มติรัฐสภา ตีตก ร่างกม.ป.ป.ช. โอนคดีทุจริตทหารสู่ศาลอาญาทุจริต

เสียงข้างมาก 415 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับแก้ไข ที่ให้โอนคดีทุจริตของบุคลากรในกองทัพจากศาลทหารไปยังศาลอาญาคดีทุจริตฯ ขณะเสียงข้างน้อยชี้ ปล่อยให้ศาลทหารพิจารณาคดีต่อ เท่ากับประวิงเวลาและขัดหลักความยุติธรรมสากล

17 มีนาคม 2568 - ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา นายมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่..พ.ศ…..) ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไข 5 มาตรา ซึ่งเป็นการพิจาณษในสาระ 2 และวาระ 3 

ทั้งนี้ในการพิจารณาในวาระ 2 สมาชิกรัฐสภา ได้ถกเถียงถึงการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมากในมาตรา 4 ที่แก้ไขในรายละเอียดของการให้คดีทุจริตและประพฤติมิชอบส่วนของกองทัพให้โอนให้อัยการสูงสุดไปดำเนินการ โดยได้ตัดส่วนของการดำเนินคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบออกไป
 
นอกจากนั้นได้เพิ่มวรรคสองขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้การดำเนินคดีในส่วนของบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เป็นเจ้าหน้าที่กองทัพ กำหนดให้ศาลทหารยังมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารไปพลางก่อน โดยให้อัยการสูงสุดเป็นอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร

โดย กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกรัฐสภา ทักท้วงว่าการแก้ไขเนื้อหาดังกล่าว เท่ากับการคงอำนาจให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของบุคลากรในกองทัพที่มีประเด็นทุจริต และประพฤติมิชอบ ถือว่าขัดกับหลักการของการอำนวยความยุติธรรมสากล
 
อีกทั้งในการกำหนดให้ศาลทหารยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีไปพลางก่อนที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่ากับการประวิงเวลา  

นายณรงค์ ทับทิมไสย์ ตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ชี้แจงว่า ศาลยุติธรรมมีจุดยืนชัดเจน ที่ให้พิจารณาคดีทุจริตประพฤติมิชอบทุกประเภทในศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อต้องการให้การพิจารณาคดีดังกล่าวบรรลุการค้นหาความจริงด้วยระบบไต่สวน แสวงหา รวบรวมให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง พยานอย่างครบถ้วน รอบด้าน
 
"จะส่งผลให้การพิจารณาพิพากษาคดีมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม สอดคล้องกับหลักการสากลที่ยอมรับร่วมกันให้บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายศาลเดียวกัน ภายใต้ข้อหาอย่างเดียวกัน คือ หากพลเรือนทำผิดต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นกลางที่เป็นหลักความเสมอภาคของกฎหมายและอิสระของตุลาการ ที่นานาอารยประเทศยอมรับ"

นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า เมื่อรัฐสภารับหลักการย่อมมีเจตนารมณ์ชัดเจนให้ กมธ.พิจารณาให้การดำเนินคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร อยู่ในอำนาจของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือศาลพลเรือน
 
กรณีที่กมธ.เสียงข้างมาก ไม่ทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจพิจารณาคดีทุจริตผู้ถูกกล่าวหาในเขตอำนาจศาลทหาร ช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้ร่างกฎหมายไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้อยู่ในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล
 
เขา กล่าวหากบัญญัติให้ชัดเจน เหมือนกับ พ.ร.บ.อุ้มหาย มาตรา 34 ที่ให้ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบมีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดทั้งหลาย ย่อมทำให้กฎหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นชัดเจนและสร้างเจตจำนงค์ร่วมกันว่าต้องการให้กฎหมายเป็นไปทิศทางใด

“น่าเสียดายที่การประชุมในชั้นกมธ. 2 ครั้ง ผมไม่ได้อยู่ด้วยเพราะติดราชการที่ต่างประเทศ จึงไม่ได้เสนอร่างแก้ไข แต่ได้ขอสงวนความเห็นในเนื้อหา ทั้งนี้ที่กมธ. เสียงข้างมากบัญญัติไว้ถือว่าไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนของผู้บังคับใช้กฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล และจำเลยใช้โต้แย้งเพื่อประวิงคดีได้ง่าย หากบัญญัติให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน พ.ร.บ. อุ้มหาย หรือแนวทางกมธ.เสีงข้างน้อย ทำให้กฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงมีผลบังคับใช้ และไม่ถูกโต้แย้งได้ง่ายและทำให้กฎหมายของประเทศก้าวหน้า” นายณรงค์ กล่าว

ด้านนายธงทอง นิพัทธรุจิ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 และพระธรรมนูญศาลทหาร อย่างไรก็ตามในการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นมีบทกำหนดให้ศาลทหารนำไปปฏิบัติ
 
ดังนั้นวิธีการพิจารณาคดีทุจรติประพฤติมิชอบ ที่ออกตามพ.ร.บ.ฯ ที่แก้ไข นั้นเป็นการดำเนินการก่อนชั้นศาล ที่รับรองเขตอำนาจศาลทหาร ดังนั้นมาตรา 4 ที่แก้ไข ให้โอนอำนาจศาลทหารที่ทหารกระทำความผิดตามคดีทุจริตประพฤติมิชอบไปยังศาลพลเรือน ภายหลังการยกเลิกมาตรา 3 ซึ่งยกเลิกมาตรา 96 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ.2561 ซึ่งการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก เป็นการกำหนดก่อนชั้นศาลไม่ใช่ขั้นตอนในชั้นศาล ซึ่งขั้นตอนในชั้นศาลจะเป็นไปตามเขตอำนาจและวิธีพิจารณาคดีตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 199 กำหนด รวมถึงพระธรรมนูญศาลทหารกำหนด
 
"กรณีที่กมธ.เสียงข้างมากให้ชะลอตัดอำนาจศาลทหารที่พิจารณาคีดที่ทหารทำผิดไว้ก่อน เป็นเรื่องถูกต้อง เพระการแก้ไขดังกล่าวต้องโยงกับการแก้ไขกฎหมายอื่น" กมธ.เสียงข้างมากระบุ

ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่า หลักการร่างกฎหมายที่รัฐสภารับไป คือให้ยกเลิกอำนาจของอัยการสูงสุดที่ดำเนินคดีในศาลทหาร และเขียนบทรองรับให้โอนอำนาจศาลทหารในคดีอาญาทุจริตที่มีอยู่ก่อน พ.ร.บ.ฯใช้บังคับ โอนให้อัยการสูงสุดในศาลอาญาคดีทุจริตพิจารณา
 
ทั้งนี้ยอมรับว่ากมธ.เสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาตามหลักการ แต่ที่กมธ.พบคือจะเป็นปัญหา หากเห็นชอบโอนคดีให้อัยการสูงสุดทำในศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบจะปฏิบัติไม่ได้ เพราะแม้จะโอนคดีที่มีก่อนหน้าไปแล้ว แต่คดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำอย่างไร ซึ่งตัวแทนศาลยุติธรรมให้ความเห็นอย่างมีน้ำหนัก คือ มีปัญหาต่อการบังคับใช้ เพราะไม่มีบทบังคับที่รองรับเขตอำนาจในคดีที่อาจเกิดในอนาคต

ทั้งนี้ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภายังแสดงความเห็นโต้แย้งที่กมธ.แก้ไขเนื้อหาของร่างกฎหมายที่หักล้างกับหลักการของร่างกฎหมายที่มติรัฐสภารับหลักการวาระแรก จึงต้องใช้การลงมติตัดสิน ปรกฎว่าเสียงข้างมาก 456 เสียงเห็นด้วยกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 138 เสียง และเมื่อถึงการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย พบว่ามติเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก มีเพียง 24 เสียง และเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างน้อย 167 เสียง มีผู้งดออกเสียง 410 เสียง

ทำให้เนื้อหาของมาตรา 4 ถูกแก้ไขตามมติของรัฐสภา ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีบุคคล ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารในความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และบรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของอัยการทหาร ตามมาตรา 96 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.2561 ซึ่งบังคับใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป.ป.ช.นี้ใช้บังคับ ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 

จากนั้นได้เข้าสู่มาตรา 5 ที่กมธ.เสียงข้างมากเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อให้อำนาจ ประธาน ป.ป.ช. รักษาการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ​ป.ป.ช.ซึ่งมติที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มขึ้นใหม่

จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติในวาระ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 163 เสียง ไม่เห็นด้วย 415 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง จึงถือว่าประชุมแห่งไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯฉบับดังกล่าว เนื่องจากคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้เป็นอันตกไป ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นร่างที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนเป็นผู้เสนอ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กมธ.ทหาร ฮึ่ม! ส่งเรื่อง ป.ป.ช. สอบ กอ.รมน. ใช้ ม.112 จับนักวิชาการสหรัฐ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เดินหน้าเอาผิดเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. แจ้ง ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส ควรได้รับการตรวจสอบการใช้อำนาจ จาก ป.ป.ช. โดยยึดหลักความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

เปิดเบื้องลึก! ฟัน 'ภูมิ' รวยผิดปกติ ป.ป.ช. กางชื่อ 'บิ๊กการเมือง-ขรก.' โกงข้าว จ่อคิวเชือด

เปิดเบื้องหลัง ป.ป.ช. ฟัน 'ภูมิ สาระผล' รวยผิดปกติ เซ่นพิษคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี กางชื่อบิ๊กการเมือง-ขรก.ระดับสูง อยู่ระหว่างตรวจสอบ

ลุกลาม! 'สว.' พร้อมใจชูสัญลักษณ์กากบาทค้านกาสิโน หากเห็นชอบ​ เจอร้องจริยธรรม​ 'ป.ป.ช.-ศาล​รธน.'

ที่รัฐสภา สมาชิกวุฒิสภา​ (สว.) นำโดย​ นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา​ แถลงคัดค้านการนำร่างพระราชบัญญัติ

ป.ป.ช. แจงปม สตง. แจ้งผลสอบการใช้จ่ายของสำนักงาน ป.ป.ช. ปี 66 พบ 16 หน่วยงานบกพร่อง

นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงกรณีมีการนำเสนอข่าวว่า ครม.รับทราบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

'เลขาฯป.ป.ช.' คาดคดี '44 อดีตสส.ก้าวไกล' จบกลางปีนี้ เผยมารับข้อกล่าวหาไม่กี่คน

'เลขาฯป.ป.ช.' เผย คดี 44 อดีตสส.ก้าวไกล แก้ 112 มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเองไม่กี่คน ส่วนใหญ่ส่งไปทางไปรษณีย์ ยันพิจารณาพฤติการณ์รายบุคคล คาดจบกลางปีนี้