ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนมติสภาม.รามฯ ถอด 'สืบพงษ์' พ้นอธิการบดีม.รามฯ

สืบพงษ์ ปราบใหญ่

28 เม.ย.2566 - ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ บ. 12/2565 หมายเลขแดงที่ บ.116/2566 ระหว่าง นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ผู้ฟ้องคดี กับ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 1 ศาสตราจารย์ สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 2 และนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติในการประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 128/2564 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2564 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งที่ 131/2564 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ให้ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติและคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางรายได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยตามที่กรรมการฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน มีหนังสือร้องขอ และได้มีการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจง ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ได้ชี้แจงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงเหตุผลที่ผู้ฟ้องคดีไม่เรียกประชุม หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลงมติในสองประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะปรึกษาหารือในเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีชี้แจงต่อไปหรือไม่ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติโดยเสียงข้างมากว่าจะประชุมปรึกษาหารือในเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีชี้แจงต่อไป และประเด็นที่สอง ผู้ฟ้องคดีจะต้องออกไปจากห้องประชุมขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทำการพิจารณาในประเด็นที่หนึ่งหรือไม่ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติโดยเสียงข้างมากว่าผู้ฟ้องคดีจะต้องออกไปจากห้องประชุมขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทำการพิจารณาในประเด็นที่หนึ่ง และเมื่อเสร็จสิ้นการลงมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทั้งสองประเด็นแล้ว ผู้ฟ้องคดีก็ได้ออกไปจากห้องประชุม หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ทำการพิจารณาต่อไปจนกระทั่งมีการลงมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่า ขณะเริ่มประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบเลยว่าจะมีการพิจารณาลงมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวาระการประชุมนี้ คงมีก็แต่เพียงการอภิปรายและตั้งคำถามจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางราย เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น ดังนั้น การชี้แจงของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการตอบคำถามต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามทางปกติของผู้เข้าร่วมประชุม โดยผู้ฟ้องคดีเองก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า ตนจะต้องถูกพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในวาระการประชุมนี้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้เตรียมพยานหลักฐานอย่างเต็มที่เพื่อโต้แย้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และเมื่อมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคำสั่งทางปกครองอันมีผลให้ ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นการถาวรและเด็ดขาด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเสียก่อน จึงเป็นการมีมติโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนด มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ที่ให้ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีมติดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทั้งนี้ ให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่สั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเบื้องหลัง สว.ตีตก สกัด”วิษณุ”นั่งเก้าอี้ ประมุขศาลปกครอง

มติการออกเสียงของที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสว. ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 158 เสียง ต่อ 45 คะแนน

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฟ้องเพิกถอนควบรวม ทรู-ดีแทค

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้รับคำฟ้องของผู้บริโภค 5 รายในคดีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีรับทราบ

'วิรังรอง' บอกใครเข้าใจผิด โปรดอ่านคำชี้แจง ศาลปกครองไม่เคยมีคำสั่งบังคับคดีอุเทนถวาย

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ศาลปกครองชี้แจงไม่ได้พิพากษาบังคับคดีอุเทนถวาย คำชี้แจงของศาลปกครองชัดเจนนะคะ