สำรวจตัวเอง ‘หมอธีระวัฒน์’ บอกกินด้วยอารมณ์ หัวใจเสื่อมโทรม

14 ส.ค.2566-ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “กินด้วยอารมณ์..หัวใจเสื่อมโทรม” ระบุว่า การกินเป็นเรื่องสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน และเห็นชัดแล้วว่าจะเป็นตัวกำหนดสุขภาพกายให้แข็งแรงยืนยาวหรือไม่อย่างไร รวมกระทั่งถึงสุขภาพสมองผ่านทางกระบวนการอักเสบไปจนกระทั่งถึงวงจรของจุลินทรีย์ในลำไส้ ตับ เส้นประสาท ที่เชื่อมโยงไปถึงสมอง การกินขณะนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องแต่กินอะไร กินมากแค่ไหน กินเวลาใด ชนิดของอาหารประเภทต่างๆ แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึง อะไรทำให้กินเช่นนั้น คือไม่ใช่แต่เพียง what do you eat? ยังต้องพิจารณาถึง what makes you eat? พฤติกรรมการกิน โดยพื้นฐานขึ้นอยู่กับ มีอะไรจะกินหรือไม่ คือ “กินเพื่ออยู่” จนกระทั่งเป็นแบบหรูหรา คือ “อยู่เพื่อกิน” โดยเสาะแสวงหาของกินที่มีชื่อจนกระทั่งได้ดาวเป็นสามดาว สี่ห้าดาว เป็นต้น

แต่ในส่วนที่วิเคราะห์ลึกซึ้งไปถึงมิติทางอารมณ์จิตใจจะมีตั้งแต่ กินเพื่อตอบสนองภาวะอารมณ์ (Emotional eating EmE) มีแนวโน้มที่จะกินเยอะในภาวะเศร้าหรือเครียดหดหู่ (ทฤษฎีโดย Bruch and Kaplan) กินตามสิ่งเร้าภายนอก (external eating ExE) ด้วยกลิ่นรูปลักษณะ ความน่ากินของอาหาร ไปจนถึงถ้ามีคนนั่งกินอยู่เยอะในร้านนั้น (ในบ้านเราก็มี คือจ้างคนมานั่งจะได้ดูร้านแน่น) และการจำกัดการกินหรือไม่ยอมกิน (restrained eating RE) (ทฤษฎีโดย Herman and Polivy) ทั้งนี้เป็นไปเพื่อควบคุมน้ำหนัก และมีส่วนจากจิตอารมณ์ความเครียด

ทั้ง EmE และ RE ในระยะยาว ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพโดยมีแนวโน้ม ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจและเส้นเลือด

คนที่มีลักษณะของ EmE เกิดความเสี่ยงของโรคอ้วน เบาหวานและความดันสูง ประมาณสองเท่าจากการศึกษาในคนละติน (Latinos) จำนวน 578 ราย และในอีกหนึ่งการศึกษาในคนเช็ค (Czech) จำนวน 2,053 ราย ปรากฏว่า ลักษณะการกิน RE กลับทำให้มีความเสี่ยงของไขมันผิดปกติ อ้วนและเบาหวาน ทั้งนี้ โดยมีความผันผวนในลักษณะของ โย-โย่ ปนอยู่ด้วย กินน้อยเกินไปกลับระเบิดเถิดเทิงไปกินมากสลับกันไป

ในเรื่องของความเสี่ยง ทางด้านเส้นเลือดและโรคหัวใจมีการศึกษาไม่มากนัก โดยเป็นการศึกษาตามขวาง (cross-sectional study) ที่ไม่ใช่เป็นการติดตามระยะยาว และพบว่าคน RM เป็นความดันสูงเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบมากขึ้นโดยไม่ขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายหรือความอ้วนด้วยซ้ำ และการศึกษาในนักเรียนชาวโรมาเนีย 36 ราย ที่เป็น RM มีความเกี่ยวพันกับความแข็งตัวของเส้นเลือดจากการวัดคลื่นความเร็วของชีพจร (pulse wave velocity) ระหว่างเส้นเลือดคอที่ไปสมองกับเส้นเลือดที่ต้นขา (carotid-femoral pulse wave velocity)

การศึกษาล่าสุดได้คำตอบที่สำคัญ ผลกระทบจากการกินแบบ EmE รายงานในวารสาร European journal of preventive cardiology วันที่ 13 มกราคม 2023 ทั้งนี้ จากการศึกษาระยะยาวถึง 13 ปีด้วยกัน การศึกษาชื่อว่า STANISLAS (Suivi Temporaire Annuel Non-Invasif de la Santé des Lorrains Assurés Sociaux) เป็นการศึกษาแบบเป็นกลุ่มที่สัมพันธ์กับความเสี่ยง โดยทำการติดตามคนฝรั่งเศสจำนวน 4,598 รายจาก 1,006 ครอบครัว ที่มีถิ่นฐานอยู่ทางบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส และอยู่ในโปรแกรมของการคุ้มครองทางสุขภาพ Caisse Nationale d’Assurance Maladie (CNAM)

ในช่วงการติดตามระหว่างปี 1993 ถึง 2016 จะมีการประเมินภาวะทางสุขภาพ ทุก 5 ถึง 10 ปี โดยการประเมินครั้งที่สอง จะจำแนกประเภทพฤติกรรมของการกิน และลักษณะดัชนีสุขภาพต่างๆ ข้อมูลที่สมบูรณ์จะมาจากประชากรศึกษาที่ตัดแล้วเหลือจำนวน 1,109 รายโดย 916 รายเป็นผู้ใหญ่และ 193 รายเป็นวัยรุ่น การประเมินพฤติกรรมการกิน จัดจำแนกทั้งสามมิติ โดยพิจารณา EmE RE และ ExE จากรายละเอียด 13 ข้อ ใน EmE และอย่างละ 10 ข้อในรูปแบบที่เหลือ

การประเมินผลกระทบความเสียหายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่ที่การพบแพทย์ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย และประกอบด้วย การวัดคลื่นความเร็วของชีพจรจากเส้นเลือดที่คอและที่ขา ที่สะท้อนการแข็งตัวของเส้นเลือดแดง การวัดความหนาของผนังหัวใจห้องล่างทางด้านซ้ายด้วยเครื่องเอคโค่ การวัดความหนาของเส้นเลือดที่คอที่ไปเลี้ยงสมอง การวัดความผันผวนผิดปกติของการคลายตัวของหัวใจห้องล่างทางด้านซ้าย (diastolic dysfunction) และการประเมินภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม ซึ่งต้องมีอย่างน้อยสามข้อ จากการวัดรอบเอว ความดันสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ระดับน้ำตาลผิดปกติและระดับไขมันดี (HDL) ต่ำ พร้อมกันนั้นมีข้อมูลทางด้านอายุ เพศระดับการศึกษา ระดับของการออกกำลังหรือการเล่นกีฬา ภาวะผันผวน อาการทางระบบเส้นเลือดของหัวใจและสมอง และที่สำคัญคือระดับความรุนแรงของความเครียด (stress)

ผลของการศึกษาพบว่า 31% มีภาวะน้ำหนักเกินและ 7.9% จัดอยู่ในขั้นอ้วนแล้ว 2.7% เป็นน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ทั้งนี้ อายุโดยเฉลี่ยในการประเมินทางการแพทย์ครั้งที่สองอยู่ที่ 44.7 ปี ในผู้ใหญ่และในวัยรุ่นนั้นอยู่ที่ 15.2 ปี สำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่ พฤติกรรมการกินแบบ EmE จะเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติของการคลายตัวของหัวใจ เพิ่มขึ้นถึง 38% และมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวโยงกับภาวะเครียดใน 32% ของกลุ่มนี้ …นอกจากนั้น EmE ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะการแข็งตัวของเส้นเลือดแดงโดยวัดจากคลื่นความเร็วของชีพจร ดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการกินทั้งสามรูปแบบไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหรือความเสียหายทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่เห็นได้ชัดเจนในกลุ่มวัยรุ่น และสำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่นั้นพฤติกรรมการกินทั้งสามรูปแบบไม่พบความสัมพันธ์กับโรคเมตาบอลิก ซินโดรมที่ชัดเจน อีกประการที่มีการวิเคราะห์คือสัดส่วนของพลังงานที่กิน พบว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่าง พฤติกรรมการกินและการประเมินทางระบบหัวใจและเส้นเลือด

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า EmE มีความเป็นไปได้ที่จะกินอาหารที่มีแคลอรีสูง แต่ภาวะความเครียดที่ผันผวนไปมานั้นอาจจะทำให้เกิดช่วงที่กินน้อยกว่าปกติและเกิดรูปแบบของโย-โย่ ซึ่งรูปแบบมากไป น้อยไป แบบนี้ แท้จริงแล้วน่าที่จะกระทบหัวใจและเส้นเลือดมากกว่าที่กินมากตลอดเวลาหรือกินน้อยตลอดเวลาก็เป็นได้

ผลของการศึกษานี้ เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในผู้เชี่ยวชาญในสถาบันที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยที่ผลของการศึกษานี้สอดคล้องและยืนยันผลของการสำรวจก่อนหน้า และตอกย้ำว่าการแก้ปมพฤติกรรมการกินเพื่อรองรับอารมณ์ EmE จำต้องเพ่งเล็งและแก้ไขและตระหนักปัจจัยความเครียดที่อาจจะเป็นสาเหตุส่งเสริมที่สำคัญและอันตรายในระยะยาว ที่อย่างน้อยที่สุดในรายงานนี้ส่งผลถึงการทำงานของหัวใจและการแข็งตัวของเส้นเลือด ค่อนข้างชัดเจน

สำหรับพวกเราที่อยู่เพื่อกิน หรูหรา ควรเอื้อเฟื้อ กลุ่มที่ไม่มีจะกินและจำเป็นต้องกินทุกอย่างที่มีโดยกินแป้งและของหวานที่ให้พลังงานเป็นสำคัญและส่งผลร้ายต่อสุขภาพซึ่งอาจไม่ต่างกับกลุ่มที่อยู่เพื่อกิน แต่กลุ่มที่มีปมปัญหาความเครียดในจิตใจ และส่งผลในรูปแบบการกินที่ผิดปกติน่าจะเพิ่มอันตรายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพเข้าไปอีก หมอเองเป็นหมอทางอายุรกรรมและหมอสมองไม่ใช่จิตแพทย์แต่เห็นว่า ความสงบทางจิตใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย น่าที่จะเป็นวิถีทางที่ดีสำหรับพวกเราทุกคนและเป็นการ “อยู่เพื่อให้” ไม่ใช่สำหรับตนเองและครอบครัวเท่านั้นแต่เพื่อผู้อื่นด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' ประกาศลาออกจาก หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

'หมอนิติเวช' โต้ แท่งย้วยสีขาวในคนตายฉีดวัคซีน mRNA พบได้ในผู้ตายทุกคน

นาวาตรี น.พ. อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แผนกนิติเวชศาสตร์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กล่าวถึงรณีที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาระบุว่า ในต่างประเทศพบ ผู้ฉีดวัคซีน mRNA

'หมอธีระวัฒน์' ปลุก สว. เลิก 'เนือยนิ่ง ทอดหุ่ย'

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สว. เนือยนิ่ง ทอดหุ่ย กับสมองเสื่อม

'หมอธีระวัฒน์' ยกผลวิจัย พิชิตสมองเสื่อมด้วยยาเบาหวานลดน้ำหนัก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "พิชิตสมองเสื่อมด้วยยาเบาหวานลดน้ำหนัก"

'หมอธีระวัฒน์' ยกผลวิจัยชี้ชัด คืนสู่ธรรมชาติ ทะนุถนอมสมอง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คืนสู่ธรรมชาติ ทะนุถนอมสมอง

ผลวิจัยชี้ 'รอบเดือน' สตรี มีผลต่อสมอง 'หมดระดู' เสี่ยงอัลไซเมอร์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า รอบเดือนสตรีมีผลต่อสมอง