'เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์' ปั้นเยาวชนน่าน 'กล้าสร้างธุรกิจ'

บรรยากาศเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์รุ่นที่ 1

ากความสำเร็จของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาน่าน  ที่มีรูปแบบการเรียนรู้จากการทำโครงงานเกี่ยวกับเรื่องราวใกล้ตัว หรือ  RBL (Research-Based Learning) RBL (Research-Based Learning) เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ปฏิบัติ และการพัฒนาทักษะคิด โดยมีครูผู้สอน เปลี่ยนบทบาทป็นโค้ช ผู้ชี้แนะ หรือเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นักเรียน ส่วนนักเรียนเปลี่ยนจากผู้รับความรู้จากครูโดยตรง มาเป็นผู้ที่ต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยมีหลักคิดสำคัญ 3 ข้อ คือ ถามคือสอน สะท้อนคิดคือเรียน และเขียนคือคิด

 โดยตลอดระยะ 3 ปีของโครงการฯ ในจ.น่าน  ตั้งแต่ปี 2562-2565 ได้สร้างโรงเรียนต้นแบบถึง 30 แห่ง ครูเข้าร่วมโครงการ 161 คน เด็กนักเรียน 1,277 คน นับเป็นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาไทย ด้วยหลักแนวคิดของโครงการฯ ที่สอนให้มีวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ นำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ และสร้างธุรกิจได้จริง

ทางมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา จึงได้จัดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ฝึกเยาวชนเรียนรู้ประสบการณ์ทำธุรกิจจริง ผ่านหลักสูตร 3 แคมป์ ใน 66 วัน จากวิทยากรมืออาชีพและนักธุรกิจตัวจริง โดยแคมป์เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา จาก 8 โรงเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกลของจ.น่าน โรงเรียนละ 5 คน รวม 40 คน สู่แคมป์แห่งการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงในการทำธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบท้องถิ่น พัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์ และขายจริง  

โดยนักเรียนทั้ง 8 โรงเรียน ได้สร้างแบรนด์สินค้าเพื่อช่วยยกระดับวัตถุดิบในจ.น่าน ประกอบด้วย 1.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 พัฒนาสูตรคุกกี้ภายใต้แบรนด์ Ten Bites นำวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดน่านมาเป็นส่วนผสม ได้แก่ ไส้หม่อน จากชนเผ่าลั้ว ไส้งาขี้ม่อน มาจากชนเผ่าม้ง และตัวไส้โกโก้ ที่มาจากพื้นราบ 2.โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม จำหน่ายกาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ และพิซซ่าม้ง ภายใต้แบรนด์ มองเดอพี ยกระดับให้กลายเป็นของทานเล่นที่เข้าถึงผู้คนทั่วไปได้มากขึ้น

3.โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี ยกระดับและพัฒนาข้าวแคบ ภายใต้แบรนด์ ลินา เข้าถึงคนรุ่นใหม่รวมถึงลูกค้าทั่วไปได้มากขึ้น 4.โรงเรียนเชียงกลาง(ประชาพัฒนา)  นำเสนอน้ำพริกสามสไตล์สูตรเด็ด จำหน่ายในแบรนด์ น้ำพริกสามช่า

5.โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน สร้างแบรนด์ NALANA เพื่อยกระดับ 6 ขนมของดังจ.น่าน ใส่ด้วยบรรจุภัณฑ์สแน็คบ็อกซ์ลวดลายพิเศษ  6.โรงเรียนสา นำเสนอข้าวหลามถอดเสื้อ แก้ปัญหาข้าวหลามให้สามารถแกะรับประทานได้ง่ายขึ้น ในชื่อแบรนด์ หลามรวย 7.โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม ที่ได้สร้างแบรนด์ KADO พัฒนาน้ำสลัดจากเนื้ออะโวคาโดแท้ พืชเศรษฐกิจอีกชนิดของจ.น่าน และ8.โรงเรียนปัว แปรรูปผลมะมื่นจากป่าน่านของดีท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นอัลมอนด์เมืองไทย ภายใต้แบรนด์  มะมื่นบัตเตอร์

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย

 ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า จุดประสงค์ของการเริ่มทำโครงการ  เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 เพื่อเป็นการนำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการทำธุรกิจ มาสร้างเป็นองค์ความรู้ในรูปแบบของแคมป์จำนวน 66 วัน  ซึ่งเป็นอีกหลักสูตรนอกห้องเรียน ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ในช่วงของการปิดเทอม โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ คือ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมปลาย ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา จาก 8 โรงเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกล จ.น่าน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ความคิดกำลังเปลี่ยน เหมาะสมต่อการเรียนรู้ และไม่จำเป็นต้องเป็นนกลุ่มเด็กเก่ง เรียนดี แต่ต้องเป็นเด็กที่มีความสนใจในการทำธุรกิจ เพื่อให้โอกาสเข้าถึงเยาวชนกลุ่มนี้ได้พัฒนาทักษะและเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถใช้ชีวิตในบ้านเกิด สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชน และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน

กล้าก้าว หลักสูตรที่เยาวชนเพาะพันธุ์ปัญญา ต้องนำเสนอแบรนด์สินค้าที่สร้างขึ้น

หลักสูตรเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านหลักสูตร 3 แคมป์ ได้แก่ แคมป์ที่ 1  กล้าเรียน เป็นการปูพื้นฐานสร้างไอเดียธุรกิจ ความเป็นไปได้ และเรียนรู้สิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ แคมป์ที่ 2 กล้าลุย  บุกตลาด ลงมือขาย พบลูกค้าตัวจริง เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ และ แคมป์ที่ 3 กล้าก้าว รายงานและนำเสนอผลประกอบการ โดยเยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่และคุณค่ามิติต่าง ๆ ตั้งแต่วิธีการคิดหาไอเดียที่ตลาดต้องการ การทดสอบผลิตภัณฑ์ในตลาด กระบวนการตั้งราคา การทำแพ็คเก็จ การทำบัญชีธุรกิจ การบริหารจัดการบริษัท การตลาด และกระบวนการเปิดและปิดบริษัท การบริหารคน รวมทั้งมีความเข้าใจคุณค่าของทุนในการทำธุรกิจ และการสร้างผลตอบแทน  

กล้าลุย หลักสูตรที่จะพาเยาวชนได้ลงตลาดจริง


ทางมูลนิธิฯได้มอบเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจให้แก่นักเรียน ในการจัดตั้งบริษัท  แม้ว่าหลังจากจบแคมป์แล้วจะไม่สามารถคืนทุนได้ทุกบริษัท เพราะผลประกอบการขาดทุน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะความล้มเหลว คือการเรียนรู้  เด็กๆสามารถนำกระบวนการต่างๆที่ได้ลงมือทำไปต่อยอดได้ในอนาคต และส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่รุ่นน้องในโรงเรียนได้
 “สำหรับเป้าหมายในการจัดแคมป์ในรุ่นต่อไป ก็จะนำจุดที่เด็กๆต้องการทักษะเพิ่มเติมมาพัฒนาให้ตรงกับความต้องการ ไม่ว่าจะเป็น การพูดนำเสนอ การให้ความสนุกที่ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ เพราะมูลนิธิฯจะต้องทำหน้าหน้าที่พรวนดิน รดน้ำ และดูแลจนต้นกล้าแข็งแรง สามารถเติบโตเองได้ และขยายสู่การแบ่งปันในสังคม ” ดร.อดิศวร์ กล่าว

แบรนด์ NALANA สแน็คบ็อกซ์ลวดลายพิเศษ ยกระดับของฝากจ.น่าน

ปิยภรณ์ บัวทอง โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จ.น่าน  ตัวแทนจากแบรนด์ NALANA เล่าว่า แนวคิดในการสร้างสแน็คบ็อกซ์ลวดลายเชื่อมโยงเอกลักษณ์จ.น่าน เพื่อยกระดับกล่องบรรจุภัณฑ์ ภายในกล่องจะบรรจุขนมขึ้นชื่อของจ.น่าน 6 ชนิดจากหลายหลากหลายอำเภอ โดยก่อนจะสร้างแบรนด์ก็ได้เรียนรู้กระบวนคิด การวางแผนในการทำธุรกิจจากหลักสูตรภายในแคมป์ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารเงินทุนจำนวน 50,000 บาท โดยมีแผนการตลาด 80% จะใช้ในการผลิตและพัฒนาสินค้า เช่น การติดต่อซัพพลายเออร์ และโรงพิมพ์ อีก  20% เพื่อทำการตลาด โดยมีการฝากขายหน้าร้านขายของฝาก และช่องทางออนไลน์ ซึ่งแบรนด์ได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 60,000 บาท แต่ในระยะเวลา 30 วัน สามารถทำผลกำไร 56,000 บาท ทางทีมก็มีความพึงพอใจอย่างมาก และคิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแคมป์สามารถนำไปต่อยอดได้จริง

 คุกกี้แบรนด์ Ten Bites จากวัตถุดิบเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ในจ.น่านมาทำ

ปุณญาวีร์ โนแก้ว โรงเรียนปัว ตัวแทนทีมแบรนด์  มะมื่นบัตเตอร์ บอกว่า หลักสูตรเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน แต่กระบวนการสอนต่างๆไม่ว่าจะเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ ความกล้าในการแสดงออก การมองสิ่งต่างๆรอบตัว และนำมาสร้างธุรกิจ ซึ่งช่วยเปิดมุมมองจากสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะทำได้จริง ให้กล้าลงมือทำ เจ็บจริง และเจ๊งจริง แม้ว่าในการทำธุรกิจครั้งนี้จะขาดทุน แต่สิ่งสำคัญคือการได้ทำจริงๆ เรียนรูจริงๆ และสามารถนำมาประยุกต์วางแผนต่อยอดได้กับวิชาต่างๆ รวมไปถึงในชีวิตประจำวัน

 แบรนด์ มะมื่นบัตเตอร์ จากการแปรรูปผลมะมื่นจากป่าน่าน


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

4 วันอันตรายสงกรานต์! สังเวย 162 ศพ 'เมืองคอน' แชมป์อุบัติเหตุ

พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์ เปิดแพลตฟอร์มขายไฟฟ้าโซลาร์ ของรายย่อย

ธนาคารกสิกรไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ อินโนพาวเวอร์ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน