'เศรษฐา' เตือนคนไทยในอิสราเอลรีบกลับทันที อย่าเปลี่ยนใจ ชี้สถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้

“เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะ ถกศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินความไม่สงบในอิสราเอล-กาซา ซัดนายจ้างอิสราเอลหัวหมอ เอาเงินล่อแรงงานไทยให้อยู่ต่อ วอน ตัดสินใจแน่วแน่กลับไทย เสี่ยงชีวิตไม่คุ้ม หลังสงครามส่อลามประเทศใกล้เคียง เตรียมโทรหาทูตอิสราเอล แก้ปมนายจ้างดึงจ่ายเงินยื้อกลับประเทศ วอน ญาติช่วยโน้มน้าวอีกทาง ลั่น น้อมรับกระแสตีกลับ เอาความปลอดภัยคนไทยเป็นหลัก

23 ต.ค.2566 - เวลา 15.07 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินความไม่สงบในอิสราเอล-กาซา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศ โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยใช้เวลาในการประชุมเพียง 20 นาที

ต่อมาเวลา 15.24 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามความคืบหน้าของสงครามฮามาสกับอิสราเอล ข้อมูลปัจจุบันมีผู้แสดงความประสงค์จะกลับไทย 8,500 คน และถึงวันนี้มาได้ประมาณ 3 พันกว่าคน ขีดความสามารถในการนำคนไทยกลับมาได้ประมาณ 800 คนต่อวัน และสามารถเพิ่มได้อีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การที่มีคนเปลี่ยนใจไม่กลับมาเยอะพอสมควรเหมือนกัน เหตุผลหลักคือ ทางนายจ้างอิสราเอลดึงเรื่องการจ่ายเงินไปเป็นวันที่ 10 พ.ย. และมีการอัพค่าจ้างออกไปเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ แต่ทางเราได้ประชุมกันแล้ว ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการทหาร ฝ่ายการต่างประเทศ เรายืนยันว่าแม้ว่าข่าวเรื่องการถล่มจะเบาบางลงไป แต่จริงๆ แล้วความเข้มของสงครามไม่ได้ลดลงไปเลย มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และอาจจะขยายวงอีกบางประเทศที่ใกล้เคียงด้วย

“ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงจริงๆ เป็นอะไรที่เรามั่นใจว่าคงจะเลวร้ายลงไป นี่ขนาดเรียกว่ายังไม่มีเรื่องของการปฏิบัติการภาคพื้นดินเลย ซึ่งมีข่าวว่าจะมีการปฏิบัติการภาคพื้นดินในอีก 2-3 วันนี้ ตรงนี้อยากขอเตือนพี่น้องว่ากลับมาเถอะครับ หากญาติพี่น้องอยู่ที่นี่ ขอให้บอกไปที่ญาติพี่น้องที่ทำงานที่นั่นให้กลับมา ต้องขอให้กลับมา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ยังกลับได้อยู่ ถ้าเกิดมีการปฏิบัติการภาคพื้นดินเกิดขึ้น การกลับเข้ามาก็จะลำบาก เรื่องการเดินทางเข้าสู่ศูนย์อพยพเพื่อที่จะไปสนามบินก็จะลำบาก อันนี้รัฐบาลเห็นตรงกัน เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องพูดและสื่อสารให้พี่น้องทุกคนได้ทราบ”นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในที่ประชุมตนได้มอบหมายให้ รมว.แรงงาน ซึ่งรับปากจะไปดูแลแรงงานที่กลับเข้ามา โดยเพิ่มแรงจูงใจให้รีบกลับเข้ามา เพราะคนที่กลับเข้ามาได้วันละประมาณ 15,000 บาท ก็จะมีการเพิ่มค่าแรงให้อีก เพื่อให้กลับเข้ามาได้อีกเป็นจำนวนที่มากขึ้น ขณะที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นห่วงและช่วยคิดวิธีการที่เวลาแรงงานไทยกลับเข้ามาแล้วจะให้ทำงานอะไร ซึ่งแรงงานไทยที่ไปทำงานอิสเราเอลส่วนมากเป็นแรงงานภาคเกษตร ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ฉะนั้น การกลับเข้ามา ทางกระทรวงเกษตรฯ อาจจะมีความต้องการที่จะใช้แรงงานตรงนี้ จึงพยายามประกาศออกไปให้ทราบว่าถ้ากลับมาก็มีงานให้ทำอยู่ จะได้รีบๆ กลับมา

นายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการประสานความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล เราประสานทุกช่องทาง แต่ที่ไม่พูดเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคง เราใช้ทุกวิถีทาง ทั้งผ่านนายกฯมาเลเซีย รวมถึงการที่ตนไปร่วมประชุมเข้าร่วมการประชุม ASEAN – GCC Summit ที่ซาอุดีอาระเบีย ตนก็ได้พูดคุยกับกษัตริย์โอมานและบาห์เรน รวมถึงมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทุกท่านตระหนักดี และทราบถึงสถานภาพของคนไทย ซึ่งเราไม่ได้เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้งเลย และเรามีการสูญเสียที่สูงมาก มีตัวประกัน 19 คน ซึ่งต้องยืนยันว่าเวลานี้ยังไม่รู้ชะตากรรม แต่ทุกเส้นทางเราพยายามทำงานกันอยู่ มีเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของเราบินออกไป แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าบินไปไหน และพบกับใคร แต่ยืนยันว่าเราทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ พยายามทำอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่องทางที่จะนำคนไทยกลับ สะดวกมากยิ่งขึ้นใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา รมช.ต่างประเทศยืนยันว่าเราพาคนกลับได้วันหนึ่ง 800-1,000 คนสบายๆ เพียงแต่ว่าบางคนเปลี่ยนใจ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนใจเรื่องการบริหารจัดการเครื่องบินก็มีปัญหา หากจะกลับถึง 1,000 คน เราก็สามารถจัดการได้ และอยากให้แจ้งมา และขอว่าอย่าเปลี่ยนใจเลย วงเงินแค่ไหนก็ไม่คุ้มกับชีวิตหรอก

ถามย้ำว่า เรื่องการปฏิบัติการภาคพื้นดิน จุดนี้คือสิ่งที่นายกฯห่วงมากใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง หากมีการปฏิบัติภาคพื้นดินเกิดขึ้น การลำเลียงคนออกมาจากโซนต่างๆ มายังศูนย์พักพิงจะยากยิ่งขึ้น ทีนี้จะทำให้เกิดปัญหา

เมื่อถามถึงกรณีมีแรงงานบางคนเดินทางไปทำงานอย่างไม่ถูกต้อง และไม่กล้ากลับ เพราะกลัวถูกดำเนินคดีนั้น นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เรามาพูดกันทีหลังได้ ไม่มีปัญหา จัดการได้หมด ขอให้กลับมา อย่างแรกคือความปลอดภัยของแรงงานไทย ทุกคนต้องกลับมาอย่างปลอดภัย เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองหมด อย่าเป็นห่วงในเรื่องนั้น ขอให้เป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องกลับมาโดยเร็ว และขอยืนยันว่าถ้ามารายงานตัวกลับเจ้าหน้าที่ไทยกลับได้แน่นอน ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตถึงรูปแบบการเสียชีวิตของคนไทยที่ดูเหมือนถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม นายกฯ กล่าวว่า ขอสรุปอย่างนี้ดีกว่า ต้องให้เกียรติญาติพี่น้องและครอบครัว การที่จะพูดเรื่องพวกนี้ บางทีจะเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจ การสูญเสียครั้งนี้ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวอยู่แล้ว วิธีการที่เสียชีวิตเกิดขึ้นจากสงครามแล้วกัน ตนคิดว่าสรุปตรงนั้นดีกว่า อย่าไปลงรายละเอียดกันเลยว่าเป็นอะไร ต้องเห็นใจครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย อันนี้ต้องขอร้องเลย ข้อมูลเรามี แต่ไม่อยากเปิดเผย และอย่าเปิดเผยเลยดีกว่าตรงนี้ ตอนนี้ยืนยันว่าอยากให้คนไทยกลับประเทศ โดยฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานของรัฐทุกคนยืนยัน ขอให้กลับมา หากญาติพี่น้องที่ฟังการแถลงข่าวอยู่ อยากให้ไปโน้มน้าวจิตใจญาติของตัวเองให้กลับมา เงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม ทางเราก็จะพยายามดูแลให้ดีที่สุดก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปจนไม่สามารถพากลับมาได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสัมภาษณ์รอบแรกเสร็จ นายเศรษฐาได้กลับมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกครั้งว่า ขอตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่จะมีการจ่ายค่าแรงในวันที่ 10 พ.ย. ทั้งที่การจ่ายเงินควรจะต้องเป็นวันที่ 31 ต.ค. ทำให้ชวนคิดได้ว่าทำไมต้องไปจ่ายวันที่ 10 พ.ย. แสดงว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิดและเราไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม แต่คิดไปก็เป็นแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้น ในฐานะที่เป็นนายกฯหยิบประเด็นนี้มาพูดก็คิดว่าน่าจะเป็นประเด็น แต่ก็ต้องพูด เพราะจะจ่ายเงินวันที่ 10 พ.ย. แล้วถ้าก่อนหน้านั้นมีอะไรเกิดขึ้น จะได้กลับประเทศหรือไม่ ตนจึงขอให้แรงงานไทยคิดดีๆ ว่าจะอยู่หรือกลับ และตนจะโทรศัพท์หาเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ ละเอียดอ่อน และอย่าเอาเรื่องเงินมาแลกกับชีวิตของคนไทย ต้องขอร้อง และเรื่องนี้ควรจะดูแลเราให้ดีกว่านี้ ถ้าเราอยากจะกลับวันไหนก็ควรจะต้องจ่ายค่าแรง ไม่ใช่เอาเงินมาล่อให้เราอยู่ ถ้ามีการสูญเสียเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่กลัวว่าจะเกิดเป็นประเด็นดราม่าตีกลับในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ตีกลับก็ตีกลับ ผมก็ต้องรับ หน้าที่ผมคือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทยทุกคน ซึ่งพร้อมน้อมรับ” เมื่อถามว่า จะต้องมีการคุยกับทางการอิสราเอลเพื่อพูดคุยกับนายจ้างด้วยหรือไม่ นายกฯ ย้ำว่า ตนจะโทรไปคุยกับทูตอิสราเอลว่ากรณีนี้ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ส่วนจำนวนแรงงานที่ถูกยื้อเอาไว้นั้น ยังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และขอย้ำว่าให้แรงงานไทยตัดสินใจให้แนวแน่ว่าจะเดินทางกลับหรือไม่กลับ เพราะถ้ามีปฏิบัติการภาคพื้นดินเมื่อไหร่ เส้นทางถนนถูกตัดขาด ไม่สามารถจะออกมาได้ เงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก.ตร. ไฟเขียวแต่งตั้ง 43 นายพลสีกากี 'สุรพงษ์ ชัยจันทร์' ผงาดที่ปรึกษาพิเศษตร.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นประธานเพื่อประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 3/2567 โดยมีวาระการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ

นายกฯ เผย ก.ตร. มีมติส่งคำร้อง 'บิ๊กโจ๊ก' ให้ฝ่ายวินัยพิจารณาอีกรอบ ปมสั่งช่วยราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 3/2567 ว่า วันนี้วาระสำคัญของการประชุมนอกจากแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ยังมีเรื่องที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมด ทั้งที่มีต่อตนในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ตร.

นายกฯ มั่นใจคุณสมบัติ 'พิชิต' ถามกฤษฎีกาแล้ว อุบ 'มาริษ' แทน 'ปานปรีย์'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเตรียมร้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ