ไฟเขียว'เชียงใหม่' ชิงเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ปี 68

ครม.ไฟเขียวเสนอ ‘เชียงใหม่’ เป็นเจ้าภาพจัดประชุม’เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก’ ในปี 68 วธ.พร้อมให้ความร่วมมือต่อยอดวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก

20 ก.ค.2566 – นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ครม. อนุมัติให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิ์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 17 ในปี พ.ศ. 2568 (UCCN Annual Conference 2025) ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีนานาชาติสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ในการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นนโยบายเพื่อดำเนินการพัฒนาเมือง ตามเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2030 และปฏิญญา Mondiacult 2022 ทั้งนี้ เมืองสมาชิกที่ประสงค์จะเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม จะต้องจัดทำข้อมูลตามเกณฑ์ที่องค์การยูเนสโกกำหนด และเสนอไปยังองค์การยูเนสโกภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566  โดยจะมีกระบวนการคัดเลือกจากการพิจารณาเอกสาร การนำเสนอ การลงคะแนนเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ และประกาศผลเมืองที่ได้รับการพิจารณาเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือนตุลาคม 2566 

รมว.วธ. กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพที่จะเป็นสถานที่การจัดประชุม รวมถึงปัจจุบันเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative CitiesNetwork-UCCN) สาขาหัตถกรรมและศิลปพื้นบ้าน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบจ.เชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) รวมถึงคณะทำงานในการจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีข้อสรุปว่าจะจัดการประชุมประจำปี UCCN ครั้งที่ 17 ภายใต้แนวคิด “Enhancing Multicultural Transformation” เชื่อมอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างนวัตกรรมเพื่อการต่อยอด ซึ่งคาดหวังที่จะเป็นเจ้าภาพ จัดกิจกรรมเชื่อมโยงและแบ่งปันแรงบันดาลใจ (Sharing) อาทิ การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ และการสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนความสร้างสรรค์ที่ไม่มีสิ้นสุด นำไปสู่การสร้างความสุขด้วยแนวคิดเมืองมีชีวิต เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals: SDGs)

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า กำหนดการจัดการประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 17 ของจังหวัดเชียงใหม่ มีระยะเวลา 7 วัน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การประชุมโดยผู้บริหารเมือง การประชุมกลุ่มย่อยในสาขาสร้างสรรค์ 7 สาขา (หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน การออกแบบ ภาพยนตร์ วิทยาการอาหาร วรรณกรรม มีเดีย อาร์ต และดนตรี) และทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมเมืองและสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีของเชียงใหม่ ผ่านเส้นทางวัฒนธรรมและเส้นทางการต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม สู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยในภาพรวม ทั้งนี้ การจัดประชุมดังกล่าวจะเป็นการบูรณาการร่วมกันของเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในประเทศไทยทั้ง 5 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต (สาขาวิทยาการอาหาร) กรุงเทพมหานคร (สาขาการออกแบบ) สุโขทัย (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) และเพชรบุรี (สาขาวิทยาการอาหาร) รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก อาทิ น่าน สุพรรณบุรี นครปฐม เชียงราย และพัทยา ซึ่งจะได้นำเสนอองค์ความรู้ผ่านตัวอย่างกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองต่อเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกต่อไป

นายอิทธิพล กล่าวว่า วธ. พร้อมให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อให้การจัดประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สามารถส่งเสริมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์  ให้มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อการอนุรักษ์ ดำรง คงอยู่ ตลอดจนต่อยอดวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก ผ่านการนำเสนอเมืองเชียงใหม่ในมิติด้านศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม  และกิจกรรมเส้นทางวัฒนธรรม (authentic multicultural route) การท่องเที่ยววิถีชุมชนที่นำทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนมาพัฒนาต่อยอดคุณค่าและมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่งานด้านศิลปะและวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม (multicultural transformation tour) เพื่อนำเสนอธุรกิจสร้างสรรค์ ที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาคชุมชน และภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวและใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างสินค้าและบริการที่ตอบรับกับกระแสของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' เลกเชอร์ผู้ประกอบรุ่นใหม่ ไทยต้องมียูนิคอร์นให้ได้ภายในรัฐบาลนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประชุมหารือประเด็นการพัฒนาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Start up นายกฯ กล่าวว่า เราต้องคิดภาพใหญ่เพื่อสู่ตลาดโลกวันนี้ถ้าทำอะไรเล็กๆมันอยู่และสู้เขาไม่ได้

'เศรษฐา' เยี่ยมชมสินค้าโอทอปสันกำแพง บ้านเกิดทักษิณ ไร้เงา 'อุ๊งอิ๊ง' ติดภารกิจ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางถึงศูนย์แสดงจำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอปเชียงใหม่ ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยมีชาวสันกำแพง รอต้อนรับให้กำลังใจ พร้อมมอบของที่ระลึกให้ โดย อ.สันกำแพงเป็นบ้านเกิดของ นายทักษิณ ชินวัตร

'เศรษฐา' ไม่กล้าฝันใหญ่เรื่องแก้ฝุ่น PM 2.5 บอกขอแค่ลดน้อยลง

'เศรษฐา' มอบนโยบายแก้ฝุ่น pm 2.5 ขอใช้คำให้ลดน้อยลง ยอมรับคงลำบากถ้าให้หมดไป ปลื้มเอกชนร่วมมือภาครัฐ ขอทหารอุดหนุนด้านยุทโธปกรณ์ จ่อคุยเพื่อนบ้านร่วมแก้

'ลอยกระทงสุโขทัย' SOFT POWER นำเงินเข้าประเทศ

ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ และมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ จ.สุโขทัย ปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาสัมผัสวัฒนธรรมไทย มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย