แอปฯ 'Eartest by Eartone' ตรวจการได้ยินหา'ภาวะเสี่ยงสมองเสื่อม'

” สมอง ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่คอยควบคุมสั่งการของหู เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการได้ยิน   ดังนั้นกระบวนการทำงานหูอาจถูกกระทบได้ถ้าสมองทำงานผิดปกติ การทดสอบการได้ยินจึงเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่ามีอาการเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ….”

หนึ่งในความกังวลของโรคภัยในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ คือ “ภาวะสมองเสื่อม” ซึ่งในประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว มีผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 18.94% ของประชากรทั้งหมด( ประชากรไทยในปี 2565 มากกว่า 66.09 ล้านคน) การตรวจเช็คปัจจัยเสี่ยง ที่บ่งบอกว่า ผู้สูงวัยอาจจะมีภาวะสมองเสื่อม จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการตั้งรับและป้องกันภาวะนี้ได้

ปัจจุบันประเทศไทย ใช้การตรวจภาวะสมองเสื่อม โดยการถ่ายภาพสมอง CT Scan หรือการทำ MRI ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง  หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ การทำแบบคัดกรองโดยแพทย์เฉพาะทาง   ด้วยเหตุนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้หาวิธีการตรวจรูปแบบใหม่ ๆ ที่สะดวก มีค่าใช้จ่ายไม่มาก และสามารถเข้าถึงผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง  โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ทำการวิจัยพัฒนาแอปพลิเคชัน “Eartest by Eartone”  ซึ่งเป็นแอป สำหรับตรวจการได้ยินด้วยคำพูดภาษาไทย  ภายใต้โครงการ Tranforming System through Partnership ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Royal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่าในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยนั้น จะมีโอกาสมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ได้มีการนำองค์ความรู้จากประเทศอังกฤษ มาสร้างห้องแลปไร้เสียงสะท้อนที่จำลองสภาพเหมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ ด้วยคำพูดภาษาไทย เพื่อใช้ทดสอบการได้ยินและความสามารถในการประมวลผลเสียงพูดในระดับสมอง เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทั่วไป จึงได้พัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเป็นตัวคัดกรองเบื้องต้น  เพื่อประเมินว่าผู้เข้ารับการตรวจ เข้าข่ายความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่  หรือใช้ตรวจการได้ยินและความสามารถในการจับใจความจากจากคำพูดและประโยคที่เป็นภาษาไทยได้หรือไม่ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุซึ่งยังไม่สามารถรักษาให้หายได้

Stuart Rosen อาจารย์ภาควิชา Speech Hearing and Phonetic Sciences, University College of London(UCL) กล่าวว่า ในช่วงระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากมาย ทั้งในส่วนของการบันทึกเสียงพูด การสร้างแบบทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้คำพูด อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่า คำพูดมีหลากหลายภาษา ทำให้ตนกำลังเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาอื่นๆ และภาษาหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ ภาษาไทย เป็นตัวอย่างของภาษาที่มีเสียวรรณยุกต์ ไม่เหมือนภาษาทางยุโรป โดยการแปรผันของระดับเสียงบ่งบอกถึงความหมายที่แตกต่างกันในภาษาไทย เช่น ถ้าพูดคำว่า มา ซึ่งจะแตกต่างจากคำว่า หมา แต่ในภาษาอังกฤษไม่มีอะไรทำนองนี้

“ผมเคยมีประสบการณ์กับเสียงภาษาที่มีวรรณยุกต์มาก่อนอย่าง ภาษากวางตุ้ง โยรูบาและจีนกลาง นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คุณเข้าใจวิธีการในการรับรู้คำพูดภาษาต่างๆ จึงคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพราะความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เราได้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจลักษณะเฉพาะของภาษาอื่นๆ”  Stuart กล่าว

ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

ด้าน ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คาดการณ์ว่า ในประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี จำนวน 12 ล้านคน ในจำนวนนี้เฉลี่ย 5-10% หรือประมาณ 1 ล้านคน ที่อาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) โดยประเภทของภาวะสองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือ อัลไซเมอร์ มีอาการหลักๆคือ จดจำเรื่องราวได้ระยะสั้นเป็นความทรงจำเฉพาะตัว รองลงมาคือ ภาวะสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งการตรวจในปัจจุบันก็จะมีการสแกนสมอง ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้ จึงต้องมีอีกวิธีคือ การทำแบบคัดกรองโดยแพทย์ แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาอาการสมองเสื่อมให้หายได้ จึงอาจส่งผลให้เกิดความยากลำบากต่อครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันหรือค่าใช้จ่าย

ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร กล่าวอีกว่า จากการศึกษาของต่างประเทศได้มีการรวบรวมข้อมูลถึงปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมที่สามารถแก้ไขได้ หนึ่งในนั้นข้อสำคัญคือ การได้ยิน แม้ว่าในผู้สูงอายุอาจจะมีอาการตามช่วงวัยปกติคือ หูตึง หรือหลงๆลืมๆ บ้าง แต่หากเมื่อไหร่ที่มีอาการหลงลืมชื่อของสิ่งนั้นๆไปเลย ก็ควรที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองการได้ยินเพื่อความสบายใจ และสามารถวางแผนรับมือหากพบว่ามีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อม

ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร

ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน คณะแพทยศาสตร์  จุฬาฯ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ทางองค์การอนามัยโลก( WHO) ได้ออกประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าด้วยเรื่องของผู้สูงอายุตั้งแต่ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปทุกคนควรมีการตรวจการได้ยินเบื้องต้น เพื่อประเมินอาการการได้ยิน สำหรับประเทศไทยผู้สูงอายุเริ่มมีความกังวลและให้ความสนใจที่จะเข้ารับการตรวจการได้ยิน ซึ่งหากมาที่โรงพยาบาลเป็นจุดหมายเดียวกันอาจจะไม่เพียงพอต่อการรองรับ ดังนั้นในยุคที่มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต การตรวจเบื้องต้นควรจะทำอยู่ที่บ้านได้ จึงทำให้ทีมนักวิจัยไทยได้มีแนวคิดในการวิจัยพัฒนาเกี่ยวการตรวจการได้ยินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อประเมินการได้ยินด้วยตัวเอง ก่อนที่จะเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ผู้ที่รับการทดสอบแล้วพบว่าประสบปัญหาทางด้านการได้ยินสามารถใช้สิทธิ์ในการเบิกเครื่องช่วยฟังได้ จึงอยากให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์ว่าสมควรต้องใส่เครื่องช่วยฟังสามารถใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในอนาคต

ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล

ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลในส่วนของห้องไร้เสียงสะท้อนที่ใช้เทคนิคเทคนิคภาพจำลองเสมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ เพื่อประเมินการแปลผลของสมองว่า สมอง ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่คอยควบคุมสั่งการของหู เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการได้ยิน   ดังนั้นกระบวนการทำงานหูอาจถูกกระทบได้ถ้าสมองทำงานผิดปกติ การทดสอบการได้ยินจึงเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่ามีอาการเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ดังนั้นภายในห้องทดลองจะประกอบไปด้วย ลำโพง 8 ตัวที่มีเสียงเข้ามาจากทิศทางต่างๆ แต่ละตัวทำมุม 30 องศา ตรงกลางห้องจะเป็นเก้าอี้ให้ผู้ทดสอบไว้นั่งฟังเสียงลำโพงแต่ละตัว ผนังทุกด้านทำจากวัสดุรูปลิ่มดูดซับเสียงกันเสียงสะท้อน โดยจะให้อาสาสมัครที่มีการได้ยินปกติทดลองก่อนในระยะแรก ก่อนจะทดลองระยะต่อไปในผู้ป่วยจริง เพื่อฟังเสียงพูดและเสียงรบกวนพร้อมๆ กัน เป็นการประเมินความสามารถจับใจความจากประโยคที่ได้ฟังได้ในระดับใด นำไปสู่การประมวลผลเสียงพูดในระดับสมองต่อไป

“สำหรับการตรวจการได้ยินผ่านแอปพลิเคชันโดยเชื่อมต่อกับหูฟัง ที่ใช้คลื่นความถี่เดี่ยวใช้เทคนิคแหล่งกำเนิดเสียงแบบเสมือนในอนาคต พร้อมกับตรวจการจับใจความคำพูดเป็นภาษาไทยสั้นๆ ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถใช้ตรวจระดับการได้ยินได้ ซึ่งการพัฒนานี้หากมีประสิทธิภาพก็จะวามารถต่อยอดเป็นระบบซอฟแวร์ใช้ในโรงพยาบาลต่างได้ด้วย” ดร.ยุทธนา กล่าว

ผู้สนใจทดสอบการได้ยิน สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Eartest by Eartone ได้ฟรีทั้งโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในระบบ IOS และ Android.

ห้องไร้เสียงสะท้อน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อภัยภูเบศร' ยกผลวิจัยทั่วโลกระบุชัด 'บัวบก' ป้องกันสมองเสื่อม

อภัยภูเบศร ยกผลวิจัยทั่วโลกระบุชัด 'บัวบก' ป้องกันสมองเสื่อม แต่การปลูกควรเป็นระบบอินทรีย์ ชวนพบผู้เชี่ยวชาญแนะนำได้ในงานเสวนา 'รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอเสื่อม' ได้ฤกษ์แจกบัวบกยักษ์ ศาลายา1 18 พ.ย. นี้