เลือก'รพ.ราชพิพัฒน์' เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) โซนธนบุรี

16 ต.ค. 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันทำพิธี Kick off โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) โซนธนบุรี พื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้กับกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะในพื้นที่ กทม.

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้ความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้กับคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยบทบาทของการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ทำการสำรวจข้อมูลและต้นทุนการใช้บริการสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ในสถานบริการสังกัดสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กทม. พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ

ทั้งนี้ เดิมทีในการพิสูจน์ตัวตนนั้น ประชาชนอาจจะต้องกลับไปดำเนินการตามภูมิลำเนาเดิม แต่ปัจจุบันกรมการปกครองได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถพิสูจน์ตัวตนในพื้นที่ กทม. ได้ ผ่านหน่วยตรวจ DNA ใน กทม. ที่มี 2 แห่ง คือ 1. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้บริการทั้งในรูปแบบเดินทางเข้ามาตรวจที่สถาบัน กับรูปแบบการลงพื้นที่หรือใช้เครือข่ายหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจส่งให้สถาบันฯ 2. โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งให้บริการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น

“ในวันนี้ทาง กทม. เราได้ทำการ Kick off ให้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในพื้นที่ กทม. ที่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับการพิสูจน์ตัวตน โดยเฉพาะประชาชนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในโซนธนบุรี ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ารับการพิสูจน์ตัวตน เพื่อให้ได้รับบัตรประชาชน และสามารถมีสิทธิเข้ารับบริการสุขภาพได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิบัตรทองถือเป็นกลไกหลักของประเทศไทยที่ช่วยดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อย่างไรก็ตามยังคงมีประชากรจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ อันเนื่องมาจากการมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ด้วยปัจจัยสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่ได้รับแจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย เป็นต้น ส่งผลให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก จึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้เฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

บุคคลที่มีปัญหาสถานะเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไร้สิทธิ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ โดยนำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือ “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ระหว่าง 9 หน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2563 เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และบูรณาการพัฒนาระบบข้อมูลของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนร่วมกัน

สำหรับ 9 หน่วยงาน ที่ลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กทม. สสส. สปสช. องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยที่ผ่านมาหน่วยงานทั้ง 9 ต่างขับเคลื่อนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่และภารกิจของแต่ละแห่งเพื่อแก้ปัญหาสิทธิของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน

พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กระบวนการพิสูจน์และสืบข้อมูลบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน สำหรับในพื้นที่ กทม. นั้น ทางเจ้าหน้าที่เขตจะทำการพูดคุยและรวบรวมหลักฐานที่มี หรือที่สำนักงานเขตหาได้ ซึ่งหากการพิสูจน์ผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะนำไปสู่การทำบัตรประชาชน และสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้ทันที แต่หากกรณีที่มีหลักฐานไม่มากเพียงพอ ตามระบบจะมีการเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม หรือ DNA เป็นอีกช่องทางในการพิสูจน์ตัวตน

“การตรวจ DNA จะเป็นขั้นตอนที่ช่วยพิสูจน์ทราบจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถออกบัตรให้กับผู้ที่เข้ารับการตรวจได้ หากพบความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้ที่มีสัญชาติไทย ซึ่งกระบวนการเข้ารับการตรวจนั้น จะดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ที่เข้าร่วม โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด”ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ ฯ กล่าว

ขณะที่ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน และ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน นับเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเฉพาะที่ สสส. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิสูจน์สัญชาติเพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาวะด้านอื่นๆ โดยบทบาทของ สสส. จะเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาต้นแบบ กระบวนการแก้ไขปัญหาคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายในการช่วยเหลือให้คนไทยเหล่านี้ได้เข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดี

“ที่ผ่านมาเราเป็นส่วนหนึ่งที่ได้หนุนเสริมให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เอื้อให้เกิดการเก็บข้อมูลที่แม่นยำขึ้น และสนับสนุนหลายองค์กรในการทำข้อมูลของกลุ่มคนไร้สัญชาติเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ และสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งการ Kick off หน่วยเก็บ DNA เพิ่มขึ้นในพื้นที่ กทม. นี้จะช่วยให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและคืนสิทธินี้สามารถทำได้มากขึ้นอีกระดับ” ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนฯ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทย์ชนบท' แฉเบื้องลึก! ทำไม 'หมอชลน่าน' หลุดเก้าอี้

เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความว่า ชมรมแพทย์ชนบท ขอขอบคุณ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน