ถอดบทเรียนแก้ PM2.5 เอลนีโยเพิ่มฝุ่นปี 67

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ปี 2567  มีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่า คนในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคเหนือของไทย จะเผชิญสภาพอากาศเลวร้าย มีหมอกควันฝุ่นพิษปกคลุมรุนแรงมากขึ้น ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้ฝนน้อย และเกิดภาวะแห้งแล้งมากกว่าปกติ โอกาสที่จะเกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่งแจ้งจากภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 

ปีหน้าคนไทยต้องเตรียมรับมือปัญหามลพิษทางอากาศที่หนักหน่วงอีกครั้ง และหากย้อนไป 10 ปี ที่ผ่านมา ชีวิตของคนไทยเปื้อนฝุ่นพิษ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และ 8 จังหวัดภาคเหนือ  มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง วันที่อากาศสะอาดน้อยลงแนวโน้มพุ่งขึ้น  ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่นในไทยระบุว่า ส่วนใหญ่มาจากการเผาในพื้นที่โล่ง ขณะที่ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม เป็นสัดส่วนรองลงมา

แม้ ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562 – 2567 เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองภาพรวมของประเทศและในพื้นที่วิกฤต รวมถึงมีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ปีที่ผ่านมา แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีแผนดำเนินงานที่เข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้จะวางแนวทางบรรเทาฝุ่นพิษที่หนักปีหน้าอย่างไรบ้าง

เหตุนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการดำเนินงานและถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ปีงบประมาณ 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน

กัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การจัดประชุมสรุปผลและถอดบทเรียนฝุ่น PM2.5 ที่ผ่านมา 3 ครั้ง  1. มิติการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะอ้อย ที่ จ.ขอนแก่น 2. มิติหมอกควันข้ามพรมแดน ที่ จ.เชียงราย 3. มิติการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะข้าวที่จ.พระนครศรีอยุธยา มีข้อเสนอแนะจำนวนมาก ทั้งด้านกฎหมายและกฎระเบียบ เช่น การเปลี่ยนจากกำหนดวัน D-Day ห้ามเผา เป็นการบริหารการเผาตามช่วงเวลาและพื้นที่ กำหนด KPI จากพื้นที่ที่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของรัฐบาล มีศูนย์ขับเคลื่อนเรื่องฝุ่นโดยตรง เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ภาคเอกชนสามารถส่งเสริม หรือช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตรที่ไม่เผา ข้อตกลงทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม การปรับวิถีอาเซียนเรื่องภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมข้ามแดน การใช้กลไกบ้านพี่เมืองน้อง การสื่อสารที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารตลอดทั้งปี รวมถึงการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในระดับชุมชน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง การจัดหาสินค้าที่มีมาตรฐานและราคาไม่แพง โดยกรมควบคุมมลพิษจะสรุปผลนำไปสู่การพิจารณาในการจัดทำมาตรการในการจัดการฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น  PM2.5 จากแหล่งกำเนิดในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมยกระดับมาตรการการดำเนินงานแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างต่อเนื่อง มีการทบทวนปรับปรุงร่างแผนฯ ประจำปี 2567 เพื่อเตรียมขับเคลื่อนมาตรการฝุ่นกับทุกภาคส่วน เดินหน้าแก้ไขปัญหาและดูแลสุขภาพประชาชนเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กทม. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นหาต้นตอฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีสาเหตุหลักมาจากรถยนต์ รองลงมา การเผาในที่โล่ง จึงร่วมกับหน่วยงานในสังกัด สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเชิงรุก ติดตามแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 7 วัน ด้วยการบูรณาการข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ ทำงานร่วมกับ สสส. สร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรรมให้กับประชาชน พร้อมสื่อสารสาธารณะเพื่อให้สามารถวางแผนการทำงาน หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นสูง

“ คนกรุงเทพฯ สามารถมีส่วนร่วมด้วยการแจ้งปัญหาผ่านทาง Traffy Fondue ร่วมมือแก้ฝุ่น  PM2.5 จากต้นตอ เช่น กควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงาน สถานประกอบการ การเผาชีวมวลจากการเกษตร การเผาในที่โล่ง รวมถึงรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ   กทม.จะเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับให้บริการผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 “ พรพรหม กล่าว

ด้าน ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สหประชาชาติ ประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. ขับเคลื่อนการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งระดับระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ เน้นรณรงค์ป้องกันปัญหาจากต้นเหตุ และป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 การถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 กำหนดดำเนินการ 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาคที่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่แตกต่างกัน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข PM2.5 อย่างแท้จริง ทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน นำมาสังเคราะห์และส่งต่อไปยังกรมควบคุมมลพิษ เป็นการปรับแผนให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนใหม่ ที่กำหนดไว้เฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรด้วย ซึ่งเป็นการปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 15 ปี

 “ นอกจากแผนระดับชาติแล้ว สถานการณ์สภาพอุตุนิยมวิทยาในปัจจุบันที่เริ่มพัฒนาเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลเกิดความแห้งแล้ง อาจทำให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีความจำเป็นต้องสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ถอดบทเรียน และทบทวนมาตรการ แนวทางการดำเนินงานตามแผนต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมกับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศและดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ ” ดร.ชาติวุฒิกล่าว

นอกจากเวทีถอดบทเรียนแก้ปัญหาฝุ่นพิษของหน่วยงานรัฐ กทม. และภาคีแล้ว ก่อนหน้านี้ ภาคประชาขน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจ-ภาคเหนือ ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ต่อ  3 หน่วยงานภาครัฐ คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก  เมื่อ 22 มี.ค.2565 เพื่อให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM2.5 และคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน 

ต่อมา วันที่ 29 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด และพิพากษายกฟ้องในประเด็นการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารเจือปน ฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองในการพิจารณาที่ศาลไม่อาจก้าวล่วง

สำหรับประเด็นการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ศาลเห็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจริง แต่เนื่องจากได้มีการประกาศปรับค่ามาตรฐานแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลเมื่อ 8 ก.ค. 2565 หลังจากภาคประชาชนฟ้องเร่งรัดคดีนี้เพียง 3 เดือน ศาลจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบังคับในประเด็นนี้ 

แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาคดี ภาคประชาชนชนะในเบื้องต้น แต่จากนี้ยังต้องติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐต่อไป เพราะสุขภาพประชาชนถูกทำลายจากการสูดฝุ่นพิษทุกวินาที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022