กกต. ถก 21 มี.ค. เคาะวันเลือกตั้ง แจงอำนาจ ครม. หลังยุบสภา

‘แสวง’ เผยหลังถก ‘วิษณุ’ แจงอำนาจรัฐบาลรักษาการหลังยุบสภา ปัดตอบกาบัตรวันไหนโยนหน้าที่ กกต.ชุดใหญ่ ไม่กังวลแห่ร้องยุบพรรค ยันเดินหน้าเลือกตั้งตามกรอบ รธน.

20 มี.ค. 2566 – ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที

จากนั้นเวลา 10.45 น. นายแสวง ให้สัมภาษณ์ว่า นายวิษณุ ได้เชิญมาถามขั้นตอนหากยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีรักษาการจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรได้บ้างตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และวันนี้ที่ตนเดินทางมาเพื่อชี้แจงเรื่องนี้เพราะถือเป็นเรื่องใหม่

เมื่อถามว่าสรุปแล้ววันเลือกตั้งคือวันใด นายแสวง กล่าวว่า ไม่รู้ เราไม่ได้มาพูดเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งเพราะมาคุยเรื่อง 169 อย่างเดียว ส่วนเรื่องไทม์ไลน์เลือกตั้งนั้นไม่ได้มีการหารือ คณะรัฐมนตรีรู้เท่ากับประชาชนทั่วไป ไทม์ไลน์เป็นเรื่องของ กกต. ไม่ใช่เรื่องของคณะรัฐมนตรี ส่วนเรื่องวันเลือกตั้ง ให้ไปถาม กกต.ชุดใหญ่ คงจะประกาศวันเลือกตั้งหลังมีการยุบสภา

ส่วนที่นายวิษณุระบุว่าอาจมีการยุบสภาวันนี้นั้น นายแสวง กล่าวว่า ตนไม่ทราบ นายวิษณุไม่ได้เล่าให้ฟัง

เมื่อถามว่า หากยุบสภาวันนี้ เป็นไปได้หรือไม่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 7 หรือ 14 พ.ค. เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า วันเลือกตั้งอยู่ในช่วง 45-60 วันหลังยุบสภาฯ ส่วนวันไหนก็ต้องไปดู

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงวันที่อาจเลือกตั้งมีการหยุดยาวและหยุดสั้น จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เราต้องทำตามกฎหมาย เพราะในช่วงวันดังกล่าวไม่รู้ตกตัวไหน ส่วนที่หลายคนห่วงบทบาทข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ จะวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้งนั้น เราจะดูให้ กฎหมายควบคุมเรื่องนี้เพียงพออยู่แล้ว

เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงขั้นตอนต่อไป หากมีการยุบสภาวันนี้ว่า กกต. ก็จะประชุมวันที่ 21 มี.ค. โดยพิจารณาร่างประกาศที่เกี่ยวกับวันรับสมัคร ส.ส. การกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดเขตเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า ถ้ายุบสภาวันนี้วันรับสมัคร ส.ส.จะเป็นวันที่ 3-7 เม.ย. หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ต้องรอ กกต.ชุดใหญ่พิจารณา

“เรื่องวันเลือกตั้งเป็นอำนาจ กกต.ชุดใหญ่ ให้ท่านพิจารณาดีกว่า กกต. ไม่ได้คิดต่างจากประชาชน กกต. เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งต้องบริหารสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมือนมาคุยวันนี้ก็เป็นประโยชน์เพราะคณะรัฐมนตรีต้องรักษาการ หน้างานเลือกตั้งมีอยู่ 4-5 งาน ไม่ว่าจะเป็น กกต. พรรคการเมือง ประชาชน รัฐบาลรักษาการ ทุกคนควรอยู่กับที่ที่ตัวเองควรอยู่ จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เราจะบริหารสถานการณ์ไปถึงวันเลือกตั้งให้มั่นใจและสะบายใจว่าเราจะทำงานอย่างเต็มที่” นายแสวง ระบุ

ส่วนกรณีมีพรรคการเมืองไปร้องเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งต่อศาลปกครองแล้ว ขอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉิน จะกระทบทำให้วันเลือกตั้งต้องขยับออกไปหรือไม่นั้น นายแสวง กล่าวว่า เราเดินตามรัฐธรรมนูญ วันเวลาเป็นตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว กฎหมายให้ทำอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น สุดท้ายต้องรอดูการวินิจฉัยของศาลปกครองว่าผลจะเป็นอย่างไร ทุกคนมีสิทธิใช้สิทธิ อย่าเพิ่งไปคาดคะเน แต่ตนคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการร้องยุบพรรคหลายพรรค จะทำให้การเลือกตั้งสะดุดหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ตนเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ผ่านมาก็ทำตามกฎหมาย การแข่งขันอย่าไปกังวลอะไรถ้าเราไม่ได้ทำผิด เพราะกฎหมายให้การคุ้มครองทุกคนที่ไม่ได้กระทำผิด และเมื่อได้รับการร้องเรียนเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งกับผู้ร้องและผู้ถูกร้อง

ผู้สื่อช่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกรณี คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน (4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

‘เศรษฐา’ โอ่ 3 ปีครึ่ง นำความเป็นอยู่ที่ดีให้ ปชช. ฉุด ‘พท.’ ชนะเลือกตั้งครั้งหน้า

นายกฯ โอ่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และหวังว่าผลที่จะตามมาคือ ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง