รัฐบาลฟังทางนี้! 'คนใต้'หวังจัดสรรวัคซีนโควิด กระจายทั่วถึง รับเปิดประเทศ

แฟ้มภาพ

มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคม  ประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ อันดับแรกหวังรัฐบาลจัดสรรวัคซีนโควิดกระจายทั่วถึงทั้งประเทศ  สร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว

31 ต.ค. 2564 – ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนตุลาคม (40.20) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน (39.70)  เดือนสิงหาคม (39.40) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค  รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ผศ.ดร.วิวัฒน์  ระบุว่า โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลได้แก่ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 เดือนตุลาคม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดือนกันยายนส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดบางส่วน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และในเดือนพฤศจิกายน สถานที่ท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาเปิดทำการเพื่อตอบรับนโยบายภาครัฐในการเปิดประเทศโดยมีเป้าหมายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว (สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) รวมถึงจะมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุด้วยว่า   ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การได้รับวัคซีนมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี การส่งมอบและการจัดหาวัคซีนเป็นไปตามแผนการของภาครัฐ แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะยังมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เสี่ยง แต่เริ่มมีการจัดสรรไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอัตราการฉีดวัคซีนของไทยเข็มแรกครอบคลุม 58 % และเข็มที่สองครอบคลุม 42 % ของจำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มทรงตัวและอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าส่งผลให้ภาครัฐอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย และการปรับระดับพื้นที่จังหวัดความเสี่ยง เพื่อรองรับการเปิดประเทศ

ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุว่า นอกจากนี้ รายได้ภาคการเกษตรของพืชเศรษฐกิจภาคใต้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการบริโภคทั่วโลกที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น สร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจภาคใต้ได้อย่างมาก ซึ่งได้แก่ ราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 50 บาทต่อกิโลกรัมและยังทรงตัวในช่วงราคานี้ตลอดเดือนตุลาคม อีกทั้ง ราคาผลไม้ภาคใต้ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาปาล์มน้ำมันได้มีการปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตลอดเดือนตุลาคม ล่าสุดกิโลกรัมละ 9 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้ชาวสวนเป็นอย่างดี ทำให้ชาวสวนต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง ป้องกัน เนื่องจากมีคนร้ายเข้าขโมยตัดผลปาล์มเป็นจำนวนมาก

“โดยราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ซึ่งเป็นผลจากตลาดโลกมีความต้องการปาล์มมากขึ้น รวมทั้งสหภาพยุโรปที่นำเข้าปาล์มไปผลิตไบโอดีเซล ขณะที่ประเทศผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมีผลผลิตลดลงโดยเฉพาะบราซิลประสบภัยแล้ง ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในต่างประเทศขยับขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 42 บาท และในประเทศไทยขยับขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 44 บาท “ ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุ

ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนแล้วของจำนวนประชากรยังไม่ถึงเป้า 70% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้  เสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนการฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ และกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศโดยเร็ว อันจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 

2.  ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวนั้น ในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย อาจจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ  ดังนั้น ภาครัฐควรจะสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย โดยการเพิ่มสิทธิ์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และเพิ่มสิทธิ์ให้แก่ประชาชนที่ใช้สิทธิ์ครบแล้ว เพื่อจูงใจให้คนไทยท่องเที่ยวและใช้จ่ายในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 มากขึ้น  ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการที่รัดกุมและเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวกระทำการทุจริตได้

 ผศ.ดร.วิวัฒน์  ระบุว่า 3. ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น จึงเสนอให้ภาครัฐกำหนดมาตรการควบคุมราคาพลังงาน และควบคุมราคาสินค้าต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ค่าครองชีพสูงขึ้นจนทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน 4. ประชาชนส่วนหนึ่งเสนอให้ภาครัฐทบทวนการเปิดสถานบันเทิงในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนยังไม่ครอบคลุมจนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันหมู่  อีกทั้ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอก 1 ถึงระลอก 4 ล้วนมาจากสถานบันเทิงแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะสถานบันเทิงที่ขายแอลกอฮอล์

“โดยประชาชนมีความกังวลว่า สถานบันเทิงอาจจะเป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อีก และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอื่น ๆ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องถูกสั่งปิดกิจการอีก  โดยประชาชนส่วนหนึ่งกล่าวว่า หากภาครัฐยังยืนยันจะเปิดสถานบันเทิง และเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่  ภาครัฐจะต้องชดเชยรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด” ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าว

ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุด้วยว่า  ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 31.70 และ 34.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.70 และ 33.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.80 , 38.60 และ 32.40 ตามลำดับ

“ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็นร้อยละ 27.40 รองลงมา คือ มาตรการควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจ และค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 21.30 และ17.60 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ มาตรการรองรับการเปิดประเทศ  รองลงมา คือ การปรับมาตรการให้ธุรกิจดำเนินงานได้ปกติ  การพักหนี้ของประชาชน และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตามลำดับ” ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ยัน ร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงกับ 'เอกนัฏ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับนายกรัฐมนตรีและคณะ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริง 'ลิ่มเลือดสีขาว' ไม่เกี่ยวฉีดวัคซีนโควิด

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง ลิ่มเลือดสีขาว (White clot) และวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA จากกรณีที่มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการพบสิ่งแปลกปลอมซึ่งมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดสีขาว (White clot) ในหลอดเลือดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19

‘เทพไท’ ไม่แปลกใจ ทำไมโพล ‘ก้าวไกล’ มาแรงในภาคใต้

พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ ที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง มีความสนใจการเมือง และชื่นชอบการเมืองแบบอุดมการณ์ เหมือนในอดีตที่มีการต่อสู้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย