ไทยจับมือลาวลดภัยพิบัติน้ำท่วม

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภา)ฯ สภากาชาดไทย ผนึก สปป.ลาว เฝ้าระวัง เตือนภัยน้ำท่วม ติด 11 สถานีโทรมาตรอัตโนมัติในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ลดสูญเสีย รมว.มส.ลาว เผยประเทศเผชิญภัยแล้ง-น้ำท่วม-ดินถล่ม จากโลกร้อน

16 พ.ย.2565 – มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) โดยนางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย“ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร เพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัย ระหว่างมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

ในโอกาสนี้ มูลนิธิฯ ได้ส่งมอบสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สภาพอากาศ และระดับน้ำ ระยะที่ 1 จำนวน 11 สถานี และมอบเกียรติบัตรให้เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพ (Capacity Building) การใช้ระบบการเฝ้าระวัง การเตือนภัย จำนวน 3 คน ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

ศ.พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ กล่าวว่า จากอุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้น ณ แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนชาวลาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่วอย่างมาก เมื่อความทราบถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ทรงมีความห่วงใยและทรงมีรับสั่งให้มูลนิธิฯ มอบเงินสมทบช่วยเหลือและถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ประเทศไทยและสปป.ลาวมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกัน หากเราสามารถป้องกันความเสียหายได้ ทั้งสองประเทศก็พ้นวิกฤตหรือปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน มูลนิธิฯ จึงรับสนองพระดำริและนำมาหารือกับผู้นำระดับสูงของสปป.ลาว จนเกิดการจัดทำบันทึกความใจในครั้งนี้ 

“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะเร่งด่วน มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเฝ้าระวังอุทกภัย โดยได้ดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สปป.ลาว จำนวน 11 สถานี กระจายตัวครอบคลุมตั้งแต่ตอนเหนือสุด คือ แขวงบ่อแก้ว ไปจนถึงตอนใต้สุด คือ แขวงสาละวัน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ต่อมา ในการประชุมร่วมคณะผู้รับผิดชอบของ 2 ฝ่าย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาและขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมพื้นที่ใน สปป.ลาวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 72 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สปป. ลาว ในปี 2565 นี้ โดยความร่วมมือในระยะที่ 2 นอกจากจะมีการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอีก 9 สถานีแล้ว ยังจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงเรื่องของการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังป้องกันภัย การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ และการให้การช่วยเหลือประชาชนระหว่างเกิดภัยพิบัติ การศึกษาดูงานในด้านโทรมาตรและการสร้างเครือข่ายเตือนภัยในระดับชุมชน รวมทั้งการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว”ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว

​ด้าน นางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนา ในโลกที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติหลายประเภท เกิดน้ำท่วมและดินถล่มบ่อยครั้งในทุกภูมิภาค ส่วนบางปีเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ลาวยังประสบกับปัญหาศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การป้องกันและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา

​“ ในโอกาสอันรุ่งโรจน์นี้ ข้าพเจ้าขอเป็นตัวแทนรัฐบาลของ สปป. ลาว รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงความขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้การสนับสนุนการติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำอัตโนมัติ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์และการแลกเปลี่ยนบทเรียนต่างๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้ และสามารถบริหารจัดการระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาได้ผลดี อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองประเทศให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข”นางบุนคำ กล่าว

​เมื่อเสร็จสิ้นพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ศ.พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษาและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่าย เดินทางไปยังกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เพื่อเปิดสถานีโทรมาตรอัตโนมัตินำร่อง ระยะที่ 2 ณ กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ โดยมูลนิธิฯ จะดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ระยะที่ 2 ทั้งหมดจำนวน 9 สถานี ใน 9 แขวงที่เหลือของ สปป.ลาว พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานและการนำข้อมูลจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติมาใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันภัยของเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ ณ ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ

​นายแก้ว อุ่นละวง นักวิชาการอุตุนิยมและแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เข้าอบรมหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพ (Capacity Building) การใช้ระบบการเฝ้าระวัง การเตือนภัย ได้เผยถึงประโยชน์ของสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่รับจากมูลนิธิฯ กล่าวว่า จากการใช้งานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติมาเกือบหนึ่งปี ช่วยให้การพยากรณ์น้ำและการเฝ้าระวังสามารถทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นระบบอัตโนมัติรายงานสถานการณ์น้ำทุกๆ 30 นาทีเข้าสู่ระบบ ช่วยลดระยะเวลาในการเก็บข้อมูลและประมวลผล ไม่เพียงแค่เรื่องน้ำ แต่โทรมาตรนี้ยังสามารถติดตามรายงานผลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ของเราในอีกหลายด้านเพื่อให้มีการใช้งานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่ได้รับจากมูลนิธิฯ อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สปป.ลาว ต่อไป

​ในโอกาสนี้ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะนางปานี ยาท่อตู้ รองประธานประเทศ สปป.ลาว ณ สภาแห่งชาติลาว โดยได้หารือถึงการพัฒนาความร่วมมือในการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทุกแขวงใน สปป.ลาว การจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยระดับชุมชนใน สปป.ลาว และการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สปป.ลาว เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ  โดยฝ่าย สปป.ลาว ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อความร่วมมือดังกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความช่วยเหลือของไทย ส่งถึงมือชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ในเมียนมาร์แล้ว

ผู้แทนสภากาชาดเมียนมาได้ร่วมกับผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่แจกจ่ายสิ่งของความช่วยเหลือดังกล่าวให้แก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons: IDPs) ซึ่งอพยพหนีการสู้รบมาจากหลายพื้นที่และมาพักพิง

ไทยมอบความช่วยเหลือเมียนมา หวังนำร่องทุกกลุ่มกลับสู่โต๊ะเจรจา

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกองทัพบก สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทบ. หนุน สภากาชาดไทย -กต. ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมา

ทบ. สนับสนุนสภากาชาดไทย -กต. ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาภายในประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล เริ่มส่งความช่วยเหลือจันทร์นี้

ม่วนซื่นพี่น้องไทยลาว 'บิ๊กป้อม' ยกทีม พปชร.ข้ามโขง กระชับความสัมพันธ์ 'นายกฯสปป.ลาว'

“ประวิตร” ยกทีม พปชร.เยี่ยมพบปะหารือ”นายกฯสปป.ลาว”กระชับความสัมพันธ์ แก้ฝุ่น P.M 2.5 ชายแดน หนุนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อ ปชช.สองฝั่งโขง