แอมเนสตี้เฮลั่น! ศาลฯ ชี้ 'มท.1-อธิบดีกรมปค.' ใช้อำนาจขัดรธน.

17 ก.พ.2566 - ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มหาดไทย ลงวันที่ 13 ส.ค. 2562 ที่ยกอุทธรณ์ของสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กรณีอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้ง นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตนักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นกรรมการสมาคมฯโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พร้อมทั้งสั่งอธิบดีกรมการปกครองดำเนินการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสมาคมของสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 17 ส.ค.2561 จำนวน 1 ราย ที่แต่งตั้ง นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมฯ คนใหม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป ตามคำฟ้องของสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่ได้ยื่นฟ้อง รมว.มหาดไทย และ อธิบดีกรมการปกครอง ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2562 ว่า ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมฯ

ศาลปกครองให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ได้บัญญัติว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ประกอบกับพฤติกรรมของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่เป็นการแสดงออกถึงความคิดและความเชื่อของตน โดยไม่ปรากฏว่าเคยถูกศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายมาก่อน จึงเห็นว่าพฤติกรรมของนายเนติวิทย์ ตามที่อธิบดีกรมการปกครองกล่าวอ้าง ไม่อาจถือว่าขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับของสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

การที่อธิบดีกรมการปกครองมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม ในรายนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จึงเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การรับรอง และเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่ง เกินขอบเขตแห่งความจำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คำสั่งดังกล่าวของอธิบดีกรมการปกครองจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อ้างเหตุผลเหตุผลในการออกคำสั่งยกอุทธรณ์เนื่องจากนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดีนั้น จึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดี 305-2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเบื้องหลัง สว.ตีตก สกัด”วิษณุ”นั่งเก้าอี้ ประมุขศาลปกครอง

มติการออกเสียงของที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสว. ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 158 เสียง ต่อ 45 คะแนน

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฟ้องเพิกถอนควบรวม ทรู-ดีแทค

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้รับคำฟ้องของผู้บริโภค 5 รายในคดีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีรับทราบ

'วิรังรอง' บอกใครเข้าใจผิด โปรดอ่านคำชี้แจง ศาลปกครองไม่เคยมีคำสั่งบังคับคดีอุเทนถวาย

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ศาลปกครองชี้แจงไม่ได้พิพากษาบังคับคดีอุเทนถวาย คำชี้แจงของศาลปกครองชัดเจนนะคะ