่มาจากพระนามเดิมคือ “เจ้าฟ้าชายจุฑามณี” ชั้นล่างใช้เป็นที่อยู่ของพนักงาน ชั้นบนเป็นที่ประทับ ประกอบด้วย ห้องเสวย ห้องรับแขก ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์พร้อมห้องสรง ห้องสมุดและห้องทรงพระอักษร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ ณ  พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ตลอดมา จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘

พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประจักษ์และตระหนักในมโนสำนึกของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า อีกทั้งที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และบริเวณโรงละครแห่งชาติ เดิมเป็นพระราชวังบวรสถานมงคลอันเป็นที่ประทับของพระองค์ วันที่ ๗ มกราคม ของทุกปีกรมศิลปากรจึงร่วมกับชมรมกองทุนพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิธีถวายราชสักการะรำลึกถึงพระเกียรติคุณ ณ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ และจัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศล ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนอกจากนี้ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า ณ บริเวณลานหน้าพระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงละครแห่งชาติ เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายสืบไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัญเชิญ12พระพุทธรูปมงคลให้สักการะสงกรานต์

13 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานพิธีเปิด “งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

สรงน้ำพระธาตุ-เทวดานพเคราะห์ เทศกาลสงกรานต์

เนื่องในเทศกาลสงกรานต์สงกรานต์ กรมศิลปากรขอเชิญพุทธศาสนิกชนและผู้สนใจร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2567  เวลา 09.00-16.00 น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประดับตกแต่ง'ขบวนเรือพระราชพิธี' มรดกวัฒนธรรมล้ำค่า

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของประเทศไทย กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตามโบราณราชประเพณี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน

ส่งมอบเรือพระราชพิธี 16 ลำ ให้ศก.ประดับตกแต่ง

5 เม.ย. 2567 - เวลา 11.00 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี ส่งมอบการซ่อมทำเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ จำนวน 16 ลำ ที่กองทัพเรือ ได้ดำเนินการเรียบร้อยให้แก่กรมศิลปากรเพื่อนำไปประดับตกแต่งตัวเรือ โดยมี

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์พร้อมเปิดปี 68

28 มี.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็

ขุดค้น'วัดจักรวรรดิ' พัฒนาย่านเมืองเก่า

วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘วัดจักรวรรดิ’ เป็นวัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์  มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดนางปลื้ม ต่อมาเรียกว่า วัดสามปลื้ม ขณะนี้มีความจำเป็นสำคัญเร่งด่วนในการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีวัดจักรวรรดิฯ