ชุมชนบ้านแปดอุ้ม..รักษ์ไม้พะยูง นำร่องใช้นวัตกรรมNCAP ‘ต้นแบบ’จิตอาสาเฝ้าระวังป่า 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีป่าไม้พะยูงที่สมบูรณ์  ในขณะที่การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกำลังขยายวงกว้างขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกขานกันว่า “สามเหลี่ยมมรกต”  ซึ่งเป็นตะเข็บชายแดนเชื่อมระหว่างประเทศไทย-ลาว-กัมพูชา 

​ป่าบริเวณอำเภอน้ำยืน ของจังหวัดอุบลราชธานี จึงกลายเป็น “เป้านิ่ง” ที่บรรดา “มอดไม้” แก๊งลักลอบตัดไม้เพื่อส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จ้องตาเป็นมัน เพราะความต้องการไม้เนื้อแข็งลายงดงาม อีกทั้งมีชื่ออันเป็นมงคลยังมีอย่างต่อเนื่อง และสนนราคาก็สูงจนพ่อค้าและกลุ่มผู้มีอิทธิพลในบริเวณสามเหลี่ยมมรกตยอมเสี่ยง ทั้งๆที่เป็นการลงทุนที่ผิดกฎหมายก็ตาม

​ทั้งนี้ สถิติย้อนหลัง 8 ปี จากปี 2553 ถึง 2561 ไม้พะยูงทั่วประเทศไทย ถูกลับลอบตัดไปถึง 6,100 ตารางเมตร หรือประมาณพื้นที่สนามฟุตบอลของสนามกีฬาแห่งชาติ คิดเป็นมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท สถิติความเสียหายทางกฏหมายและเศรษฐกิจเพื่อลดความเสี่ยงด้านป้องกันคิดเป็นจำนวน 51,100 ท่อน ไม้พะยูงถูกลักลอบตัด4,450 จำนวนคดี จากผู้ต้องหา 2,827 ราย

การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ถือเป็นการช่วยปกป้องและอนุรักษ์ไม้พะยูงให้อยู่ในป่าของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน 

โครงการนำร่องนวัตกรรม NCAP 

​ “ป่าชุมชนบ้านแปดอุ้ม” ในตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน ของอุบลราชธานี เป็นป่าที่อยู่ในเขตสามเหลี่ยมมรกต และสามารถกล่าวได้ว่า เหลือต้นพะยูงอยู่ในพื้นที่ป่ามากที่สุดในภาคอีสาน 

ป่าชุมชนที่มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ กับต้นพะยูงกว่า 20 ต้น จึงเป็น “ต้นแบบ” ของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังรักษาป่าพะยูง และเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เรียกว่า NCAP (เอ็นแคป) มาเป็นตัวช่วยในการเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบตัดไม้ในป่า ภายใต้การสนับสนุนของ UN-REED (โครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา) ร่วมกับกรมป่าไม้และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

“แคทรีนา บอร์โรมิโอ”  เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสาร โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) อธิบายว่า บ้านแปดอุ้ม เป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงพลังและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐในการปกป้องพื้นที่ป่าจากการถูกทำลาย 

​“ โมเดลบ้านแปดอุ้มเรียกร้องให้สมาชิกในชุมชนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร เฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในป่าอย่างใกล้ชิด โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบพฤติกรรมต้องสงสัยหรือการลักลอบตัดไม้ชาวบ้านสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันทีผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น แอปพลิเคชันพิทักษ์ไพรของกรมป่าไม้ ” บอร์โรมิโอ กล่าว

​ นายจงสถิตย์ อังวิทยาธร ผู้ประสานของ UN-REDD เน้นย้ำว่า การดูแลป่านั้น นอกจาก software และ hardware แล้ว  peopleware เป็นส่วนสำคัญที่สุด ซึ่งบ้านแปดอุ้มได้ทำหน้าที่จิตอาสาในการเฝ้าดูแลผืนป่าชุมชนของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม เพราะ “ผู้นำ” หรือผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำงานทางความคิด สร้างความเข้าใจของสมาชิกในชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของป่า ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแข็งขันในการตรวจสอบพื้นที่บ้านของพวกเขา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และยังส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอนุรักษ์ป่า

​” ก่อนหน้านี้มีความรุนแรงมากในการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ปี 2558 -2559 รุนแรงที่สุด โครงการนำร่องที่แรกของประเทศที่ใช้กล้อง NCAP ซึ่งปกติใช้กับอุทยานเท่านั้น เป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านในการระวังรักษาป่า ลดปัญหาความรุนแรงระหว่างคนลักลอบตัดไม้และชาวบ้าน   มันเป็นระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว ช่วยในเรื่องภาพถ่ายเก็บเป็นหลักฐาน ชาวบ้านมีแอป เมื่อมีใครเข้ามาบุกรุก ก็จะขึ้นบนจอมือถือทันที และชาวบ้านก็จะแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ได้ ” นายจงสถิตย์ อธิบาย 

4 นวัตกรรมพิทักษ์ป่า

อ้อมจิตร เสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการตรวจจับผู้กระทำผิด เช่น แอปพลิเคชัน “พิทักษ์ไพร” ระบบการลงทะเบียนต้นไม้ e-Tree รวมถึงระบบกล้อง NCAP  ที่ในการตรวจจับผู้ต้องสงสัย รวมถึงใช้โดรนในการบินตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตรวจจับและแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ได้อย่างทันท่วงที

“เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ที่บ้านแอปดอุ้ม จ.อุบลราชธานี ซึ่งแสดงออกถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผสานการทำงานร่วมกับชุมชนและภาครัฐ” อ้อมจิตร กล่าว 

​ แอปพลิเคชัน พิทักษ์ไพร เป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่สามารถส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการบุกรุกในพื้นที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์ไฟป่าได้อย่างทันท่วงที 

​นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัล e-TREE ที่มุ่งยกระดับการติดตามและตรวจสอบการบริหารจัดการป่าไม้ ช่วยในการขึ้นทะเบียนต้นไม้และตรวจสอบย้อนกลับต้นไม้ ซึ่งพิสูจนแล้วว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ NCAP เป็นระบบการทำงานระยะไกล ที่ประกอบด้วยกล้องและเซ็นเซอร์เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่เสี่ยง ทำงานร่วมกับหน่วยลาดตระเวนภาคพื้นดินซึ่งสามารถบันทึกและแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ เมื่อตรวจพบการเคลื่อนไหวที่น่าสงสัยผ่านกล้องได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงของการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในพื้นที่ และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้ กล้องยังสามารถบันทึกภาพเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีในชั้นศาลได้อีกด้วย ความสามารถนี้ช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในป่าของชุมชนโดยรอบได้ดีขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงในการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

บ้านแปดอุ้มจึงเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์ป่า ที่ชุมชนทำงานประสานกับหน่วยงานรัฐ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องราวความสำเร็จนี้เป็นกรณีศึกษาสำหรับชุมชนอื่นๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถปรับตัวและใช้รูปแบบการคุ้มครองป่าโดยชุมชนที่คล้ายคลึงกับกรณีของบ้านแปดอุ้มได้  

​ท้ายที่สุดการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ UN-REDD เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ด้วยความพยายามร่วมกัน UN-REDD ให้อำนาจแก่ชุมชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนซึ่งจะอนุรักษ์ป่าไม้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

peopleware หัวใจสู่ความยั่งยืน

​นอกจากเทคโนโลยีทันสมัย เครื่องมือที่พร้อม แรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างสหประชาชาติแล้ว ไม่อาจมองข้ามความสำคัญของ “จิตอาสา” ในชุมชน ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าชุมชนที่บ้านแปดอุ้มกลายเป็น “ต้นแบบ” ของการเรียนรู้อยู่กับป่า และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่าที่มีต่อชุมชน สังคม ไปจนประเทศ และโลกภายนอก 

นายบุญทัน พรมโคตร์ ผู้ใหญ่บ้านทุ่งสมเด็จ หมู่ 17 ตำบลโดนประดิษฐ์   แสดงความรู้สึกแทนชุมชนบ้านแปดอุ้มที่ได้รับการชื่นชมหยิบยกเป็นต้นแบบและเป็นพื้นที่นำร่องในการใช้นวัตกรรม NCAP เป็นแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อการดูแลเฝ้าระวังป่าว่า ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ป่าไม้  การได้ความรู้จากUN-REDD  และการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้ชาวบ้านผ่อนคลาย การนำกล้องมาติดในป่าเป็นเครื่องมือที่ดี ช่วยให้เก็บข้อมูลได้ ถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้ 

​” ตั้งแต่มีการบังคับใช้ พรบ.ป่าชุมชน ชาวบ้านอยู่กับป่าได้สบายขึ้น รู้สึกว่าป่าเป็นของตัวเอง และต้องช่วยกันดูแลรักษา เหมือนมันเป็นทรัพย์สมบัติของเรา” ผู้ใหญ่บุญทัน กล่าว และย้อนความหลังว่า เมื่อก่อนนั้น แค่ชาวบ้านเข้าไปเก็บเห็ดในป่า หรือเก็บไม้มาทำฟืน ก็จะถูกจับ จนเกิดการต่อต้าน แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้โดยมีขอบเขต และมีการทำความเข้าใจกันและกันว่า อะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้  

​อย่างไรก็ตาม คนหมู่มาก ย่อมมีอุปสรรคอยู่บ้าง ท่ามกลางจิตอาสาเข้มแข็ง ที่มีการแบ่งเวร และแบ่งทีมกันเฝ้าระวังต้นพะยูงในป่าชุมชนบ้านแปดอุ้มที่เหลืออยู่มากที่สุดในอุบลราชธานีอย่างเอาจริงเอาจังนั้น ก็ยังมีชาวบ้าน บางส่วนใช้วิถีชีวิตเดิม  เผาป่าถากถางปลูกมันสัมปะหลัง  ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

​ ” NCAP ช่วยพวกเราได้เยอะมาก แรกเริ่มเราได้มา 4 ตัว แต่ติดไปแค่ 1 เดือนก็ถูกขโมยไป 1 ตัว ซึ่งก็ต้องช่วยกันกำจัดอุปสรรคแบบนี้บ้าง และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ต้นพะยูงอายุกว่า 20 ปีในวัดป่าแปดอุ้มเจริญธรรมก็ถูกมือดีตัดไปเหลือแต่ตอ  NCAP ช่วยให้เห็นกลุ่มคนที่เข้ามา และบันทึกไว้ทุกนาที ชาวบ้านที่ได้รับสัญญาณเตือน ก็เร่งรีบจะไปสกัด แต่ก็เกิดอุบัติเหตุอาวุธปืนในมือขัดลำกล้อง จึงได้แต่นำหลักฐานไปให้เจ้าหน้าที่ติดตามหากลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูงต่อไปเท่านั้น” นายบุญทันเล่า 

​ในขณะที่บรรดาจิตอาสา ก็ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆ อย่างกระตือรือร้นว่า  แก๊งลักลอบตัดต้นพะยูงจะมากันเป็นกลุ่มอย่างน้อย 3 คันรถ พร้อมเครื่องมือเลื่อยยนต์ที่ทันสมัย แม้พวกเขาเห็น ก็ไม่อาจจะเข้าไปปะทะได้ ” อยากเสนอว่า เราควรจะเพิ่มเสียงหวอขึ้นมา พอได้ยินเสียงเตือนจาก NCAP ว่ามีผู้บุกรุก และเห็นจากกล้อง หากมีเสียงหวอดังตามออกมา บรรดาแก๊งลักลอบน่าจะตกใจ เพราะชาวบ้านทั้งชุมชนก็ต้องตื่นขึ้นมาทั้งหมด ไม่ใช่แค่จิตอาสาที่อยู่เวรยามเพียง 4-5 คนต้องเผชิญหน้าแค่กลุ่มเดียว ” 

..ความรู้สึกและความเห็นของจิตอาสาและชาวบ้านในชุมชนบ้านแปดอุ้ม ไม่ว่าจะสบายใจ คลายกังวล หรือยังคงเคร่งเครียดกับการดูแลเฝ้าระวังป่าพะยูงที่เหลือน้อยเต็มที ต้องนับว่าเป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงการได้รับการยกย่องเป็น “ต้นแบบ” จิตอาสาเฝ้าระวังไม้พะยูง และบรรลุเป้าหมายของโครงการโดยความร่วมมือของสหประชาชาติและกรมป่าไม้ เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยชุมชนและเพื่อชุมชนนั่นเอง 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทส. ส่งมอบความสุขวันสงกรานต์ 13-15 เม.ย. ยกเว้นค่าบริการท่องเที่ยวป่านันทนาการ 3 แห่ง

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปแบบป่านันทนาการ

อ.อ.ป. ผสานความร่วมมือ กรมป่าไม้ และ ม.เกษตรฯ ลงนามความร่วมมือ “โครงการขยายผลงานวิจัยไม้เศรษฐกิจพันธุ์ดีสู่ประชาชน”

วันนี้ (29 มีนาคม 2567) นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และ นายดำรง ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

บุกรุกป่าสงวน ตัดไม้เผาป่าเสม็ด ลอบปลูกปาล์มน้ำมัน หวังขายต่อนายทุนท่องเที่ยว

ผอ.สำนักบริหารจัดการป่าไม้ 12 กระบี่ คาดโทษ หาก จนท.รู้เห็นให้มีการบุกรุกป่าเสม็ด ย้ายออกจากพื้นที่ หลังไฟไหม้ป่า มีการบุกรุกป่าเสม็ด เกาะลันตาเป็นจำนวนมาก

กรมป่าไม้จัดกิจกรรม“วันป่าไม้สากล ปี 2567” จ.กาญจนบุรี

วันที่ 21 มี.ค. 67 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้นายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

'อังคนา' เผยสหประชาชาติจี้ไทยรับผิดชอบการสูญหายของ 'ทนายสมชาย' เมื่อ20ปีก่อน

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวสตรี ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่หายสาบสูญ โพสต์ข่าวสารจากเว็บไซต์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า

ป่าไม้ลุยทวงคืนสมบัติชาติ นายทุนบุกรุกปิดกั้นหาดนุ้ยภูเก็ต สั่งรื้อถอนใน 30 วัน

นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมกับ พ.ต.อ.ธีรวัฒน์ เลี่ยมสุวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นำกำลังตำรวจสภ.กะรน ,ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ,ตำรวจภูธรภาค 8 ฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต และกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำหน่วยป้องกัน