อย่าถึงขั้นต้องคืนตั๋ว! 'หนานแม้ว-บังนอร์' กับ 'พรรคเด็กดื้อ' เล่นเกมสุดโต่ง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านมีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน กลไกนี้ดูเหมือนจะถูกลดทอนความสำคัญลง กลายเป็นเพียงการ “เล่นเกมการเมือง” ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ

ปัญหาของญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระหรือข้อเท็จจริงที่ฝ่ายค้านต้องการตรวจสอบ

หากแต่สะท้อนถึงความคับแคบทางการเมืองของ “หนานแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร, “บังนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา และความหัวชนฝาของ “พรรคเด็กดื้อ” พรรคประชาชน ที่แต่ละฝ่ายต่างเลือก “เดินเกมสุดโต่ง” จนทำให้กระบวนการตรวจสอบในสภาเสี่ยงที่จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคยสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองอาวุโสที่ยึดมั่นในหลักการ เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล กลับกลายเป็นเหมือน “ปราการด่านสำคัญ” ในการปกป้อง “หนานแม้ว” อย่างออกหน้าออกตา?  เมื่อถึงคราวต้องจัดการกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่พาดพิงถึง “ทักษิณ” 

เหตุผลที่วันนอร์ใช้ในการกันชื่อทักษิณออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็น “บุคคลภายนอก” ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา แม้จะมีน้ำหนักในทางกฎหมาย

แต่ในทางการเมือง การตัดสินใจนี้นอกจากจะตอกย้ำข้อครหาที่ว่า รัฐบาลและแพทองธารคือ “รัฐบาลตัวแทน” และ “นายกฯ หุ่นเชิด” ที่ทักษิณเป็นผู้กำกับเบื้องหลัง

ยังอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชาติ และ “ทักษิณ-วันนอร์” โดยเฉพาะ ในกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นอย่างดีว่า ท่านได้แต่ใดมา?

ในทางกลับกัน พรรคประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ก็เลือกที่จะ “เดินเกมหัวชนฝา” โดยการยืนยันใส่ชื่อทักษิณในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่รู้ดีว่า แม้ไม่มีชื่อทักษิณอยู่ในญัตติก็สามารถอภิปรายพาดพิงได้อยู่แล้ว

การยืนกรานไม่ถอดชื่อ “ทักษิณ” อาจทำให้พรรคประชาชนดูเป็นพรรคที่ไม่ยอมใครง่ายๆ แต่วันนี้สังคมเริ่มมองเห็นแล้วว่า เป็นพรรคที่เลือกเดินเกมที่ไม่จำเป็น และขาดความยืดหยุ่น “เลือกต่อสู้แบบไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์ที่ได้ผลจริง”

หากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจล้มเหลว หรือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ความเสียหายจะไม่ใช่แค่พรรคประชาชน แต่จะเป็นความล้มเหลวของระบบตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย ที่พรรคประชาชนเองมิใช่หรือที่ยึดมั่นถือมั่นในระบบนี้?

ด้วยเหตุนี้ เมื่อสภาจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 11 เมษายน และรัฐบาลจะต้องรับทราบญัตติในคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 มีนาคม หากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในสัปดาห์นี้ อาจหมายความว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร” นายกรัฐมนตรี จะไม่เกิดขึ้นเลย

หากเป็นเช่นนั้นจริง ประชาชนจะตั้งคำถามว่า ฝ่ายค้านต้องการตรวจสอบรัฐบาลจริง หรือเพียงแค่เล่นเกมการเมืองเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง?

เมื่อ “หนานแม้ว” และ “บังนอร์” เลือกที่จะปิดกั้นการตรวจสอบ ขณะที่ “พรรคเด็กดื้อ” ยืนกรานแบบหัวชนฝา ไม่มีความยืดหยุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการทำลายภาพลักษณ์ ของกระบวนการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง

“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” นักการเมืองมากประสบการณ์ เปรียบเทียบสถานการณ์นี้ไว้ได้อย่างคมคายว่า:

“หากเป็นหนังฉาย ผมก็เหมือนคนซื้อตั๋วเข้าไปดูหนัง ปูเสื่อนั่งรอแล้ว อยู่ๆ เจ้าของหนังบอกว่า คืนนี้ไม่ฉาย ไม่พอใจคนเมาหน้างาน คนเมาบอกว่าเปิดเสียงดังไป พ่อเลี้ยงหลานอยู่ที่บ้านนอนไม่หลับ ให้เบาเสียงลงหน่อย แต่เจ้าของหนังไม่ยอมเบาเสียง และไม่ยอมฉายหนัง แต่จะใช้วิธีคืนตั๋วให้ผู้ชม เอ้า!! ผมเป็นคนดูก็เหมือนถูกหลอกสิ”

ฉายภาพให้เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายค้านที่งอนจนเกินงาม และรัฐบาลที่ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตรวจสอบ ทำให้ประชาชนที่อยากเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ถูกหลอก” เพราะสุดท้าย อาจไม่มีการฉายหนัง ไม่มีการอภิปราย และไม่มีการตรวจสอบใดๆ เกิดขึ้นเลย

ถึงกระนั้น ยังมีโอกาสที่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นจริง หากทุกฝ่ายสามารถลดเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นลง และใช้หลักเหตุผลมากกว่าอุดมการณ์ของการปกป้องใครบางคนหรือความดื้อรั้นของพรรคการเมือง

หาก “วันนอร์” สามารถรักษาความเป็นกลาง มากกว่านี้ และหาก “ทักษิณ” ที่ชอบ “เสือกทุกเรื่อง” อยู่แล้วใจกว้างเพียงพอ และหากพรรคประชาชนยอมปรับกลยุทธ์โดยไม่ยึดติดกับความคิดที่ต้อง “ชนทุกอย่าง”

กระบวนการซักฟอก หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาอย่างแน่นอน แต่หากทุกฝ่ายยังเลือกเดินในแนวทางสุดโต่ง ความเสียหายจะตกอยู่กับระบบตรวจสอบทางการเมืองเอง และสุดท้าย คนที่ต้อง “คืนตั๋ว” ก็คือประชาชน ที่ถูกบั่นทอนความหวังในการเห็นกระบวนการตรวจสอบที่แท้จริงในสภาไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ดร.ณัฏฐ์’ วิเคราะห์เกมปรับ ครม. แพทองธารใช้สูตร ‘ดองเค็ม’ สั่งสอนภูมิใจไทย

นักกฎหมายมหาชนชี้ เกมการเมืองหลังสงกรานต์ร้อนแรง รัฐบาลแพทองธารอาจไม่ยุบสภาแต่เลือก ‘ปรับ ครม.’ แบบลดบทบาทภูมิใจไทย ดองเค็มไม่ให้กล้าต่อกรกลางสภา ย้ำ กระทรวงมหาดไทย คือเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์คืนอำนาจ ก่อนศึกเลือกตั้ง 2570

'สุทิน' มั่นใจไร้เกมล้ม พรบ.งบประมาณปี 69 ทุกคนต้องรับผิดชอบ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) วุฒิสภา

'วราวุธ' อ้างคำพ่อบรรหาร หวังลดแรงกระแทกพรรคร่วม ย้ำ ชทพ.ไม่มีหมัดแลกใคร

หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มองอุณหภูมิการเมืองหลังปิดสมัยประชุมสภาจะเบาลง เพราะ ส.ส.ลงพื้นที่ เร่งทำงานให้ประชาชน พร้อมหยิบคำสอน “บรรหาร ศิลปอาชา”

ลูกใครก็ใหญ่ได้ ถ้าพ่อแม่มีอำนาจ 'ระบอบเลือดผสม' ในนามประชาธิปไตย

กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชายหนุ่มวัยยี่สิบปลายๆ ขับรถหรูพุ่งปาดหน้ารถกระบะบนถนนกาญจนาภิเษก (ทล.พ.9) กม.23+400 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี ก่อนจะลงจากรถอย่างไม่สะทกสะท้าน แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

'เทพไท' ซัดรัฐบาล-ทักษิณ ใช้ไทยฟอกขาว 'มิน อ่อง หล่าย' ปมประชุมลับกลางกรุง

อดีต สส.นครศรีธรรมราช ตั้งคำถามรัฐบาลไทย หลังมีรายงาน “อันวาร์-มิน อ่อง หล่าย-ทักษิณ” หารือลับกลางกรุงเทพฯ ชี้เป็นพฤติกรรมคลุมเครือ ทั้งในมิติการทูตและบทบาทของอดีตนายกฯ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ดร.เสรี ซัดทายาทการเมืองบางคน 'โง่ได้โล่ กร่างไร้วุฒิภาวะ' เตือนปชช.อย่าเลือกเพราะบารมีพ่อแม่

ดร.เสรี วงษ์มณฑา ฟาดแรงทายาทนักการเมือง บางคนเลี้ยงลูกให้โง่ กร่าง จองหอง แถมพ่อแม่ยังเข็นเข้าสู่อำนาจแบบไม่แคร์คุณสมบัติ เตือนประชาชนอย่าหลงเลือกเพราะบารมี ถ้าตระกูลไหน “มี DNA ความชั่ว” ควรหลุดจากการเมืองไทยเสียที