เรื่องใหญ่! ครอบครัวรัตนพันธ์บุกทำเนียบฯ ร้องบิ๊กตู่สอบเส้นทางการเงิน 'เอสซี แอสเสทฯ-พี่เขยอุ๊งอิ๊ง-ผู้ถือหุ้นใหญ่'

ครอบครัวรัตนพันธ์บุกทำเนียบฯ ร้องนายกฯ ให้ตรวจสอบเอสซี แอสเสทฯ รวมทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่สำคัญให้ตรวจเส้นทางการเงินตั้งแต่ปี 2559 โดยเฉพาะพี่เขยอุ๊งอิ๊ง ตั้งข้อสังเกตเงินอาจมาพันการเลือกตั้งในอนาคตได้

16 มี.ค.2566 – ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ครอบครัวรัตนพันธ์ที่ลงนามโดย น.ส.ลัดฟ้า รัตนพันธ์, ดร.ศรายุทธ รัตนพันธ์ และ น.ส.ฐานิตา รัตนพันธ์ มายื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ตรวจสอบบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะครอบครัวถูกรังแกมากกว่า 6 ปี และขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินกิจการบริษัทเอสซีฯ และผู้บริหารจากการดำเนินธุรกิจส่อพฤติการณ์ขาดความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ปกปิด อำพราง และไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึงขอให้มีการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของบริษัทเอสซีฯ ตั้งแต่ปี 2559ถึงปัจจุบัน

สำหรับเนื้อหาของจดหมายนั้นมีความยาวทั้งสิ้น 53 หน้า พร้อมทั้งแนบเอกหลักฐานประกอบด้วย 1. สัญญาอำพรางเงินกู้ 20 ล้านบาท 3 เมษายน 2561 จากบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ 2.บันทึกข้อตกลงให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ 200 ล้านบาท จากบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ 3. คำให้การและฟ้องแย้งของครอบครัวรัตนพันธ์ ศาลมีคำสั่งรับฟ้องแย้ง 1,500 ล้านบาทเศษ 4. หนังสืออนุมัติให้ความช่วยเหลือค่าธรรมเนียมวางศาล 1.4 ล้านบาทเศษ จากกองทุนยุติธรรม 5. หนังสือของบริษัทเอสซีฯ เลขที่ SC-L 262/2561 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2561 6.หนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI 7.แบบร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เลขที่รับ 6420 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566 8.Press ครอบครัวรัตนพันธ์ ร้องสื่อปมเสียหายเพราะพฤติการณ์ของผู้บริหาร SC Asset และผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลชินวัตร วันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ ห้องกมลพร โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ 9. คลิปเสียงการสนทนาระหว่างนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ CEO กับดร.ศรายุทธ รัตนพันธ์ 10.คลิปเสียงการสนทนาระหว่างนายอรรถพล สฤษฎิพันธวาทย์ CCO กับนางสาวลัดฟ้า รัตนพันธ์ และ 11.คลิปเสียงคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเอสซีฯ ที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งติดต่อให้เข้าไปนั่งคุยเพื่อขอความเป็นธรรม ในวันที่ 27 กันยายน 2562

ทั้งนี้เนื้อหาของหนังสือระบุว่า ด้วยบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเรียกว่าบริษัทเอสซีฯ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท (มหาชน) จำกัด อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จดทะเบียน ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีกรรมการผู้มีอำนาจประกอบด้วย นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ,นายณัฎฐ์พัฒน์ เอื้อใจ, นายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ กรรมการสองในสามคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญ สามารถกระทำการแทนและมีผลผูกพันบริษัท มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยพัฒนาที่ดินและขออนุญาตจัดสรรเป็นหมู่บ้านจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยเพื่อจำหน่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลทั่วไป ผู้ถือหุ้นใหญ่โดยชินวัตรเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและพรรคการเมือง

กล่าวคือบริษัทเอสซีฯ บริหารและดำเนินกิจการจนทำให้ครอบครัวของเราได้รับความเสียหายมายาวนานกว่า 6 ปี หลายคนต้องล้มป่วย บ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีที่อยู่ สูญเสียบ้านและที่ดินมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทเศษ เราติดตามให้บริษัทเอสซีฯ รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย จนถึงตัวนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการบริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม) เมื่อทราบก็ให้คำมั่นชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดยร่วมกับนายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ CCO (ประเจ้าหน้าที่ด้านสนับสนุนองค์กร, กรรมการบริหารและ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม) และนายสมบูรณ์ คุปติมนัส CLO (เลขานุการบริษัท) เลือกหาวิธีจ่ายค่าเสียหายไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหายและผู้ถือหุ้น,นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกันปกปิด ซ่อนเร้น อำพรางความจริงที่เกิดขึ้นโดยซุกซ่อนการจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200 ล้านบาทเศษ อำพรางเป็นบันทึกข้อตกลงการให้ประโยชน์จากส่วนต่าง 200 ล้านบาทเศษ 1 ฉบับ และสัญญากู้ยืมเงิน 20 ล้านบาทอีก 1 ฉบับ สิ่งที่ส่งมาด้วย 1 และ 2

จากนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน 20 ล้านบาท ให้เด็กอายุ 23 ปี บุตรของผู้เสียหายในขณะนั้นลงนามเป็นผู้กู้ เพราะอ้างว่าตนเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถจ่ายเงินค่าเสียหายออกมาได้ และส่วนที่เหลือให้ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างตามบันทึกข้อตกลงจำนวนรวม 200 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อเด็กลงนามในสัญญา CEO กลับไม่สุจริต ไม่ดำเนินการตามที่ให้คำมั่นไว้ หลบหนีและโยกโย้ถึงปัจจุบัน ไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เหลือ อีกทั้งยังนำสัญญากู้ยืมเงินอำพรางการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เลขคดี มย.66/2563 การกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างไม่มีธรรมภิบาล ไม่สุจริตและไม่มีความรับผิดชอบ

ครอบครัวของเราต้องต่อสู้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่มูลค่าเป็นหมื่นล้าน มีทั้งเงิน ทั้งอำนาจ และอิทธิพลในสังคม พวกเขากระทำการย่ำยีมนุษย์หลายอย่างโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่เคารพในกระบวนการยุติธรรม เราต้องต่อสู้คดีโดยลำพังไม่มีทนายความ มีเพียงความจริงที่ได้แสดงให้ประจักษ์ต่อศาล ซึ่งการไต่สวนความจริงกว่า 2 ปี หลักฐานปรากฏ ศาลจึงมีคำสั่งให้รับฟ้องแย้งหรือฟ้องกลับบริษัทเอสซีฯ เป็นเงินจำนวน 1,500 ล้านบาทเศษ ตามคำสั่งศาลแพ่งวันที่ 19 มกราคม 2566 สิ่งที่ส่งมาด้วย 3 และ 4 โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในส่วนของค่าธรรมเนียมวางศาล 1.4 ล้านบาท

ประการแรกเมื่อนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ CEO บริษัทเอสซีฯ รับทราบว่ามีการกระทำผิดจนเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น และยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้นก็ย่อมต้องมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์และสุจริตต่อทั้งผู้เสียหาย และต่อผู้ถือหุ้นและประชาชนส่วนรวม แต่กลับไม่รับผิดชอบต่อผู้เสียหาย หลอกให้ลงนามหวังปิดปาก หนีความผิด อีกทั้งในการดำเนินกิจการของบริษัทการนำเงิน 20 ล้านบาทออกมาให้บุคคลภายนอกกู้ ซึ่งนายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ CCO แจ้งว่าบริษัทเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เคยให้บุคคลภายนอกกู้ ในการที่ให้เด็กอายุเพียง 23 ปี ซึ่งไม่เคยเขียนคำขอกู้ ไม่มีการตรวจสอบเครดิตบูโร ไม่มีหนังสือรับรองการทำงานหรือรายได้อื่นใด เพราะเป็นเด็กจบใหม่ที่ไม่เคยทำงาน และไม่มีหลักทรัพย์ใดๆค้ำประกัน ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถอนุมัติสั่งจ่ายเช็คในนามบริษัทเอสซีฯ จำนวนเงิน 20 ล้านบาทให้เด็กอายุ 23 ปีได้ทันทีนั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้องและโปร่งใสมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ และบริษัทเอสซีฯ มีการกระทำดังกล่าวนี้อีกหรือไม่ เนื่องด้วยบริษัทเอสซีฯเกี่ยวข้องกับทางการเมืองโดยตรงเพราะผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 60 คือครอบครัวชินวัตรและผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หากมีการดำเนินการทางการเงินได้โดยไม่มีหลักหรือแบบแผนเช่นนี้ อาจนำไปสู่การนำเงินออกจากบริษัทเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งได้หรือไม่

ประการที่สองการการชดใช้ค่าเสียหายด้วยการให้ประโยชน์จากส่วนต่างจำนวน 200 กว่าล้านบาทเศษกับผู้อื่นของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่และอาจจะนำไปสู่การนำเงินออกจากบริษัทไปให้บุคคลภายนอกได้หรือไม่ หากมีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประชาชน เพราะบริษัทเอสซีฯ เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประชาชนเข้าซื้อหุ้นได้ การนำเงินที่ออกจากบริษัทไปให้บุคคลอื่นๆได้โดยไม่มีมาตรฐานข้อบังคับการปฏิบัติที่ชัดเจน ย่อมส่งผลเสียต่อประชาชนผู้เข้าซื้อหุ้นและอาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถนำเงินออกจากบริษัทให้บุคคลภายนอกใดเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอสซีฯหรือประโยชน์ทางการเมืองได้

ครอบครัวรัตนพันธ์ร้องขอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินกิจการบริษัทเอสซีฯ และนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ , นายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ ผู้บริหาร จากการดำเนินธุรกิจส่อพฤติการณ์ขาดความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ปกปิด อำพราง และไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึงขอให้มีการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของบริษัทเอสซีฯ ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน และได้โปรดกำชับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าตรวจสอบการกระทำของบริษัทเอสซีฯ โดยป้องกันมิให้มีอำนาจอื่นใดแทรกแซง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง และขอให้กำชับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI เร่งรับคดีครอบครัวรัตนพันธ์ กับบริษัทเอสซีฯ เป็นคดีพิเศษอย่างเร่งด่วน และได้โปรดกำชับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เข้าตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในประเทศไทย เนื่องจากพฤติกรรมการที่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีมาตรฐานข้อบังคับในการนำเงินออกจากบริษัทอย่างชัดเจนและเคร่งครัด อาจจะนำไปสู่เส้นทางการหลบเลี่ยงทางการเงิน หรือการนำเงินเข้าหรือออกนอกระบบได้ง่ายดาย และอาจเป็นอีกหนึ่งทางที่ใช้ในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินอย่างไม่สุจริตทั้งในการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง บริษัทเอสซีฯ เป็นบริษัทของตระกูลนักการเมืองเลยก็ว่าได้ เมื่อบริษัทนี้มีพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงอาจจะมีการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส อาจจะเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวเนื่องการทุจริตการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ได้เช่นกัน

ครอบครัวรัตนพันธ์พร้อมเป็นพยานและเปิดเผยความจริงให้กับประชาชนให้รับทราบถึงพฤติการณ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอสซีฯ โดยขอรับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากหน่วยงานภาครัฐจากการเปิดเผยความจริงดังกล่าว เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษ ความยุติธรรมในประเทศนี้ต้องไม่ใช่แค่คำพูด แต่ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทยของเราทุกคน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบพฤติการณ์ของบริษัทเอสซีฯ ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ซื่อสัตย์ ยุติธรรมและตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนในสังคมได้รับรู้ความจริงด้วยความเที่ยงธรรม อีกทั้งขอวิงวอนสื่อให้ช่วยกันนำเสนอข่าวเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลการดำเนินธุรกิจของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินในการลงทุน และมีข้อมูลในการดำเนินธุรกิจรวมถึงรูปแบบการดำเนินงานของตระกูลชินวัตรที่ขอโอกาสอาสาเข้ามาอยากรับใช้ประชาชนบริหารประเทศ

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอได้โปรดพิจารณาดำเนินการเพื่อให้ความยุติธรรมปรากฏขึ้นในสังคมไทยของเราทุกคน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัย' ฟุ้งแค่ไตรมาสแรกต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้าน!

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ชื่นชมผลจากความสำเร็จรัฐบาล ไตรมาสแรกปี 2567 ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมโอกาสการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้คนไทย