
17 ก.ย.2567- ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ว่า พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งเรากำลังยกร่างอยู่ เข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 4-5 มาตรา โดยจะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก ขณะที่ฝ่ายค้านก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภาแล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา
“สมมติว่าคุณอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติกรรม ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ทราบว่าตีความอย่างไร จึงอยากกำหนดให้หากใครถูกร้องหรือระหว่างถูกฟ้องในชั้นศาลว่าฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งจะทำให้การตีความชัดเจนขึ้น” นายชูศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องร้องเรียนหรือชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริยธรรมแล้ว จะถือว่ายังไม่มีความผิดใช่หรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยืนยันว่า ใช่ เพราะการร้องไปที่ ป.ป.ช. ยังไม่รู้ว่าเขามีความผิดแล้วหรือยัง ดังนั้น ถ้าจะสกัดกั้นคนด้วยวิธีการนี้ก็เป็นเรื่องง่ายๆ คือมีคนไปร้องป.ป.ช. ก็จะทำให้คนที่ถูกร้องได้รับผลกระทบและจบเลย
เมื่อถามว่า แสดงว่าเส้นตัดที่จะพิจารณาว่าใครเข้าข่ายขัดจริยธรรมหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริต คือศาลฎีกาต้องรับฟ้องในคดีจริยธรรมใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราคิดเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น
ซักว่า มองอย่างไรที่สังคมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นักการเมืองเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบว่า เราคิดว่าเราไม่ได้ประโยชน์อะไร และเราก็ระมัดระวังไม่ให้เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง พรรคเพื่อไทยจึงขอแก้แค่พอดีๆ ให้มีเกณฑ์มาตรฐานรับได้ ไม่ใช่เราไปยกเลิกเขาทั้งหมด และต้องการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ทำให้การปฎิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศลำบาก ซึ่งเรามองว่ามีความจำเป็นไม่ใช่ทำเพื่อให้เราได้รับประโยชน์ และเพื่อให้บ้านเมืองมีกฎหมายที่เป็นธรรมยุติธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขประเด็นเสียงข้างมากของรัฐธรรมนูญในการลงมติเรื่องสำคัญ เช่นการยุบพรรคหรือเอาคนออกจากตำแหน่ง จะต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด แทนการใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเช่นกัน โดยความคิดเรื่องสำคัญใหญ่ๆ ใช้เสียงข้างมากธรรมดาทั่วไป ยกตัวอย่างกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ 5-4 เสียง ซึ่งเราก็ใช้วิจารณญาณคิดดูว่าเรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่ จึงมีแนวความคิดว่าให้มติมากขึ้นหน่อยดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กับเรื่องจริยธรรม ให้ชัดเจส จะทำไปพร้อมกัน
ส่วนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่าเร็วที่สุดอาจจะภายในสัปดาห์หน้า ขอยืนยันว่าทำในนามพรรคการเมืองไม่ใช่รัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญจะทำแต่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดนักร้องนักยื่นตรวจสอบนั้น มีกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนจะทำให้เข้มขึ้นหรือไม่ก็ต้องมีการพิจารณาต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มนักร้องที่หวังผลทางการเมือง แต่ขอยืนยันว่าขณะนี้มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อยู่แล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐสภา มีมติ 304 เสียง เห็นชอบส่ง 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ตีความแก้รธน.
ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นชอบ จากจำนวนสมาชิกที่แสดงตนทั้งหมด 579 คน เห็นชอบ 304 เสียง
'วิโรจน์' ซัดสภาเป็นโรงลิเก หลอกต้มประชาชน ส่งศาลตีความเตะถ่วงแก้รธน.
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า วันนี้ต้องเล่าเรื่องเก่าให้เห็นเส้นเรื่องว่า การยื้อแก้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเราจำกันได้ หลังรัฐประหาร ปี 2557 สส.จำนวนมากมายหลายพรรคมีท่าทีแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
'เพื่อไทย' ไม่ท้วง ฝ่ายค้านใช้ 'บุคคลในครอบครัว' ในญัตติซักฟอก ให้ประธานสภาฯตัดสิน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติฉบับแก้ไขโดยฆ่าชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกและใช้คำว่า “บุคคลในครอบครัว” แทน
'วิสุทธิ์' เผย 'ภูมิใจไทย' ไม่ขัดข้อง ญัตติด่วนยื่นศาลตีความแก้ รธน.
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 17 มี.ค.
'รทสช.' มีมติหนุนส่งศาลตีความ ปมอำนาจสภาแก้รธน.
'รทสช.' มีมติเห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปมอำนาจสภาแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำเรื่องใหญ่ ทำประชามติใช้งบ 4 พันล้าน จำเป็นต้องรอบคอบชัดเจน
'ชูศักดิ์' โอดนักการเมืองไม่ใช่พระหลังศาล รธน.ตีตกคำร้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
'ชูศักดิ์' ยันต้องระมัดระวังเต็มที่ หากตั้งรมต. -ขรก.การเมือง หลังศาล รธน.ไม่วินิจฉัยปมซื่อสัตย์สุจริต โอดนักการเมืองไม่ใช่พระ หวังแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนแน่นอน