'ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง' ละครเวทีในสายเลือด

ในบรรดา”บ้านศิลปินแห่งชาติ”ที่”เปิดบ้าน”ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะในแขนงที่ตนเองชำนาญ  อาจกล่าวได้ว่าขณะนี้ในสาขาศิลปะการแสดง ยังมีเพียง “ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง” หรือที่ในแวดวงรู้จักในนาม “ครูช่าง”ที่ใช้พื้นที่บ้าน ขนาด 10ไร่ ย่านคลอง 6 ปทุมธานี เปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทั้งกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญยังเป็นการสอนศาสตร์ด้านการแสดงให้กับเยาวชนด้วย

หลังจากสั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ผลงานตลอดเวลากว่า 40 ปี ในฐานะอาจารย์ด้านศิลปะการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และยังโดดเข้าสู่วงการแสดงของจริง โดยสวมบทบาทเป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับ เขียนบท ทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ผาดโผนในวงการบันเทิงมาอย่างโชกโชน  แต่สิ่งหนึ่งที่ตระหนัก และอยู่ในสำนึกของครูช่างเสมอ คือ “ความเป็นครู “ทำให้นำไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” ในเวลาต่อมา  ซึ่งศูนย์แห่งนี้เริ่มแรก มีจุดเริ่มต้นมาจาก ในปี  2537 ครูช่าง ได้ตั้ง”คณะละครมรดกใหม่ “ซึ่งได้รวบรวมลูกศิษย์ลูกหาในขณะนั้นมาก่อตั้งเป็นคณะละคร ในปี 2538  ละครเรื่อง “สารพัด สาระเพ” จึงกำเนิดขึ้นเป็นละครเรื่องแรกของคณะละครมรดกใหม่ ก็ออกสู่สายตาผู้ชม โดยแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ลานฝึกหัดศิลปะการแสดงของเยาวชน

จากนั้นไม่นานคณะละครมรดกใหม่ ก็เริ่มปรับตัวเองเป็น”คณะละครเร่ “ที่ไม่ต้องมีโรงละครใหญ่เป็นของตัวเองแต่เน้นการออกไปจัดแสดงละครในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2543  เป็นต้นมา และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของ “บ้านเรียนละครมรดกใหม่” ในปี 2548

ปัจจุบันศูนย์การเรียนบ้านเรียนละครมรดกใหม่ มีนักเรียน และผู้คนที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนศูนย์ฯ นับตั้งแต่แม่ครัว ยันผู้มีหน้าที่อื่นๆในชุมชน รวมแล้วประมาณ 40- 50 คน เพราะเด็กที่มาเรียนจะต้องกินนอน ศึกษาเล่าเรียนที่ศูนย์ฯ เป็นเวลาหลายปี  เด็กที่มาเรียนศาสตร์การแสดงกับครูช่าง มาจากทุกภาคของประเทศ โดยไม่มีการป่าวประกาศแต่อย่างใด เป็นการใข้”ปากต่อปาก”ที่ส่งต่อกันในหมู่ลูกศิษย์ของครูช่าง ทำให้มีเด็กระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นลูกศิษย์ในรุ่นแรกๆ ต่อมาค่อยๆลงมาสู่รุ่นเด็กลง มาเป็นเด็กระดับมัธยม และประถมศึกษา  

 “ผมหลอกมา เด็กมันก็คงคิดว่าผมจะพา ไปเป็นดารา ทั้งๆที่ผมไม่ได้พูดเลยนะว่ามาเป็นดารา  คนที่จะเป็นดารา เหมือนถูกลิขิตมาจากเบื้องบน ไม่ได้เป็นได้ทุกคน คนไม่ใช่ก็จะเจอปัญหา  จุดประสงค์ของผมคือ สร้างงานให้เขา และให้เขามีความสุขกับงาน แต่การเป็นดาราจะทำให้ไขว้ไขวจากงานที่สร้าง  มักจะคิดว่าต้องมีชื่อเสียงแล้วถึงจะมีความสุข อย่างนี้เรียกว่าหลงทางเลย ผมจะบอกเด็กๆว่าละครเวที เป็นต้นกำเนิดของหนัง ของละคร อะไรต่างๆนาๆที่มีกัน มาเรียนกันเถอะ “

ครูช่างกับรอยยิ้มในวันเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่

“ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” ครูช่างบอกว่า เปรียบเสมือน ” สำนัก “ซึ่งตามความตั้งใจต้องการฟื้น”ระบบสำนัก”และมองว่า สำนัก คือทางรอดของระบบการศึกษาไทย ซึ่งการจะมีสำนักได้นั้น หมายความว่า  เจ้าสำนักต้องเก่งจริง  สามารถถ่ายทอดกลเม็ดเด็ดพรายให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ ซึ่งเมื่อก่อนเรามีสำนักต่างๆในประเทศไทยเยอะมาก เช่น สำนักปู่สวรรค์ สำนักดนตรี  บางลำพู สำนักบ้านบาตร สำนักใหญ่วัดขนอม ในอดีตไทยก็มีสำนักเยอะมาก ฝรั่งชาติโปรตุเกส  ฮอลันดา เข้ามาในไทยยังทึ่งตกตะลึงพรึงเพริด กับความคิดความอ่านคนไทย ที่สำนักสามารถสอนต่อกลอน เขียนรูปได้ การเรียนกับสำนัก จะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างลึกซึ้งกลับไป เทียบกับระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่ไปเช้าเย็นกลับ จ่ายค่าเทอมระบบโรงเรียนแบบสำนักสร้างคนได้ดีกว่า

พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ


“ผมเกิดในสำนักบ้านบาตร ของหลวงประดิษฐ์ ไพเราะ เกิดในเรือนเครื่อง  มีเครื่องดนตรีไทย นอนแบเบาะก็ได้ยินเสียงดนตรีไทยแล้ว เติบโตมาพร้อมเสียงดนตรี  ผมเลยทำเรื่องระนาดเอกที่ ช่อง 7 ศรันยู วงษ์กระจ่างเล่น การสอนเด็กของผมคือ สอนคนแบบสำนัก  สอนในสิ่งที่จำได้ จากภาพจำในอดีต  เนื้อหาไม่พูดเรื่องวิทยาการสมัยใหม่ตลอดเวลา แต่พอถึงเวลาก็อาจะหยอดความรู้สมัยใหม่เข้าไปบ้าง เช่น เรื่องของอริสโตเติล เล่าจื๊อ เป็นต้น “

ลานเวทีแสดงภายในศูนย์ฯ


รูปแบบความบันเทิงที่มีทั้งหนัง ละคร  ละครเวที แต่สำหรับ”ครูช่าง” ที่ผ่านการสร้างสรรค์งานในแวดวงนี้มาอย่างหลากหลายแล้ว แต่ที่ผูกมัดใจและอยู่ในชีวิต จิตใจ เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงความเป็นศิลปินของครูช่าง จนถึงทุกวันนี้นั้นก็คือ “ละครเวที ”  ซึ่งเริ่มจากการเรียนในโรงเรียนในประเทศไทย  ความเป็นเด็กหลังห้อง ที่ต้องการหลีกหนีการอยู่ในห้องเรียน และไปค้นพบว่าโรงเรียนมีโรงละคร เหมือนเปิดมิติใหม่ทางความคิด  ต่อมาเมื่อมาเรียนในมหาวิทยาลัยมอนทานา ในสหรัฐอเมริกา ก็พบว่าละครนอกจากทำให้ภาษาอังกฤษดีขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว  และยังทำให้เกิดกระบวนการฟังอย่างแท้จริง เพราะการแสดงเป็นปฎิกริยาระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง กระบวนการคิด การขัดเกลา เลือกใช้ถ้อยคำจึงเกิดขึ้นตามมา และความมหัศจรรย์ของละครเวทีที่ค้นพบนี้ ได้พัฒนามาสู่การเรียนรู้สำนักในชุมชน ของศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้

เยาวชนในศูนย์ฯ แสดงความสามารถทางดนตรีไทย


” ผมไม่มีใจที่จะทำหนัง ทำละคร ตั้งใจทำละครเวทีอย่างเดียว เพราะละครเวทีมันเป็นศาสตร์ที่รวมศิลปะทุกชนิด เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าเรื่องของฉาก เสื้อผ้า บท การแสดง ซึ่งถ้าเป็นละครทีวี หนัง มันจะมีการทำงานเป็นอุตสาหกรรม ที่หมายถึงว่า แต่ละหน่วยทต่างฝ่ายต่างทำ  ฝ่ายเสื้อผ้า กับเมคอัพ โลเคชั่น ต่างกับการทำงานของละครเวที จะ Integrated บูรณาการรวมทุกฝ่ายไว้ที่เดียวกัน  ผมจึงต้องการสร้างให้คนเห็นคุณค่าของละครเวที เหมือนโชน เหมือนลิเก  เหมือนหมอลำ ลำตัด  “

เด็กๆแสดงการร่ายรำท่ามกลางธรรมชาติของศูนย์ ฯที่ตั้งอยู่ในคลอง 6 จ.ปทุมธานี


อีกบทบาทในฐานะคนเขียนบทที่สร้างมิติใหม่ ให้กับวงการบันเทิงไทย  สร้างขนบใหม่ คือ เล่นก่อนเขียน ให้นักแสดงร่วมเขียนบทไปด้วย ครูช่างบอกว่า  คนเขียนบทที่ดีที่สุด คือ   ต้องไม่เขียน เพื่อไม่ให้กลายเป็น คนเค้นบท เพราะการเขียนมันสั่งให้เขียนเอง ไม่มีใครบังคับ แต่ถ้าตั้งแต่วินาทีเขียนเพื่อไปจ่ายค่าเช่าบ้าน นั่นคือ การเค้นบทแล้ว  การเขียนออก ก็จะเหมือนองค์ลง  เหมือนเราไม่ได้เขียนเอง ถ้าเขาไม่มา ก็ไม่มา แต่พอมาปุ๊ป เขียนทีเดียวไม่มีลบเลย ซึ่งเป็นประสบการณ์ตัวเอง แต่คนเขียนบทก็สามารถสร้างได้  แต่เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้  เพราะสิ่งแวดล้อมสำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่าครูอีก นี่คือหัวใจของการเขียน

ในแนวความคิดหลายประการ ของครูช่าง นั้นมีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนา แม้แต่เรื่องการรับเด็กมาเรียนในสำนักที่ไม่มีค่าใช้จ่าย รายได้ที่นำมาหล่อเลี้ยงสำนัก มาจากผู้บริจาค และการนำเด็กไปแสดงตามที่ต่างๆ โดยครูช่างบอกว่า การไม่เก็บเงิน  เพราะเชื่อมั่นในศาสนาพุทธ เหมือนพระบิณฑบาตร เราก็เก็บเงินพระไม่ได้ และอีกจุดหลักคือ ปฎิเสธความเป็นธุรกิจโดยสิ้นเชิง และพยายามทำให้สำนักอยู่ได้ด้วยตัวเอง เลี้ยงตัวได้ โดยไม่เฝ้ารอการสนับสนุนอย่างเดียว  อีกทั้ง มุมมองเกี่ยวกับการศึกษา ที่ปฎิเสธความเป็นวิชาการ โดยครูช่างมองว่าการสร้างสรรค์งานวิชาการควรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยผู้สร้างงานไม่ควรหวังผลตอบแทน เปรียบเสมือนปลูกดอกไม้ แล้วได้ดอกไม้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ไม่ควรหวังลาภยศ จากงานวิชาการที่ทำ ไม่เช่นนั้นจะทำให้วิชาการกลายเป็นเรื่องไม่จริง


“เป้าหมายของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้  คือ การทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ และเกิดความยั่งยืน แม้ผมไม่อยู่แล้ว ก็ขอให้ยั่งยืนไม่สูญสลายไปง่ายๆ   เพราะความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เปลี่ยนในทางเป็นประโยชน์โลกใบนี้ ต่อผู้ทำและผู้รับ คนมาใหม่แม้จะเปลี่ยนคอร์ส เปลี่ยนชื่อ  ก็ให้เป็นไปตามธรรมชาติของสถานการณ์”ครูช่างสรุป

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีสวธ.กล่าวเปิดศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ ของครูช่าง

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวในการเปิดบ้านของครูช่างว่า “ครูช่าง” มีประสบการณ์และสร้างสรรค์ผลงานตลอดเวลากว่า 40 ปี  เป็นผู้มีความสามารถสูง ในทุกบทบาท ทั้งละครโทรทัศน์ ละครเวทีและภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับการแสดงที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องเฉพาะตัว รวมถึงเป็นนักเขียนบทในรูปแบบการสอนเขียนบท ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ สำหรับการเขียนบทของประเทศไทย จึงเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ  ส่วนการเปิดพื้นที่บ้านเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” โดยได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการกับวิถีชีวิตและกลุ่มสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นการนำศาสตร์ด้านการแสดงมาใช้ในการสร้างสรรค์สังคม ประสานสังคม และบ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีคุณภาพต่อไป.

ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ ในบรรยากาศร่มรืน


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกวดการแสดงดนตรีพื้นบ้านไทย 4 ภาค เทิดพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ องค์วิศิษฏศิลปิน

กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพ

สงกรานต์ชลบุรี สานประเพณีธีม'งานวัด'

ชลบุรีเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่องจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทยภาคตะวันออกอย่างยิ่งใหญ่ โอกาสนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย

นิทรรศการผลงาน '12ศิลปินแห่งชาติ'

12 ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565  ร่วมงานวันศิลปินแห่งชาติ น้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในวันที่ 24  กุมภาพันธ์ และแสดงผลงานทรงคุณค่าในนิทรรศการเผยแพร่ประวัติ

Soft Power ไทยในเวที FIFA Congress 2024

เพื่อให้การเตรียมการแสดงในการประชุมใหญ่สามัญของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ครั้งที่ 74 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสร้างความประทับใจให้กับนานาประเทศ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมจัดประชุมสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA (Federation Internationale de Football Association)

ปลื้ม! สื่ออินเดียยกย่อง'สงกรานต์ในไทย' 1 ใน 9 สุดยอดเทศกาลระดับโลก

21 ก.พ.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ด้านเฟสติวัลและด้านการท่องเที่ยวรองรับนโยบาย Thailand Creative Content Agency (THACCA) และ วธ. มีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ สร้างเสน่ห์วิถีไทย