'เท้ง' โวอภิปรายนอกจากชื่อ 'ทักษิณ' อาจมีชื่อ 'ยิ่งลักษณ์' ด้วย

'หัวหน้าเท้ง' มองสิ่งสำคัญกว่าจำนวนชั่วโมง คือวันซักฟอก มั่นใจอภิปรายตอกย้ำรอยร้าว 'พรรคร่วมรัฐบาล' เป็นปัญหาหลัก เชื่อถอดชื่อ 'ทักษิณ' ทำให้พูดได้กว้างขึ้น อาจมีไปถึง 'ยิ่งลักษณ์' ด้วย

19 มี.ค.2568 - นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวย้ำถึงจุดยืนของฝ่ายค้าน ในการเจรจาเรื่องญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เราอยากให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเดินหน้าอย่างราบรื่น ซึ่งควรจะมีข้อสรุปให้ได้ ว่าตกลงแล้วจะอภิปรายภายในกรอบเวลากี่ชั่วโมง รวมถึงกติกาในการหักเวลาระหว่างกัน เช่น หากมีการประชุมก็ควรจะต้องมีการหักเวลาของแต่ละฝ่าย ไม่ให้กินเวลาของฝ่ายอื่น

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย มีมติว่าจะให้เวลาฝ่ายค้านอภิปราย 23 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาลอีก 7 ชั่วโมงนั้น นายณัฐพงษ์ มองว่า ในเรื่องเวลายังสามารถปรับยืดหยุ่นกันได้ แต่ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือจำนวนวัน ที่ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพในการประชุมสูงสุด คือต้องไม่เลิกดึกเกินไป เพราะนายกรัฐมนตรีอาจจะยังไม่สามารถชี้แจงได้มีประสิทธิภาพเพียงพอ และนายกรัฐมนตรีอาจจะยังรวบรวมประเด็นได้ไม่หมด ถ้าวันสุดท้ายเลิกดึกถึงเที่ยงคืน อีกประการหนึ่ง คือประชาชนที่รับฟังอยู่ ก็อาจจะฟังได้ไม่ทั่วถึง รัฐบาลจึงควรเปิดกว้างให้มีการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อถามว่า หากฝ่ายรัฐบาลเสนอ เวลาให้ฝ่ายค้าน 25 ชั่วโมง จะรับได้หรือไม่ นายณัฐพงษ์ ระบุว่า เรื่องเงื่อนไขของเวลายังไม่อยากพูดก่อนการประชุม เพราะอาจจะเสียมารยาท แต่ยืนยันตามหลักการว่า ต้องอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ คือประชาชนสามารถติดตามได้อย่างทั่วถึง

สำหรับเรื่องการแก้ไขญัตติ โดยเปลี่ยนจากชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคำว่าบุคคลในครอบครัว นายณัฐพงษ์ มองว่า ทำให้สามารถอภิปรายได้กว้างขึ้น และธีมในการอภิปรายครั้งนี้คือ 'ดีลแลกประเทศ' ซึ่งหมายความว่า เรามองเห็นว่าพรรคเพื่อไทยนำประโยชน์ของประเทศมาแลกกับผลประโยชน์ของคนในครอบครัว และเชื่อว่าในการอภิปรายจริง จะมีการใช้คำอีกหลากหลาย มากกว่าคำว่าบุคคลในครอบครัว เพราะคำนี้เป็นภาษาทางการในญัตติ ซึ่งค่อนข้างมีความเหมาะสม

ส่วนกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ระบุ เมื่อเปลี่ยนเป็นคำว่าบุคคลในครอบครัวแล้ว จะสามารถอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลอื่นในครอบครัวชินวัตรได้ เช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายณัฐพงษ์ เห็นว่า ก็มีความเป็นไปได้ ถ้าอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพราะเรามองว่าการบริหารที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นตัวตั้ง แต่เอาผลประโยชน์ของบุคคลในครอบครัวชินวัตรเป็นตัวตั้งมากกว่า

นายณัฐพงษ์ เปิดเผยอีกว่า ข้อมูลในการอภิปรายหลายส่วนเป็นข้อมูลเชิงลึก ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสื่อมวลชนมาก่อน ซึ่งคาดว่าคงไม่ถึงขั้นลงมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่จะมีกระบวนการยื่นฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมายต่อไป โดยใช้ข้อมูลจากการอภิปรายเป็นหลักฐาน หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถตอบชี้แจงได้ชัดเจน กระบวนการนี้ก็จะทำให้มีแนวโน้มสูง ที่จะทำให้นำไปสู่การยื่นถอดถอนได้ในอนาคต

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ประสงค์จะอภิปรายด้วยนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ต้องมีการจัดสรรเวลาให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นอยู่แล้ว แต่พรรคพลังประชารัฐจะให้ใครเป็นผู้อภิปราย ก็เป็นสิทธิ์

เมื่อถามว่า ยังยืนยันอยู่หรือไม่ หากเสียงลงมติของฝ่ายรัฐบาล หายไปแม้เพียงหนึ่งเสียง จะสะท้อนเสถียรภาพ และภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี นายณัฐพงษ์ ชี้ว่า ทุกคะแนนเสียงที่โหวตเห็นชอบให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีส่วนสำคัญ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจับตา และประเมินได้ ว่านายกรัฐมนตรีสามารถควบคุมเสียงของรัฐบาลได้จริงหรือไม่

นายณัฐพงษ์ มั่นใจว่า การอภิปรายในครั้งนี้ จะตอกย้ำรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ว่าเป็นปัญหาหลักของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งต้องรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะตอบชี้แจงเอง หรือจะมอบหมายให้รัฐมนตรีคนอื่นชี้แจงแทน ซึ่งบรรยากาศส่วนนี้จะทำให้เราเห็นประเด็นตรงนี้ได้ชัดเจนขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีมีการเปรียบเทียบระหว่างภาพปลาหมอคางดำ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กับภาพของนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ภายในทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพงษ์ ระบุว่า ภารกิจของนายกรัฐมนตรีมีความหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับผู้นำประเทศ คือการแสดงออกว่ารับรู้ความรู้สึกของประชาชนที่ประสบปัญหา ส่วนตัวคงไม่ขอให้ความเห็น ว่านายกรัฐมนตรีจะไปทำภารกิจอะไร

นายณัฐพงษ์ ยังอยากฝากไปว่า ประชาชนทุกคนมีความเดือดร้อน การแสดงออกทุกย่างก้าวของนายกรัฐมนตรีย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ณัฐพงษ์' แนะรัฐบาลยึดหลักประชาธิปไตย ไม่เลือกข้างสหรัฐ-จีน เพิ่มอำนาจเจรจากำแพงภาษี

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามดึงอาเซียนร่วมเจรจา

'พ่อนายกฯ' ชี้ต้องคุยกับ 'เมียนมา' มากขึ้น ร่วมแก้ยาเสพติด-แก๊งคอลฯ-ฝุ่นPM2.5-สารหนู

'ทักษิณ' ชี้ต้องคุยกับเมียนมามากขึ้น ร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งปมยาเสพติด-คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นPM2.5-สารหนู พร้อมปลอบคนเชียงใหม่และเชียงราย รัฐบาลเร่งจัดการ