เอ้าเฮ! พักโทษ 5 ห้าม 5 ให้ 'ทักษิณ' ซดไวน์สังสรรค์ได้

กรมคุมประพฤติ เข้าพบ"ทักษิณ"บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว แจงขั้นตอนนัดรายงานตัว และเงื่อนไขระหว่างการพักโทษ "5 ห้าม 5 ให้" ดื่มไวน์สังสรรค์ได้เล็กน้อย 

23 ก.พ.2567 - จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลางของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเป็น 1 ใน 930 คน ที่ได้รับการพักการลงโทษ ซึ่งเป็นกรณี 1 ใน 8 ราย มีเหตุพิเศษที่จะพักการลงโทษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งนายทักษิณ ได้ออกจากชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่อเดินทางเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าตามที่แจ้งว่าเป็นสถานที่พักการลงโทษ ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 19 ก.พ. - 21 ก.พ. เป็นระยะเวลาที่นายทักษิณต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษจนกว่าจะพ้นโทษในเดือน ส.ค.67

ล่าสุดวันนี้ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร เป็น 1 ใน930 ผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพักการลงโทษ โดยมีเงื่อนไขคุณสมบัติผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ และเข้าพักอาศัยยังสถานที่พักโทษที่ได้มีการแจ้งไว้ คือ บ้านจันทร์ส่องหล้านั้น เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตดังกล่าว ได้เดินทางเข้าพบนายทักษิณและผู้อุปการะ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษและนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไป

สำหรับการนัดหมายรายงานตัวในเดือน มี.ค. หากนายทักษิณยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัวหรือการตรวจรักษากับแพทย์ ทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อกับผู้อุปการะว่าสะดวกให้เข้าพบยังบ้านจันทร์ส่องหล้าในวันเวลาใด หรือถ้ายังไม่สะดวกในเดือนนั้นๆก็สามารถแจ้งเลื่อนได้ แต่ถ้าอดีตนายกรัฐมนตรี มีอาการดีขึ้น สะดวกในการเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จึงขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยในช่วงเวลานั้นๆ

อย่างไรก็ตาม หลักการโดยรวมของการรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติ คือ ต้องรายงานตัวทุกเดือน โดยในแต่ละเดือนสามารถขยับวันเวลาบวกลบได้ เช่น ขยับวันเวลาการรายงานตัวเข้ามาเร็วขึ้น เพียงแค่ต้องไม่เกินปฏิทินในเดือนนั้น และถ้ารายงานตัวครบ 4 เดือน ครั้งถัดไปก็สามารถลดหย่อนได้ เป็น 2 เดือนค่อยรายงานตัว ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติรายอื่น ๆ

พ.ต.ท.มนตรี กล่าวต่อว่าส่วนข้อกำหนด ข้อห้าม หรือเงื่อนไขต่างๆระหว่างการพักโทษ คือ "5 ให้ 5 ห้าม" ซึ่งถูกระบุในหนังสือสำคัญแจ้งการพักการลงโทษ หรือใบ พ.8 ซึ่งเป็นเอกสารของกรมราชทัณฑ์ สำหรับผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ ประกอบด้วย 5 ให้ คือ 1.ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วัน 2.ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ 3.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ 4.ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ 5.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ

ส่วน 5 ห้าม คือ 1.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาตและต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้ 2.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้ 3.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด 4.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน และ 5.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ

ผู้สื่อข่าวถามว่าการไปดำรงตำแหน่งนั่งบอร์ดกรรมการหรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมืองสามารถทำได้ในระหว่างการพักโทษหรือไม่ พ.ต.ท.มนตรี กล่าวว่า ตนมองว่าในฐานะผู้ได้รับการพักโทษที่เตรียมจะกลับเข้าสู่สังคมเมื่อได้รับการพ้นโทษนั้น ระหว่างนี้ก็สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปดูว่าบอร์ดกรรมการนั้น ๆ หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมืองนั้นๆ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งโดยมีข้อยกเว้นประการใดหรือไม่

เช่น มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดมาดำรงตำแหน่งหรือไม่ เป็นต้น คล้ายลักษณะของกรณีที่บุคคลใดจะไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็จะมีข้อห้ามกำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาของศาลมาก่อน ดังนั้น ในระหว่างการพักโทษจึงยังไม่มีการห้ามในเรื่องของงานทางการเมือง เพราะอย่างไรแล้วผู้ได้รับการพักโทษ เมื่อพ้นโทษก็จะได้ใช้ชีวิตปกติและมีสิทธิในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

พ.ต.ท.มนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการติดกำไล EM ในส่วนของผู้ได้รับการพักโทษแบบปกติ จะต้องติดกำไล EM เกือบทุกราย ยกเว้นมีอาการเจ็บป่วยหนัก หรือต้องเอกซเรย์จากการประสบอุบัติเหตุ หรือมีความจำเป็นต้องถอดออกเพื่อการรักษาพยาบาล กรมคุมประพฤติก็จะทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อถอดกำไล EM ให้ได้ ส่วนผู้ได้รับการพักโทษแบบกรณีมีเหตุพิเศษฯ ถ้าเจ็บป่วยและสูงอายุจะเข้าเงื่อนไขยกเว้นให้ไม่ต้องติดกำไล EM ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการพักการลงโทษได้กำหนดไว้ โดยสอดรับกับกฎกระทรวง ว่าด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดในการติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง พ.ศ. 2560

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แก้วสรร' แพร่บทความปอกเปลือก ทักษิโณมิคส์ บวก X กลายเป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง "ทักษิโณมิคส์ + X = โครงการแจกเงินดิจิตอล" มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อคราวแรกเริ่มครองอำนาจในปี ๒๕๔๖ ของพรรคทักษิณ ที่พลิกมิติการปกครองไทยด้วยชุดนโยบายการเงินที่โหมอัดฉีดประชานิยมชนิดเข้มข้นต่างๆนานา

'ราเมศ' อัดราชทัณฑ์แจง 5 ข้อ ตอกย้ำให้เห็นกระบวนการอุ้ม 'ทักษิณ' ป่วยทิพย์

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ต้องเข้าเรือนจและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า กรมราชทัณฑ์ต้องระลึกว่าทุกคำตอบคือหลักฐานสำคัญ

กรมคุกตอบ 5 ประเด็น ปม 'หมอวรงค์' ร้อง ป.ป.ช.เอาผิดช่วย 'ทักษิณ' ป่วยทิพย์

กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจงโดยระบุว่า วันจันทร์ที่ 22 เม.ย. 2567 ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส่งข้อมูลผู้ตรวจฯ ยื่นคณะกรรมการ​ป้องกัน​และ​ปราบปราม​การ​ทุจริต​แห่งชาติ​ (ป.ป.ช.)​ ในการช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องติดคุก โดยมีประเด็นต่างๆ เพื่อเรียกร้องคำตอบให้กับสังคม นั้น