เติมฝันต่อไฟนักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่

“ค่าย 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน” เป็นกิจกรรมประจำปี จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 18 โดยสำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสมาคมการ์ตูนไทย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้แนวคิด “ฝันใหม่ในโลกพลิกผัน (Dream and Disruption)” ค่ายนี้เป็นการรวมตัวของทั้งศิลปินนักวาดการ์ตูนและเยาวชนผู้ชื่นชอบการ์ตูนจากทั่วประเทศ รวมถึงครูอาจารย์ศิลปะ เปิดโอกาสให้นักวาดการ์ตูนมืออาชีพถ่ายทอดประสบการณ์การวาดการ์ตูน แสดงงาน และให้น้องๆ คนรุ่นใหม่เรียนรู้เทคนิคการวาดการ์ตูน พบปะพูดคุยกับศิลปินใกล้ชิดในรูปแบบค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 1-4 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา  ณ บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม นอกจากค่ายการ์ตูน ยังมีโครงการค่ายกล้าวรรณกรรมที่ ซีพี ออลล์ จัดกิจกรรมช่วงเดียวกันด้วย

ความเข้มข้นของค่ายการ์ตูนฯ  มีวิทยากรนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพและนักวาดภาพประกอบ เช่น เซีย ไทยรัฐ ,ขวด เดลินิวส์ ,เอก- วิรัตน์ ยืนยงพัฒนากิจ  ,อินกับทราย,สละ นาคบำรุง,สิทธิพร กุลวโรตตมะ แต่ละคนดีกรีเจ้าของผลงานการ์ตูนชื่อดัง รวมถึงคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ   ตลอด 4 วัน เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรม 45 คน และครูอาจารย์  6 คน สนใจ สอบถาม และลงมือปฏิบัติวาดการ์ตูนเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองจนได้ผลงานหนังสือการ์ตูนเบื้องต้น

ศักดา เอียว หรือ เซีย ไทยรัฐ อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย  กล่าวว่า การ์ตูนติดอันดับหนังสือขายดี เยาวชนนิยมอ่าน มีส่วนสร้างวัฒนธรรมการอ่าน นำไปสู่การอ่านวรรณกรรมอื่นๆ อีกทั้งวัยรุ่นมีความชื่นชอบวาดการ์ตูน รวมกลุ่มแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะในโรงเรียนมีการตั้งชมรมการ์ตูนมากมาย นอกจากการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นแล้ว การสอดแทรกวัฒนธรรม ค่านิยมที่ดี สร้างจิตสาธารณะ นำมาสู่การจัดโครงการค่ายการ์ตูนครั้งแรกเมื่อปี 47 ปัจจุบันเป็น รุ่นที่ 18 เน้นนักเรียนมัธยมปลาย  ปีนี้มีเยาวชนส่งผลงานสมัครร่วมโครงการกว่า 300 คน ผ่านคัดเลือก 50 คน ซึ่งเขียนภาพสวย เล่าเรื่องสนุก และมีทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิต

“ น้องๆ กระตือรือร้นอยากพัฒนาฝีมือ อยากวาดเก่ง ตั้งใจอบรมนำความรู้ กลเม็ดจากวิทยากรไปพัฒนางานการ์ตูนของตัวเอง  ทุกคนขวนขวายและทำงานการ์ตูนอย่างเต็มที่   รูปแบบค่ายเน้นทำงานอย่างสนุกสนาน รุ่นนี้ปรับรูปแบบทำงานเป็นกลุ่ม คิด 1 เรื่อง แบ่งงานกันทำ เพื่อรวมกันเป็นงานการ์ตูน เราสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน เยาวชนที่ผ่านค่ายการ์ตูนเติบโตเป็นนักออกแบบ นักวาดการ์ตูน สถาปนิก หรือทำงานพัฒนาชุมชน ยืนหยัดทำสิ่งที่รักที่ฝัน วันนี้อาชีพนักเขียนการ์ตูนคนรุ่นใหม่มีโอกาสเติบโต สร้างรายได้จากช่องทางโซเชียลมากขึ้น ต่อยอดสู่การจัดพิมพ์รวมเล่ม “  อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย กล่าว

วิรัตน์ ยืนยงพัฒนากิจ นักเขียนการ์ตูนชั้นนำ มีผลงานการ์ตูนมากมาย  กล่าวว่า ค่ายการ์ตูนฯ จัดต่อเนื่องทุกปี  มีคนรุ่นใหม่ชอบวาดการ์ตูนสนใจร่วมกิจกรรม เพราะค่ายนี้ส่งเสริมศักยภาพในการวาดการ์ตูนผ่านการพบปะนักวาดการ์ตูนที่มีฝีมือและการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนเยาวชนที่ร่วมค่าย เด็กกลุ่มนี้มีไฟ มีพลังมาก เราจุดประกายให้เด็ก พวกเขาก็จุดประกายให้ครูผู้สอนเช่นกัน เพราะการเขียนการ์ตูนเป็นความหวัง ความฝันที่เราต้องร่วมกันพัฒนาวงการการ์ตูนไทย

“ นักเขียนอาชีพให้เทคนิคต่อยอดพื้นฐานการวาดการ์ตูนกับน้องๆ ทั้งการวางกรอบการ์ตูน วางช่องคำพูด การวางองค์ประกอบภาพให้สวยงาม การสร้างภาพจุดรวมสายตา เราให้อิสระสร้างสรรค์ตามจินตนาการ  เพื่อให้น้องๆ เรียนรู้ เมื่อผิดพลาดก็ช่วยเสริม แก้ไข ค่ายการ์ตูนมีจุดเด่นเป้าหมายผลักดันให้น้องๆ สร้างชิ้นงานสำเร็จ จำลองชีวิตนักเขียนการ์ตูนมาไว้ที่นี่  รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องจริยธรรมและลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ด้วย ภูมิใจกับเยาวชนที่ผ่านค่ายสามารถต่อยอดในอาชีพนักเขียนการ์ตูนได้  “  วิรัตน์ นักเขียนชื่อดังย้ำค่ายเติมไฟสำคัญ

น้องสโนว์-นางสาวณัฐนิช คำพุด น.ร.ชั้น ม. 6 ร.ร.คุรุประชาสรรค์ จ.ชัยนาท บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ร่วมค่ายการ์ตูน  ดีใจมากตั้งแต่ผลงานผ่านคัดเลือก จนได้อบรมกับนักเขียนการ์ตูน ทำให้ได้สำรวจตัวเองว่า ถนัดวาดการ์ตูนแนวไหน ได้ประสบการณ์ร่วมงานเป็นทีม  ได้ทำงานเขียนการ์ตูนสู้กับกรอบเวลา โดยมีครูเป็นบรรณาธิการเล่มให้ ค่ายนี้ให้ความรู้ใหม่ๆ ทั้งเทคนิคจัดวางช่องการ์ตูน เรื่องบรรทัดและวรรคของการ์ตูน ช่วยให้อ่านการ์ตูนได้ง่ายขึ้น ดูสวยงาม  ทิศทางการอ่านของไทยกับญี่ปุ่นก็ต่างกัน รู้จักมุมมองภาพตัวละคร มุมปกติ มุมเงย มุมก้ม วิทยากรให้ความรู้ไปถึงการวางแผนการตลาดของการ์ตูน ยกตัวอย่างวิธีทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นเป็นที่รักและสัญลักษณ์เมือง ที่สำคัญได้มิตรภาพเพิ่มจากเพื่อนใหม่ที่ชอบวาดการ์ตูนแนวเดียวกัน คือ แอคชั่นและขำขัน

 “ หนูฝันอยากมีการ์ตูนของตัวเองสักเรื่อง คิดว่าไม่ยาก แต่การเขียนการ์ตูนที่ดี สามารถเล่าเรื่อง สื่ออารมณ์ผ่านภาพและข้อความให้คนอ่านเข้าใจตรงกับผู้เขียนยาก ค่ายการ์ตูนช่วยเติมเต็มเรื่องนี้  และหนูสามารถต่อยอดในการทำงานต่อไป อีกทั้งจะนำประสบการณ์ที่ได้รับส่งต่อในโรงเรียนด้วย” น้องสโนว์บอกด้วยรอยยิ้ม

เสร็จสิ้นการอบรมนักเรียนและครูอาจารย์โครงการค่ายกล้าวรรณกรรมและค่ายการ์ตูนฯ รุ่น 18  ได้รับมอบวุฒิบัตรจากประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โอม-เลิฟ-จูน' สุดปลื้ม! คว้าปริญญาจากรั้ว มศว. ได้สำเร็จ

ขอแสดงความยินดีและปรบมือรัวๆ ให้กับ 3 บัณฑิตใหม่ป้ายแดง โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี, เลิฟ-ภัทรานิษฐ์ ลิ้มปติยากร, จูน-วรรณวิมล เจนอัศวเมธี นักแสดงสุดปังสังกัด GMMTV ที่หลังจากได้ตั้งใจและทุ่มเททำงานควบคู่ไปกับการเรียน จนล่าสุดคว้าปริญญาตรี วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประจำปีการศึกษา 2564 ได้สำเร็จ สร้างความภาคภูมิใจและดีใจให้กับทั้ง 3 คนเป็นอย่างมาก

เตรียมเงินเลย 'หุ้นกู้ดิจิทัล ซีพีออลล์' ผ่านแอป 'เป๋าตัง' ชูผลตอบแทน 3.25%

ครั้งแรกกับการเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล “ซีพี ออลล์” อายุ 5 ปี ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง”ผนึกกำลังแบงก์กรุงไทยเพิ่มโอกาสนักลงทุนเข้าถึงหุ้นกู้ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เครดิตเรทติ้ง A+ อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี คาดว่าจะเสนอขาย 24-26 พฤษภาคมนี้