ปานเทพ โต้แกนนำ ก้าวไกล บิดเบือนคดีปิดสนามบิน

6 ก.พ. 2567 – นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ถึงกรณีอดีตแกนนำพรรคก้าวไกลที่พาดพิงคดีพันธมิตรฯ บิดเบือนจากความเป็นจริง

ต่อกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้พาดพิงคดีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กรณีศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาตัดสินคดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมจำเลย 8 คนได้ทำกิจกรรมชุมนุมไม่ถอยไม่ทนของเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 โดยศาลแขวงดุสิตพิพากษาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ จัดการชุมนุมในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระราชวัง พิพากษาลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 2 ปีและศาลปรับในคดีพินัย ฐานไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่เป็นเงินคนละ 10,000 บาทและฐานใช้เครื่องขยายเสียงอีก 200 บาท

เรื่องการอุทธรณ์ก็ว่ากันไป…

แต่การกล่าวให้สัมภาษณ์พาดพิงไปเปรียบเทียบกับคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง ที่ศาลอาญาตัดสินให้ปรับ 20,000 บาท เสมือนว่ามีความไม่เป็นธรรม ซึ่งความจริงเป็นคนละเรื่องกันและเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
ประการแรก มีการบิดเบือนหลายครั้งจนถึงปัจจุบันว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พันธมิตร) “ปิดสนามบิน” แต่การต่อสู้คดีหลายปีติดกัน ทำให้ศาลเห็นว่าพันธมิตรฯไม่ได้เป็นผู้ปิดสนามบินเลย

เพราะการชุมนุมในพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ฝั่งภาคพื้นดิน (Land Side) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบิน (Air Side)ใดๆเลย และการสืบจนได้ข้อยุติทั้งทางเทคนิกและกายภาพทั้งหมดก็มาจากการซักค้าน ”พยานโจทก์“ ทั้งสิ้น จึงควรเลิกบิดเบือนดังที่พยายามทำกันมาหลายปีได้แล้ว

ประการที่สอง การชุมนุมของพันธมิตรฯ พิสูจน์จากเนื้อหาของการชุมนุมว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเป็นการทำหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างคดีทุจริตคอร์รัปชั่นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปกป้องอธิปไตยของชาติ และต่อต้านการทุจริตซื้อเสียงโกงการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน ซึ่งกาลเวลาผ่านมาได้พิสูจน์ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ”เนื้อหา“ ที่ต่อสู้ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้สารภาพสำนึกผิดของนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร ว่าได้กระทำผิดจริงด้วย การชุมนุมจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการชุมนุมของพันธมิตรฯจึงใช้สิทธิ และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญด้วย “วิธีการ” ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็น “เสรีภาพ”ที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 63 ซึ่งหากจะมีการจำกัดขอบเขตของเสรีภาพในการชุมนุมและปราศจากอาวุธ หรือการลงโทษผู้ชุมนุมนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “มีกฎหมายเฉพาะการชุมนุมสาธารณะ”เท่านั้นจึงจะจำกัดขอบเขตได้ ซึ่งในขณะนั้นในปี 2551 ยังไม่มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะใดๆ จะอาศัยกฎหมายฉบับอื่นมาลงโทษผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธไม่ได้ ประเด็นนี้ก็เป็นข้อกฎหมายเช่นกัน

ต่างจากในปัจจุบันที่มีการตราพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พุทธศักราช 2558 แล้ว ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการชุมนุมอย่างละเอียดว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้ มีบทลงโทษอย่างไร ใครละเมิดก็ผิดกฎหมาย ใครทำถูกต้องตามกระบวนการก็ย่อมต้องถูกต้องตามกฎหมาย

ประการที่สาม อย่าคิดว่าคดีของพันธมิตรฯจะชนะเสมอไป เพราะคดีการชุมนุมเข้าไปในสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที การเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ศาลฎีกาก็ลงโทษจำคุกแกนนำไปแล้วเช่นกัน เช่นเดียวกับคดีความแพ่งที่สั่งให้ยึดทรัพย์แกนนำฯ ดังนั้นพันธมิตรฯจึงไม่ได้อภิสิทธิ์ใดๆ และเราก็ยังคงเคารพใช้สิทธิต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยงอแงโวยวาย ทำผิดก็พร้อมรับผิดไปตามระบวนการยุติธรรม

ประการที่สี่ ผมเองเคยมีประสบการณ์ถูกดำเนินคดีความในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในข้อหายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมต่อประชาชนเรื่องกฎหมายปิโตรเลียม ที่หน้ารัฐสภา (เดิม)ว่าอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังเช่นกัน และถูกดำเนินคดีในอีกข้อหาว่าชุมนุมโดยไม่ได้อนุญาตในกรณีความเข้าไปยื่นหนังสือเรื่องการเรียกร้องการปฏิรูปพลังงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ แปลว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะพรรคก้าวไกล

แต่คนอื่นก็สามารถถูกดำเนินคดีนี้ได้ตาม แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะดำเนินคดีใครในข้อหานี้อย่างไม่มีความระมัดระวัง
โดยทั้ง 2 คดีที่ผมถูกฟ้องร้องนั้น หลายคนคิดว่าผมไม่น่าจะชนะได้ ผมก็แสดงหลักฐานซักค้านด้วยตัวเองอยู่นานจนชนะคดีความ แต่อัยการก็ยังไม่ยอมและได้อุทธรณ์ต่อผมก็ต่อสู้จนชนะอีก อัยการก็ไม่สามารถยื่นฎีกาต่อได้ ผมเห็นว่าทีมทนายที่ต่อสู้เรื่องนี้เองต่างหากที่ยังอ่อนประสบการณ์และสู้ไม่ถูกประเด็น และบางประเด็นก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะจริงตามที่กฎหมายกำหนด

เพราะเมื่อมี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ผมก็ได้มีการแจ้งและดำเนินการตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย และไม่ใช่เรื่องยากเลยด้วย แล้วพวกคุณได้ทำหรือเปล่า

ผมว่าเอาจริงๆนะ แทนที่จะใช้เวลามาสัมภาษณ์มั่วๆ บิดเบือนจากความจริงซึ่งทำได้แค่ปลุกระดมแต่ก็ไม่สามารถชนะคดีได้อยู่ดี ลองใช้เวลากลับไปอ่านคำพิพากษาแต่ละคดีย้อนหลังว่าเขาแพ้หรือชนะด้วยการต่อสู้อย่างไร น่าจะทำให้เพิ่มพูนปัญญาและเกิดประโยชน์กว่า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิธา'ว่าไง 'ธนาธร' ว่าตามนั้น หลังศาลฟันคดีชุมนุมสกายวอล์ค อาจหลุดแคนดิเดตนายกฯ

ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์กรณีที่เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) ศาลแขวงกรณีที่ศาลแขวงดุสิต มีคำพิพากษา

‘ปานเทพ’ เบิกความปากสุดท้ายคดีพันธมิตรชุดสองปิดสนามบิน ยันไม่ได้กระทำผิด ศาลนัดพิพากษามี.ค.ปีหน้า

ที่ห้องพิจารณา 901 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย คดีหมายเลขอ.108

'ประพันธุ์' เผยศาลอุทธรณ์ยกฟ้องพันธมิตรฯ คดีควรจะต้องถึงที่สุดแล้ว หากยื่นฎีกาก็ต้องร้องอสส.

นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในจำเลยในคดีกลุ่มพันมิตรฯชุมนุมปิดล้อมสภาฯ ปี 2551 เปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ด่วน! ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้องพันธมิตรฯปิดล้อมสภาปี 51 ชี้ชุมนุมสงบ

ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีดำอ.4924/55 ที่กลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันชุมนุมที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และอดีตแนวร่วมคนอื่น ๆ รวม 21 คน