ดื่ม 'กาแฟ' ตอนไหนดีสุด

16 ก.ย. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ตื่นปุ๊บดื่มกาแฟปั๊บ..หรือจะรอหลังอาหารเช้าดี

แทบจะเป็นมาตรฐาน ระเบียบวิธีปฏิบัติ การดำเนินชีวิตของแทบทุกคนที่เมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องเรียกร้องหากาแฟ เพื่อปลุกให้กระชุ่มกระชวย ทั้งนี้ เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในคนทำงาน หมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหลาย และคนที่ต้องทำงานเป็นกะ ไม่เป็นเวลาประจำ

คุณภาพของการนอนเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้านอนไม่ดีเรื้อรังเป็นเวลานานจะส่งผลไปจนกระทั่งถึงการที่ทำให้ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน มีโรคอ้วน เบาหวาน ตามมา และยังได้รับการพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าทำให้มีโปรตีนไม่ดีชนิดบิดเกลียว (misfolded protein) สะสมในเนื้อสมอง…สุ่มเสี่ยงทำให้เกิดมีโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆได้ทั้งหมด

การหลับไม่ดีที่ส่งผลร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นได้ แม้ขาดการนอนที่ดีไปเพียงหนึ่งคืน ซึ่งรวมถึงการไม่ได้นอนเลย และทำงานทั้งวันทั้งคืนยืดยาวไปถึง 36 จน 72 ชั่วโมงก็มี อย่างที่เห็นในหมอ พยาบาลที่ต้องอยู่เวร และกลางวันต้องทำงานต่อ และมีโปรตีนเอมิลอยด์ ที่เป็นตัวการหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น และการนอนไม่ดี ทำให้ท่อระบายขยะ ของเสียจากสมอง (glymphatic system) ที่นำไปทิ้งยังเส้นเลือดดำทำงานได้ไม่ดี

ทั้งนี้ในสัตว์ทดลองพิสูจน์แล้วว่าการนอนที่ดีนั้นทำให้ท่อระบายขยะมีขนาดกว้างขึ้นได้ถึง 60% การนอนไม่ดีเช่นนี้ยังรวมถึงการที่นอนกระตุกเป็นช่วงๆ (sleep fragmentation) หรือมีการนอนสลับกับตื่นขึ้นมาทำงานเป็นระยะ เช่นนอนห้าทุ่มตื่นตีหนึ่งแล้วทำงานไปเรื่อยๆ และกลับมานอนอีกตอนตีห้าถึง 7 โมงครึ่ง คุณภาพการนอนที่ไม่ดีเช่นนี้ส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานในวันเวลาต่อมาและสะสมกลายเป็นพิษร้ายต่อร่างกายในหลายระบบ ที่ไม่ใช่ในสมองอย่างเดียว

ส่วนที่ต้องใช้กาแฟช่วยในกลุ่มคนทำงานในลักษณะนี้ก็เพื่อทำให้ยืนหยัดอยู่ได้และกระตุ้นไม่ให้อ่อนเพลีย ทั้งนี้ในตัวกาแฟเองเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยสุขภาพและลดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดจนกระทั่งถึงมะเร็ง (บทความสุขภาพหรรษา เรื่องกาแฟ โดยหมอดื้อ)

อย่างไรก็ตาม ในขนาดบริโภค 62 มิลลิกรัมของคาเฟอีนต่อ 100 ซีซี โดยดื่มถ้วยเดียว หรือขนาด 100 ถึง 400 มิลลิกรัม ดื่มถ้วยเดียว จะมีผลทำให้กระบวนการจัดการน้ำตาลในเลือด หลังที่กินอาหารไปแล้วเกิดความแปรปรวนขึ้นมา และเป็นที่กริ่งเกรงกันว่าการดื่มกาแฟหลังจากที่ไม่ได้นอนมาระยะหนึ่งหรือการนอนโดยที่ถูกกระตุกเป็นช่วงๆ การดื่มกาแฟดังกล่าวแทนที่ จะได้ผลดีต่อสุขภาพอาจจะเกิดผลเสียสะสมขึ้นไปอีก การศึกษาในระดับลึกอาจเป็นไปได้ว่า ภาวะผิดปกติของการจัดการระดับสมดุลของน้ำตาลและอินซูลินถูกควบคุมด้วยรหัสพันธุกรรมที่อยู่ในยีน CYP1A2 ซึ่งเป็นตัวควบคุมการขับถ่ายสลายของคาเฟอีนในตับ

การศึกษาผลของคาเฟอีนกับการจัดการน้ำตาลในเลือด ในระยะแรกๆ ที่ผ่านมา เป็นการให้กินกาแฟที่มีคาเฟอีน 65 มิลลิกรัม ก่อนหน้าที่จะนอน และกำหนดให้การนอนเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่มีคุณภาพและศึกษาในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและระดับของอินซูลิน พุ่งสูงขึ้นกว่าธรรมดา (การตรวจใช้ oral glucose tolerance test คือให้กินน้ำตาลและวัดระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดเป็นระยะ)

การศึกษาใหม่ที่สรุปในบทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการของอังกฤษ (British journal of nutrition) เมื่อกลางปี 2563 นี้ และทำการศึกษาในบุรุษและสตรีที่สุขภาพดี 29 คน โดยการศึกษาแบ่งออกเป็นสามสภาวะ…ในแบบแรกให้มีการนอนปกติและเมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

ต่อมาในแบบที่สองกำหนดให้มีการนอนกระท่อนกระแท่นโดยมีการปลุกทุกชั่วโมงเป็นเวลา 5 นาที (โดยรวมแล้วเท่ากับ 80 นาที) แล้วตอนเช้าให้ดื่มเครื่องดื่มน้ำตาล และในแบบสุดท้ายให้มีการนอนแบบมีการทารุณกรรมตามข้างต้น แต่เช้าวันรุ่งขึ้นให้ดื่มกาแฟดำเข้มข้น และอีก 30 นาทีต่อมาตามด้วยเครื่องดื่มน้ำตาล

โดยในแต่ละแบบมีการเจาะเลือดหลังจากที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไปแล้วซึ่งมีปริมาณแคลอรีเทียบเคียงกับอาหารเช้าตามปกติ

ผลการศึกษาปรากฏว่า การนอนแบบกระท่อนกระแท่นแบบถูกทารุณกรรมนั้น ไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการจัดการระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือด โดยผลที่ได้นั้นเหมือนกับการนอนอย่างมีความสุข

ในทางกลับกัน การดื่มกาแฟดำเข้มข้นก่อนอาหารเช้ากลับพบว่าทำให้ระบบการจัดการน้ำตาลและอินซูลินรวนเรและมีระดับเพิ่มขึ้นประมาณ 50%

คณะผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และสรุปให้ความเห็นว่าผลที่ได้นี้ไม่ได้คัดค้านว่ากาแฟไม่มีประโยชน์และผลต่อสุขภาพยังคงเป็นไปอย่างที่ได้รับทราบกันทั่วไป

เพียงแต่ว่าถ้าจะทำให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุดในการดื่มกาแฟตอนเช้า หลังจากที่ในคืนก่อนหน้านั้นมีการนอนอย่างทุลักทุเล ควรจะต้องดื่มหลังจากที่ทานอาหารเช้าไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะดื้ออินซูลินและทำให้ระดับอินซูลินสูงเกินไปจากที่ควรจะเป็นและระดับน้ำตาลไม่สมดุล

สรุปว่าเราก็ยังคงดื่มกาแฟดำ โดยถ้าจะใส่ครีมหรือน้ำตาลนิดหน่อยบ้าง ก็ยังคงทำได้ และยังคงดื่มอย่างมีความสุข หลังกินอาหารเช้า และแน่นอนในกลุ่มหมอและพยาบาลอย่างเรา ที่ยังคงเป็นยอดมนุษย์อยู่ได้ (ทั้งๆที่ไม่อยากเป็น) ก็คุ้ม เพราะมีกาแฟช่วยเป็นหลักอยู่ด้วย แต่หวังว่าในอนาคต ระบบการทำงาน (worktime directive) คงจะเอื้ออำนวยให้เหมือนมนุษย์มนาทั่วไป

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อสุขภาพของคนทำงานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคุณภาพของการทำงาน ความแม่นยำของกระบวนการตัดสินใจ การวินิจฉัยและการรักษาเพื่อความปลอดภัยของคนป่วยด้วยครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนิติเวช' โต้ แท่งย้วยสีขาวในคนตายฉีดวัคซีน mRNA พบได้ในผู้ตายทุกคน

นาวาตรี น.พ. อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แผนกนิติเวชศาสตร์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กล่าวถึงรณีที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาระบุว่า ในต่างประเทศพบ ผู้ฉีดวัคซีน mRNA

'หมอธีระวัฒน์' แนะกลยุทธ์ 'สมองใส'

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กลยุทธ์ สมองใส

เปิดเมนูฮิตคนไทย 2566 ‘ส้มตำปูปลาร้า-กาแฟ’ ครองแชมป์แห่งปี

“แกร็บ” เผยอินไซต์ผู้ใช้บริการเดลิเวอรีผ่านรายงาน “เทรนด์การสั่งอาหารและของใช้ในบ้านปี 2566” เผย “ส้มตำปูปลาร้า-กาแฟ” ครองแชมป์เมนูฮิตแห่งปียอดสั่งกว่า 4.4 ล้านออเดอร์และ 4.6 ล้านแก้วผ่าน GrabFood ขณะที่ “ไข่ไก่-น้ำดื่ม” ยังคงเป็นสินค้าที่ถูกสั่งมากที่สุดผ่าน GrabMart

‘ภูมิธรรม’ ปลื้มผู้ประกอบการไทย-จีน ซื้อขายมันและกาแฟกว่า 5,430 ล้านบาท 

“ภูมิธรรม” เป็นสักขีพยานลงนาม MOU ระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีน ซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กาแฟ มูลค่ากว่า 5,430 ล้านบาท คาดส่งผลดีช่วยผลักดันราคาในประเทศสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น พร้อมร่วมมือห้าง Parkson ผลักดันสินค้าไทย เดินหน้าจัดกิจกรรมขายผลไม้ไทย และหารือกับเจ้าของบริษัท Yunnan Dimiao Electronic Commerce ร่วมมือนำสินค้าไทยไปขายเพิ่มขึ้น

'หมอธีระวัฒน์' ปลุก สว. เลิก 'เนือยนิ่ง ทอดหุ่ย'

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สว. เนือยนิ่ง ทอดหุ่ย กับสมองเสื่อม