'อัยการ' แจงยิบ ปมเร่งแต่งตั้งอสส.คนใหม่เร็วกว่าปกติ - แก้วาระการดำรงตำแหน่งประธานก.อ.

อัยการแจงเหตุกอ.เร่งแต่งตั้งอสส.คนใหม่ หวั่นกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ประมาณส.ค.อาจทำให้ไม่สามารถมีอสส.ได้ทัน จึงต้องดำเนินการล่วงหน้า ส่วนแก้วาระประธานก.อ.เริ่มตั้งแต่สมัย'วงศ์สกุล'เป็นอสส.'อรรถพล'เป็นประธานกอ. ครม.เห็นชอบในหลักการ อัยการทั่วประเทศ กว่า 90 % ก็เห็นพ้องด้วย

8 มี.ค.2566 - จากกรณีที่ประชุม คณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) ที่มีนายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ เป็นประธานการประชุม มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้แต่งตั้ง นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รองอัยการสูงสุด เป็นอัยการสูงสุด คนที่ 18 ต่อจากน.ส. น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ที่จะพ้นวาระบริหารในวันที่ 30 ก.ย. 2566 และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแต่งตั้งล่วงหน้าเร็วกว่าปกติ นั้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานอสส. เปิดเผยถึงเหตุใดจึงมีการเลือก อสส. ในเดือนมีนาคม ว่า ในปีที่ผ่านมา ที่ประชุม ก.อ. ได้มีมติเลือกนางสาวนารี ตัณฑเสถียร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ภายหลังจากที่ที่ประชุม ก.อ. มีมติเลือก อสส. แล้ว ตามขั้นตอนกฎหมายก็จะส่งเรื่องไปที่วุฒิสภา เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยตั้งกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติ ใช้เวลาประมาณ 60 วัน จากนั้นให้ สว. โหวต เมื่อผ่านโหวตก็จะเสนอเพื่อโปรดเกล้า ให้มีผลวันที่ 1 ตุลาคม แต่ในปีนี้ ได้มีข่าวทางการเมืองเป็นที่ทราบกันว่า มีสภาวะของการเมืองที่ไม่ปกติ อาจมีการยุบสภา และอาจมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในหลายจังหวัด และมีข่าวจะยื่นเรื่องยุบพรรคการเมือง

กอปรกับจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ การจะเปิดประชุมสภาในครั้งใหม่อาจมีข้อขัดข้องอันเนื่องมาจากการร้องเรียนการเลือกตั้งและการรับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 95 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้กระบวนการเปิดประชุมรัฐสภาและการเรียกประชุมสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่สามารถดำเนินไปได้โดยปกติ

"ซึ่งกว่าจะมีรัฐบาลหรือรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มรูปแบบ และการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีก็คงประมาณเดือนสิงหาคม 2566 จึงอาจส่งผลให้ไม่สามารถมี อสส. ได้ทัน 1 ตุลาคม จึงต้องดำเนินการล่วงหน้าเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งก็อยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติความประพฤติของอัยการสูงสุดคนใหม่ได้ทันก่อนเดือนสิงหาคม "

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาที่เป็นข้อห่วงใยในองค์กรอัยการตลอดมาคือ อสส. เป็นผู้ลงนามในคำสั่งทางคดีปีละกว่า 20,000 เรื่อง คดีชี้ขาดความเห็นแย้ง คดีที่เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร คดี ปปช. หากยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้มีอัยการสูงสุด อาจทำให้เกิดข้อต่อสู้คดีของจำเลยที่สู้ทุกทางว่าการสั่งคดีของรักษาการ อสส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงต่อการพิจารณาคดีของศาล อีกทั้งการที่ที่ประชุม กอ. มีมติเลือก อสส. ครั้งนี้ เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นของกระบวนการแต่งตั้งเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ ต่อท่าน อสส. คนปัจจุบันที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทั้งการมีมติดังกล่าวก็เป็นไปตามลำดับอาวุโสซึ่งเป็นอาวุโสลำดับหนึ่ง เป็นคนดี คนเก่ง มีความสามารถ ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการ ก.อ. และพนักงานอัยการในองค์กร การเป็นพนักงานอัยการไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย ใครจะเป็น อสส. ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ส่วนการแก้กฎหมายวาระการดำรงตำแหน่งของประธาน ก.อ.นั้น แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวว่า ปัจจุบัน การเป็นประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. เป็นได้เพียงวาระเดียว เป็นเวลา 2 ปี ในสมัยของท่าน อสส. วงศ์สกุล กิติพรหมวงศ์ (เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในสมัยที่ท่านอรรถพล ใหญ่สว่าง เป็นประธาน ก.อ.) ได้พิจารณาเห็นว่าในหน่วยงานหรือองค์กรอื่น กรรมการจะสามารถเป็นได้ไม่น้อยกว่า 2 วาระ ยิ่งไปกว่านั้นของศาลยุติธรรม กรรมการ ก.ต. จะเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน คือเป็นกี่วาระก็ได้ แต่ห้ามเป็นติดต่อกันเกิน 2 วาระ ดังนั้นจึงเสนอแก้ไขกฎหมายใน 3 ประเด็น (ในที่นี้ขอคุยประเด็นนี้ประเด็นเดียว) โดยให้ประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน เหมือนศาลยุติธรรม เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดเสนอเรื่องไปที่ประชุม ครม. ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ส่งสำนักงานกฤษฎีกาพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 3 มีข้อสังเกตว่าการแก้กฎหมายตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดร่างไปครั้งแรกอาจตีความได้ว่าสามารถเป็นคณะกรรมการ ก.อ. โดยไม่มีการจำกัดระยะเวลา จึงควรแก้ไขถ้อยคำที่ยกร่างเพื่อให้มีจำนวนวาระชัดเจน และส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด

"ต่อมา อสส. สิงห์ชัย ทนินซ้อน เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ทำประชาพิจารณ์อัยการทั่วประเทศ เกี่ยวกับการแก้กฎหมายโดยเพิ่มให้ประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ซึ่งพนักงานอัยการทั่วประเทศตอบรับประชาพิจารณ์เกือบ 2,000 คน มีผู้เห็นด้วยกว่า 1,900 คน คิดเป็นร้อยละ 90 กว่า จากนั้น อสส. สิงห์ชัยฯ จึงยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายองค์การอัยการในมาตราที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ก.อ. และประธาน ก.อ. ใหม่ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 3 มีข้อสังเกตไว้ แล้วเสนอเรื่องไปที่ ครม. แต่เนื่องจากขณะที่ ครม. จะพิจารณาเรื่องนี้ เป็นช่วงที่ อสส. นารี ตัณฑเสถียร ขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จึงส่งเรื่องกลับมาให้ อสส. นารีฯ ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่จะแก้ไขกฎหมายลงนาม ซึ่ง อสส. นารีฯ ก็ลงนามส่งกลับไปยัง สลค. และที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องแก้อนุมาตราย่อยเพิ่มเติมในข้อ 19(8)(ข) กล่าวคือเมื่อแก้ไขกฎหมายให้เป็นได้ 2 วาระแล้ว ที่กำหนดว่าข้อห้ามผู้สมัครประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. ว่าต้องไม่เคยเป็นประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. มาก่อน จึงใช้บังคับไม่ได้ จึงแจ้งกลับด้วยวาจามายังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อจะใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล ตามวิธีการปฏิบัติปกติของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอนุมาตราย่อยดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวข้องในประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ ก.อ. และประธาน ก.อ. แต่อย่างใด ซึ่งมีพนักงานอัยการทั่วประเทศเห็นพ้องด้วยกว่า 1,900 คน แล้ว แต่ระหว่างนั้น อสส. นารีฯ ได้ให้นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ ผู้ตรวจการอัยการ ขอถอนเรื่องกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยอ้างเหตุว่าจะต้องกลับไปทำประชาพิจารณ์ ข้อ 19(8)(ข) อีกครั้ง และ ครม. จึงได้ส่งเรื่องกลับคืนมายังสำนักงานอัยการสูงสุด สถานะปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวก็อยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด และ อสส. นารีฯ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม

"จะเห็นว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนปกติตั้งแต่ก่อนที่นายพชร ยุติธรรมดำรง จะได้รับเลือกตั้งมาเป็นประธาน ก.อ. และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ แต่อย่างใด เพราะเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร คือ อสส. การแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มวาระการดำรงตำแหน่ง ประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. เป็นการแก้ไขให้ทั้งตำแหน่ง ประธาน ก.อ. และ กรรมการ ก.อ. โดยให้ ประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. ที่ครบวาระแล้ว สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. ได้อีกเพียงวาระเดียว ไม่ใช่เป็นการต่ออายุการดำรงตำแหน่งแต่อย่างใด ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งใหม่ โดยพนักงานอัยการทั่วประเทศ และไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ประธาน ก.อ. หรือ กรรมการ ก.อ. จะเป็นอย่างเดียวหรือสองอย่าง รวมกันต้องไม่เกิน 2 วาระ"แหล่งข่าวระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตรมว.คลัง งัด พรบ.ธ.ก.ส. ฟันเปรี้ยง! ดิจิทัลวอลเล็ต ไปตกม้าตายที่ ธ.ก.ส. ชัดเจน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

อัยการนัดฟังคำสั่งคดี 'จักรภพ' 23 พ.ค. เจ้าตัวแย้มจ่อลุยการเมือง

อัยการนัดฟังคำสั่งคดี 'จักรภพ เพ็ญแข' ครอบครองอาวุธสงคราม 23 พ.ค.นี้ เจ้าตัวเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม จ่อลุยการเมืองหลังพ้นคดี ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ควรได้ความเป็นธรรมเหมือนทุกคน

เฮ!รัฐบาลจัดเชื่อเงินด่วนให้ 'อสม.-อสส.' กู้รายละไม่เกิน 2 หมื่นบาท

รัฐบาลจัดโครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี ให้สมาชิก อสม. - อสส. รายละไม่เกิน 20,000 บาท ยื่นกู้ได้ ณ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2568

ยังมีเวลายกเลิก ดีลลับ”ยิ่งลักษณ์”กลับไทย

กระแสข่าวความเป็นไปได้ที่”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี”จะเดินทางกลับประเทศไทยในปีนี้ เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังชนักติดหลังคดีความต่างๆ

อัยการเรียก 'เรืองไกร' ให้ถ้อยคำ คดีร้อง 'เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองหรือไม่

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด

ศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐาน คดี 'สว.อุปกิต' สมคบค้ายา-ฟอกเงิน

ศาลอนุญาตเลื่อนนัด ตรวจหลักฐานคดีกล่าวหา 'สว.อุปกิต' สมคบค้ายาเสพติด-ฟอกเงิน 22 เม.ย. เหตุยังคัดถ่ายเอกสารคดีทุนมินลัตไม่ได้ เจ้าตัวมั่นใจบริสุทธิ์ ขู่ฟ้องกลับกราวรูด