
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ผืนป่าไทยเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าและการบุกรุกเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ถือเป็นการช่วยปกป้องและอนุรักษ์ป่าของไทยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน ป่าชุมชนกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อส่งเสริมชุมชนร่วมกับรัฐอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการบำรุงรักษา ไปจนถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในป่า สร้างชุมชนเข้มแข็งและมีรายได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมป่าไม้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศแล้วกว่า 12,117 แห่ง มีเนื้อที่รวมประมาณ 6.64 ล้านไร่ จากการประเมินของกรม มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่าเกือบ 4 ล้านครัวเรือน เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้กว่า 4,907 ล้านบาท กักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนรวม 42 ล้านตันคาร์บอน กักเก็บน้ำใต้ดินและปล่อยน้ำท่ากว่า 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าระบบนิเวศของป่าสูงถึง 595,857 ล้านบาท
ป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ จะมีการเสริมศักยภาพจัดการป่าชุมชนและสร้างฝายชะล้อน้ำเพื่อเติมความชุ่มชื้น ภายใต้การขับเคลื่อนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า-ประเทศไทย (RECOFTC-Thailand) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันก่อน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ พอช. กล่าวว่า พอช.และภาคีเครือข่ายช่วยกันขับเคลื่อนจนในที่สุด พ.ร.บ.ป่าไม้ ให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกเอง เหมือนเงินทองที่งอกเงยอยู่หลังบ้าน อีกความสำเร็จ คือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการป่าไม้อย่างแท้จริง กฎหมายฉบับนี้ทำให้ประชาชนอยู่กับป่าไม้ ปลดล็อคหลายเรื่อง อนุญาตให้เก็บหาของป่า อนุญาตให้ตัดต้นไม้ใช้ได้ในชุมชน ขณะที่ทิศทางกรมป่าไม้จะขับเคลื่อนให้เกิดป่าชุมชนทั่วไทย 20,000 แห่ง นำมาสู่ MOU ครั้งนี้ หากแต่ละป่ามีแผนฟื้นฟูและพัฒนาจนอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน ประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี พอช.จะผสานพลังหลายฝ่าย รวมทั้งภาคเอกชนพร้อมขับเคลื่อน สอดรับการจัดทำคาร์บอนเครดิต
“ เราไม่ปูพรมทั้งแผ่นดิน แต่ขอตัวแทนจากชุมชน พลิกฟื้น เปลี่ยนแปลงการจัดการป่าชุมชน สร้างฝายมีชีวิตกักเก็บน้ำใต้ดิน มีน้ำทำการเกษตร ซึ่งกรมป่าไม้จะสนับสนุนข้อมูลพิกัดตำแหน่งสร้างฝายที่เหมาะสม มีตัวอย่างป่าชุมชนบ้านน้ำราบ 3 พันไร่ ทำธนาคารปู มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และโซนนิ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ พื้นที่อนุรักษ์ เกิดรายได้ เกิดการท่องเที่ยว MOU ครั้งนี้จะขับเคลื่อนทั้งป่าบก ป่าชายเลน หากสำเร็จจะขยายผลต่อไป จากนั้นจะผลักดันธนาคารต้นไม้ให้เกิดในพื้นที่นำร่องเพิ่ม ทั้งคันนาทองคำ คันนาคู่ ต้นไม้หลังบ้าน ขณะเดียวกันอบรมอาชีพเกี่ยวกับไม้ การใช้ประโยชน์จากไม้อย่างคุ้มค่า สร้างเงินออมในต้นไม้รองรับการเกษียณอายุ เป้าหมายสู่การพึ่งพาตัวเอง แทนที่จะรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ “ ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ด้าน เดโช ไชยทัพ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต กล่าวว่า เมื่อมีกฎหมายป่าชุมชนจะขับเคลื่อนป่าชุมชนไปในทิศทางไหน เพื่อให้เกื้อหนุนป่าชุมชน ส่งเสริมขีดความสามารถสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหารือกรมป่าไม้เจ้าภาพหลัก ผลหารือ กม.ป่าชุมชนเป็นเครื่องสำคัญรับรองสิทธิป่าชุมชนอย่างยั่งยืน 32 ปีที่เริ่มต้นจากความขัดแย้ง มีผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อป่าชุมชน เกิดป่าชุมชนห้วยแก้ว ป่าชุมชนแห่งแรก ในที่สุดกฎหมายคลอดออกมา กม.เมื่อนำไปใช้มีศักยภาพสูง ขณะเดียวกันพบมีข้อจำกัดงบประมาณ จากการหารือสรุปต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน การรับรู้เชิงลึกเนื้อหากฎหมาย ทุกวันนี้มีพื้นที่ป่าชุมชนที่มาจากความพร้อมของภาคประชาชน นำมาสู่การคคัดกรองสู่ป่าชุมชน 15 พื้นที่เป็นต้นแบบสู่การขยายผล นอกจากนี้ พบเครือข่ายป่าชุมชน 68 จังหวัด ขาดงบฯ และแผนงานชัดเจนสนับสนุน เป็นเรื่องสำคัญต้องประสานความร่วมมือ

ป่าชุมชนภาคตะวันออกอยู่ในพื้นที่นำร่อง ทนงศักดิ์ จันท์ทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก กล่าวว่า พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด มีการสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชนและเครือข่ายต่อการจัดการป่า หนุนการฟื้นฟูฐานทรัพยากรท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีชีวิตพึ่งพิงตัวเองอย่างพอเพียง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสิทธิชุมชนสู่การจัดการป่ารอยต่อฯ มีการบุกเบิกพื้นที่ต้นปี 2500 เคลื่อนย้ายถิ่น มีการร้องเรียนสิทธิจัดการฐานทรัพยากร คนอยู่กับป่า มีการจัดการที่ดิน จัดการป่า ช่วงปี 2543 มีโครงการป่ากันชนพื้นที่ป่ารอยต่อฯ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม วนเกษตร เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ และทำเรื่องป่าชุมชน จากนั้นมีโครงการพัฒนาชุมชนปี 2558 ของกรมป่าไม้ มีการส่งเสริมป่าชุมชน พื้นที่ป่าชุมชนขยายมากขึ้น มีการจัดการผลผลิตจากป่า เกิดวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ พัฒนาชุมชน และเกิดแหล่งเรียนรู้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนเกิดปี 2562 มีการจัดกลุ่ม จัดการป่าชุมชน มีกิจกรรมใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ทำเกิดสิทธิชุมชน เกิดการเรียนรู้ของสังคม
“ ความท้าทายสู่ความยั่งยืนจัดการป่าชุมชน จะจัดการความสัมพันธ์ของคนกับป่า ความเข้มแข็งกลุ่มจัดการป่า เครือข่ายท้องถิ่น การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์จากป่าที่หลากหลายด้าน สร้างอาชีพสร้างรายได้ ทุนจัดการป่าชุมชน คุณภาพชีวิต ระบบสนับสนุนส่วนที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคีความร่วมมือ “ นายทนงศักดิ์ กล่าว

ตะวันฉาย หงส์วิลัย เครือข่ายป่าชุมชนแม่เปิน -แม่วงก์ -ชุมตาบง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ป่าชุมชนในพื้นที่มีความสำคัญถือเป็นพื้นที่แนวกันชนป่าแม่วงก์และป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลก เมื่อก่อนชุมชนมีเจตนารักษาป่าแต่ทำไม่ได้ ยังไม่มีกม.ป่าชุมชน นำมาสู่การหารือ และกำหนดพื้นที่ป่าชุมชนผืนป่าตะวันตกผ่านการชี้แนะของกรมป่าไม้ ปัจจุบันการจัดการเป็นอันหนึ่งอันเดียว แม่เปินทำไร่มากกว่าทำนา ป่าเป็นแหล่งอาหาร ปัจจัยสี่ของชุมชน ตลาดชุมชนมีผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชนขายทุกฤดูกาล ส่วนฝายทำเต็มรูปแบบ มีการสำรวจทรัพยากร ประเมินมูลค่านับสิบล้าน มีปฏิทินพืชผลรอบปี ปัจจุบันมีกม.ป่าชุมชนแล้วจะไปสู่การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร คณะกรรมการป่าชุมชนต้องมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายมากขึ้น กฎหมายให้อำนาจตัดสินใจมากขึ้น
อีกพื้นที่ต้นแบบ ศุภกร โภคภิรมย์ นายก อบต.เสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ป่าชุมชนในชุมชนเป็นพื้นที่ นสร. ไม่เข้าระเบียบ กม.ป่าชุมชน แต่มีต้นยางเหียง ซึ่งในภาคใต้พบเกิดขึ้นตามธรรมชาติขึ้นหนาแน่นเฉพาะที่ตำบลเสวียดแห่งเดียว โดยมีพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาป่าเหียงประมาณ 1,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 4,700 กว่าไร่ ซึ่งมีชาวบ้านบุกรุกพื้นที่และต่อยอดมาเป็นโครงการ ‘ธนาคารต้นยางเหียง’ ในปัจจุบัน จัดเก็บพันธุ์ต้นยางเหียง จะเตรียมพัฒนาเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนเพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในอนาคต ซึ่งการเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายจะได้รับแนวทางพัฒนาจัดการพื้นที่เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ความร่วมมือตาม MOU มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ใช้งบฯ รวม 3,498,000 บาท ซึ่ง พอช.คาดว่าจะสร้างมูลค่าการตอบแทนทางสังคมกว่า 21 ล้านบาท ในอนาคตจะมีการต่อยอดสนับสนุนให้ชุมชนทั่วประเทศปลูกต้นไม้ เพื่อให้ผืนป่าไทยสมบูรณ์ ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลิกฟื้น ‘ชุมชน-คน-คลองแม่ข่า’ จ.เชียงใหม่ สู่ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข”
เชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนามาแต่โบราณ ตามตำนานบอกว่า พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 โดยมีชัยมงคล 7 ประการ
‘แม่แจ่มโมเดล’...การแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิต ปลูกไผ่-กาแฟแทนข้าวโพด สร้างธุรกิจ ‘ต้นน้ำ-ปลายน้ำ’
อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและปากท้องของพวกเขา
พลังสตรีปัตตานีที่ ‘รูสะมิแล’ ‘สร้างสวัสดิการ สร้างอาชีพให้ชาวชุมชน’
ปัตตานีหรือ ‘ปาตานี’ เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ ดินแดนแห่งนี้ในอดีตเคยมี ‘กษัตรีย์’ หรือ ‘รายา’ ปกครองอาณาจักรต่อเนื่องมานานถึง 4 พระองค์ (พ.ศ.2127-2231)
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์-หน่วยงานภาคีร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ “บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ใต้ร่มพระบารมี” ที่ชุมชนซอยรามคำแหง 39 กรุงเทพฯ
รามคำแหง 39 / สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ร่วมกับหน่วยงานภาคีจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 “บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ใต้ร่มพระบารมี”
“บ้านมั่นคง...ใต้ร่มพระบารมี” ที่วังทองหลาง กรุงเทพฯ ต้นแบบชุมชนบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
ในยุคที่ที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาแพงระยับ โอกาสที่ผู้ที่มีรายได้น้อยจะมีที่อยู่อาศัยในเมือง มีบ้านเป็นของตัวเองคงจะมีไม่มากนัก แต่ที่ชุมชนย่านซอยรามคำแหง 39
พอช.หนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัด สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่-กลุ่มสตรีร่วมพัฒนาชุมชน
ภาคใต้/ พอช.หนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในภาคใต้ 14 จังหวัด เผยตลอดช่วง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2566 พัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงเมืองและชนบท’