นายกฯ สั่งหาทุกช่องทางพาคนไทยกลับบ้าน ประสานประเทศที่สามพักชั่วคราว

12 ต.ค. 2566 - เวลา 17.50 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ครั้งที่ 5/2566 ว่า ตนเดินทางกลับจากต่างประเทศถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ก็เดินทางมาประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศทันที เพราะมีความกังวลถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและทางฮามาส ซึ่งขยับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆโดยมีพี่น้องชาวไทยอยู่ในเขตอันตรายแสดงเจตจำนงมาแล้วประมาณ 6,000 คน และวันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้กลับเข้ามาล็อตแรก แต่ยังมีอีกเยอะมาก ซึ่งเราต้องลำเลียงกลับเข้ามา แต่มีความเข้าใจดีถึงความเป็นห่วงเป็นใยญาติพี่น้องและความกังวลของผู้ที่อยู่ในจุดนั้น ซึ่งมีหลายเรื่องหลายปัญหา

นายกฯ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบินที่จะบินเข้าไป ซึ่งปัจจุบันนี้วันๆหนึ่งเราได้ไม่ถึง 1 ไฟล์ จึงได้มีการพูดคุยกันว่าทางกองทัพบกและกองทัพอากาศจะเอา c 130 และแอร์บัสA 340 เริ่มบินเข้าไป โดยวันแรกจะออกจากที่นี่ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งจะมีคนไทยเดินทางกลับเข้ามาประมาณ 140 คนและมีการขนเสบียงไปให้ด้วย แต่ตนได้สั่งการไปว่าลำเดียวไม่พอและมีอีกทีในวันที่ 20 ตุลาคม กว่าๆ นั้น มันเป็นอะไรที่น้อยมากและช้ามาก ในที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าให้มีการสั่งการเตรียมตั้งแต่วันนี้ไปจะมีให้เครื่องบินพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยที่นกแอร์จะมีให้ 2 ลำและแอร์เอเซียมีให้ 2 ลำ ส่วนการบินไทย 13 ตุลาคม จะให้คำตอบว่าจะมีให้ได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วในบางเรื่องที่เราคิดว่าบินออกไปได้เลยมันไม่ใช่ เพราะจะเป็นเที่ยวบินพิเศษต้องมีการผ่านน่านฟ้าถึง 10 ประเทศ ซึ่งในอดีตในวาระปกติต้องใช้เวลาประมาณเป็นเดือนกว่าจะขอบินผ่านน่านฟ้าของแต่ละประเทศได้ กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ ความกรุณาเร่งขึ้นเป็น 2 วัน แสดงว่าถ้าวันนี้หากมีการตกลงว่าจะใช้เครื่องบิน บินออกไปจะต้องมีการเจรจาทันที ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 48 ชั่วโมง กว่าจะบินออกได้ จึงได้มีการสั่งการไปว่าขอให้เตรียมความพร้อมเครื่องบินทั้ง 4 ลำนี้ บวกอีกกี่ลำก็ตามจากการบินไทย ตรงนี้ได้มีการสั่งการขอให้เป็นความสำคัญสูงสุด

นายเศรษฐา กล่าวว่า ทูตไทยประจำอิสราเอลได้แจ้งมาว่าความพร้อมในการที่คนไทยจะพร้อมเดินทางออกมา มีความพร้อมที่จะนำคนไทยออกมาจากจุดเสี่ยงทั้งหลายได้ประมาณวันละ 200 คน จะดันเฉลี่ยแล้ววันละลำ สามารถลำเลียงออกมาได้ หากคิดง่ายๆ ถ้าวันละลำก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณเกือบเดือนกว่าจะลำเลียงออกมาหมด ดังนั้นจะต้องคิดวิธีในการที่จะทำให้รวดเร็วขึ้น มันมีปัญหาเรื่องงานเอกสารซึ่งบางท่านอาจมีพาสปอร์ต ที่หายไปจึงได้สั่งการกับทูตไปในเรื่องงานเอกสารให้เป็นเรื่องรอง แต่ให้เรื่องความปลอดภัยสูงสุดเป็นเรื่องสำคัญ โดยนายปานปรีย์ ได้ให้ข้อคิดว่าหากเราไม่ต้องบินจากอิสราเอล บินออกไปที่ไคโรหรือประเทศที่ 3 ที่อยู่ใกล้ๆเพื่อนำคนไทยออกไปก่อนและเตรียมความพร้อมที่จะขนถ่ายกลับมาอีกที ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถทำให้เร็วขึ้นได้ ตรงนี้ทางทีมงานกำลังพิจารณากันอยู่

นายเศรษฐา กล่าวว่า แต่ก็มีมุมหนึ่งที่สร้างความ ยากขึ้นอีกว่าหากไปพักประเทศที่สาม หากไม่มีเอกสารเขาจะให้เข้าประเทศหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความละเอียดอ่อนทางการทูตที่เราต้องพิจารณาด้วย ทางเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเพิ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตใกล้เคียง ก็พยายามจะเข้าไปช่วยดำเนินงานทางด้านเอกสารแต่ยืนยันว่างานทางเอกสารจะไม่เป็นประเด็นในการที่จะไม่ให้พี่น้องคนไทยกลับมา ตนได้สั่งการไปลำดับสูงสุดในเรื่องการนำพี่น้องกลับมาถือเป็นเรื่องที่สำคัญสุดและทุกหน่วยงานรับทราบ และรัฐมนตรีหลายท่านก็อยู่ในที่ประชุมนี้ด้วย เรื่องการพิจารณาในแง่ของการลำเลียงคนออกมาทางบกก็คิดอยู่ แต่ก็เจอปัญหาใหญ่เพราะต้องผ่านดินแดนกาซ่าจึงไม่สามารถผ่านออกมาได้ อย่างไรก็ตามยังเฝ้ามอนิเตอร์อยู่ในทางเรือ แต่ก็ต้องมีการเดินทางเส้นทางรถออกมาก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา

"วันนี้ก็วิงวอนหากสายการบินเอกชนไหนที่พอจะช่วยได้ มีเครื่องบินเหลืออยู่ก็หวังว่าคงจะมาร่วมด้วยช่วยกันตรงนี้ และกระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมที่จะประสานบินผ่านน่านฟ้าในหลายประเทศ เพราะถือเป็นภาวะสงคราม ยืนยันว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นแต่ทางรัฐบาลให้ความเป็นห่วงและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้" นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามถึงความพยายามในการเจรจา ขอปล่อยตัวประกันแรงงานคนไทย นายกฯ กล่าวว่า มีความพยายามในการเจรจาทุกช่องทางที่ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงขออนุญาตไม่เผยแพร่ แต่ขอให้มั่นใจว่าเราเจรจาทุกช่องทาง

เมื่อถามย้ำว่าถือเป็นสัญญาณบวกใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรามีความหวัง ต้องพยายาม ต้องกดดัน เพราะเราเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง และต้องยอมรับว่าถ้าดูตารางผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ขัดแย้ง แต่กลับมีความสูญเสีย 20 กว่ารายแล้ว เชื่อว่าหลายประเทศก็ให้ความเห็นใจ ในเรื่องของการที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกจากหลายประเทศในการขอผ่านน่านฟ้า เราก็ขอวิงวอนและขอยืนยันว่าเราทำเต็มที่

เมื่อถามต่อว่าเครื่องบินการบินไทยมีข้อติดขัดอะไรที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนเครื่องบินว่าจะส่งไปได้จำนวนเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ก็น่าเห็นใจการบินไทยเพราะเขาไม่มีเครื่องบินไปประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นเรื่องของงานเอกสารมากกว่าเรื่องเครื่องบินที่ถูกประกันไว้ แต่เขาอาจจะช่วยอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องไปบินลงกรุงเทลอาวีฟ แต่ไปบินลงประเทศใกล้เคียง และให้สายการบินอื่น บินออกมาและเราไปรับจากที่นั่น ซึ่งตนเชื่อว่าการบินไทยมีความตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของแรงงานทุกคน ซึ่งเมื่อสักครู่ตนก็มีการสั่งการทางอ้อม เพราะสั่งทางตรงไม่ได้ จึงสั่งการทางอ้อมว่าให้คำนึงถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งดูในที่นี้แล้วรัฐมนตรีหลายท่านก็หน้าอิดโรยพอสมควร เรื่องนี้เป็นเรื่องของแรงบันดาลใจที่เรามีคนติดอยู่ที่นั่น 5,000 คน ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งตนเชื่อว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศทำงานอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ทูตฯที่ส่งไปเพิ่มเติมมีหน้าที่หลักคือ ช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หน้าที่หลักคือหน้าที่ในการช่วยเหลือเบื้องต้นให้คนไทยออกมาโดยเร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด เพราะการเดินทางในประเทศอิสราเอลยังไม่ปลอดภัย ถนนหลายสายถูกบล็อค ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมต่อและพูดคุยระหว่างหน่วยงานความมั่นคงให้อำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่ายและผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)ก็พยายามอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าความคืบหน้าผบ.ทสส. ได้ประสานขอกำลังจากประเทศอิสราเอล เพื่อช่วยลำเลียงคนไทยในอิสราเอลทางรถยนต์อย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งทูตฯ ได้ประสานมาว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดี เรื่องหนึ่งที่ตนเชื่อว่าญาติผู้สูญเสียก็มีความกังวล ว่าเมื่อไหร่จะรับศพกลับมาเพื่อบำเพ็ญกุศล ทั้งนี้รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีความพยายามอย่างเต็มที่ และเมื่อสักครู่ก็ได้พูดคุยกับทูตฯ ซึ่งทูตฯ ก็บอกว่าก็เร่งและกดดันทางอิสราเอลอยู่ และเรื่องของการชันสูตรศพ รวมถึงเรื่องเงินชดเชย ซึ่งการเสียชีวิตในภาวะสงครามประเทศอิสราเอลจะมีเงินชดเชยให้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรานำศพกลับมาก่อนโดยที่ไม่มีการออกหลักฐาน อาจจะเคลมเงินได้ช้า ยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศดูครบทุกมิติ เราพยายามทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่าในวันที่ 13 ต.ค.นายกฯหารือกับน.ส.ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการพูดคุยในประเด็นใดเป็นพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ก็ต้องขอความเห็นใจ ซึ่งการพูดคุยจะพูดคุยว่าเราต้องการความช่วยเหลือด้านไหนบ้าง อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และเรามีความสูญเสียสูงที่สุด ไม่ว่าจะเรื่อง การลำเลียงศพออกมา หรือการเจรจาเรื่องตัวประกัน และเรื่องการลำเลียงแรงงานไทยที่ต้องการกลับประเทศ ไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยและไปถึงสนามบินให้เร็วที่สุด รวมถึงเรื่องการเปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินบินเข้าได้ ทั้งนี้ จะพูดคุยในทุกเรื่องและคงมีการพูดคุยเจรจากัน ตนเชื่อว่าความลำบากความสูญเสียและความรุนแรง ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าไม่มีใครอยากให้เกิด และพยายามแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและรวดเร็วที่สุด

เมื่อถามอีกว่าได้ประสานสายการบินของประเทศอิสราเอลหรือไม่ เพราะวันนี้ 15 คนไทยที่เดินทางกลับเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบินของอิสราเอลที่มีการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ก็มีการพูดคุยกัน และอิสราเอลก็มีเครื่องบินของเขาที่ไปเอาคนกลับมาจากต่างประเทศ และกลับออกไปใหม่จังหวะที่กลับออกไปใหม่นั้น ก็เป็นอีกทางเลือกที่อาจจะให้คนไทยบินออกไปประเทศที่เขาจะไปรับคนของเขา และเราส่งเครื่องบินไปรับในประเทศที่ไม่อันตราย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราภาวนาอยู่คือไม่อยากให้ สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ หรืออย่างน่านฟ้าปิดหรือมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่เพราะปัจจุบันมันก็แย่อยู่แล้ว

เมื่อถามว่ามีคนไทยอยู่ในพื้นที่สีแดงในอิสราเอล หลายคนแจ้งมาว่าถูกนายจ้างบังคับ ทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่ นายกฯกล่าวว่า แรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ที่ถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน เขาร้องเรียนมาและในวันที่ 13 ต.ค.ก็จะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องพูดคุยให้ชัดเจนเพื่อให้ช่วยกันอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด เข้าเท่าที่สามารถทำได้และสั่งการขั้นสูงสุดว่าเรื่องการอพยพคนไทยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องเอกสารเป็นเรื่องรอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ต.ค. เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการ หารือกับ นางสาวออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

นายกฯเศรษฐา กังวลสถานการณ์สู้รบในเมียนมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้เวลาช่วงวันหยุดติดตามงาน รวมถึงสถานการณ์สู้รบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมทวิตข้อความผ่าน x ว่า “ผมติดตาม