ทลาย 'นมผงลวงโลก' CIB ผนึก อย. พบเป็นเครือข่ายทุนเวียดนาม

16 พ.ย. 2566 - กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.บก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีกวาดล้างเครือข่ายชาวเวียดนาม โฆษณาขายนมสรรพคุณสารพัดเกินจริง ตรวจยึดของกลาง 23 รายการ รวมกว่า 43,411 ชิ้น มูลค่ากว่า 40,000,000 บาท

พฤติการณ์กล่าว คือ สืบเนื่องจากปัจจุบันค่านิยมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นที่ได้รับความสนใจของผู้บริโภค จึงทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอม หรือผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพในลักษณะเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาทิเช่น แก๊งนายทุนจีน และนายทุนเวียดนาม ฯลฯ โดยจะมีการแอบอ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ นำมาตัดต่อสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สินค้า แล้วขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานให้แก่ประชาชน โดยเมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้า ปรากฏว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง บางรายเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และไม่สามารถขอคืนเงินได้

ประกอบกับ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่า มีเว็บไซต์ที่มีการตัดต่อภาพ วิดีโอเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ และปรากฏมีการโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นวงกว้าง มีเนื้อหาที่มีการบรรยายสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารอันเป็นเท็จ จำนวน 4 เว็บไซต์ ได้แก่

  1. https://www.ovisureth.site/
  2. https://www.ovisureofficial.com/
  3. https://www.youtube.com/channel/UC9d1lEKxZ1y2SKC18z2Kd6w
  4. https://suachoxuongkhop.info/

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าวพบว่า เป็นเว็บไซต์ที่โฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมผงยี่ห้อ Ovisure Gold โดยการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณนมที่เกินจริง เช่น ปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน เสริมสร้างสติปัญญา บรรเทาอาการปวดข้อปวดไหล่ อาการเหน็บชา ป้องกันความเสื่อมและโรคกระดูกพรุน ฟื้นฟูข้อต่อและเสริมสร้างกระดูกอ่อน ลดอาการปวดกระดูกและข้อให้หายภายใน 3 วัน ฯลฯ และกล่าวอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง จาก FDA สหรัฐอเมริกา และนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

ซึ่งผลิตภัณฑ์นมผง Ovisure Gold เคยปรากฏเป็นข่าวบนสื่อออนไลน์ว่ามีการนำคลิปวิดีโอ และภาพถ่ายบุคคลที่มีชื่อเสียงจากแหล่งต่าง ๆ มาตัดต่อและโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโฆษณา คุณประโยชน์ คุณภาพของอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตและแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งหากผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน เพื่อหวังผลในการบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดไหล่ อาการเหน็บชา และโรคกระดูกพรุน จะเสียเงินเปล่า และเสียโอกาสในการรักษา

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. สืบสวนจนทราบถึงแหล่งจัดเก็บและกระจายผลิตภัณฑ์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้น และได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าทำการตรวจค้น สถานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี จำนวน 2 จุด ดังนี้

  1. อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ม.6 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 8 รายการ, ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ จำนวน 3 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ จำนวน 1 รายการ พร้อมจับกุมผู้ต้องหาชาวเวียดนาม จำนวน 2 ราย
  2. บ้านพักชั้นเดียว ม.1 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 8 รายการ, เครื่องมือแพทย์ จำนวน 1 รายการ, ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ จำนวน 1 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ จำนวน 1 รายการ พร้อมจับกุมผู้ต้องหาชาวเวียดนาม จำนวน 6 ราย

รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวนกว่า 37,911 ชิ้น เป็นนมผงยี่ห้อต่าง ๆ 36,471 กระปุก, ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 4,120 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ จำนวน 1,080 ชิ้น และเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดยี่ห้อ SINOCARE จำนวน 300 ชิ้น รวมของตรวจยึดทั้งหมด 43,411 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารที่ตรวจยึดเป็นนมผงยี่ห้อต่าง ๆ รวม 11 ยี่ห้อ ได้แก่

  1. OVISURE GOLD อ้างสรรพคุณว่า ลดอาการปวดข้อ ป้องกันโรคเข่าเสื่อม ต่อสู้กับโรคกระดูกพรุน เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนใน 7 วัน
  2. Digo sure อ้างสรรพคุณว่า เหมาะสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ บรรเทาอาการปวดข้อ ปวดไหล่ เหน็บชา ฟื้นฟูและเสริมสร้างกระดูกอ่อนและข้อต่อ
  3. Zextra Sure อ้างสรรพคุณว่า มีประโยชน์ในการรักษากระดูกสันหลังเสื่อม โรคข้อเสื่อม บรรเทาอาการอัมพาตครึ่งซีก
  4. Via Sure Canxi อ้างสรรพคุณว่า ลดอาการปวดข้อและกระดูก ฟื้นฟูและสร้างกระดูกอ่อนใหม่
  5. Hevisure gold อ้างสรรพคุณว่า ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ตาบอด ไตวาย ฯลฯ
  6. GluOats อ้างสรรพคุณว่า ลดและรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ป้องกันหัวใจล้มเหลว ไตวาย ติดเชื้อในตับ
  7. Gluzextra Gold อ้างสรรพคุณว่า รักษาโรคเบาหวาน ควบคุมน้ำตาลในเลือด และลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคอันตรายต่าง ๆ
  8. HIUP COMPLETE อ้างสรรพคุณว่า เพิ่มความสูง 3 - 5 ซม. ภายใน 3 เดือน มีสรรพคุณสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป 10 เท่า
  9. Sica sure canxi wemee อ้างสรรพคุณว่า เพิ่มความสูง 3 - 5 ซม. ภายใน 3 เดือน มีสรรพคุณสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป 10 เท่า
  10. Pro up อ้างสรรพคุณว่า เพิ่มภูมิต้านทาน เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน นอนหลับลึก เพิ่มน้ำหนัก 10 กก. ภายใน 1 เดือน
  11. Hevifood Body fit อ้างสรรพคุณว่า ลดน้ำหนัก 3 - 4 กก. ภายใน 2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องอดอาหาร

โดยขณะตรวจค้น พบชาวต่างชาติ สัญชาติเวียดนาม รวม 8 ราย กำลังแพ็คบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อรอจำหน่าย โดยเมื่อตรวจสอบหนังสือเดินทางพบมีเอกสารการเดินทางเข้าออกถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี ในข้อหา

  1. ร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง, 2. ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3. ร่วมกันขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา, 4. ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต, 5. ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ, 6. ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่มิได้รับใบจดแจ้ง, 7. ร่วมกันเป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 8. ร่วมกันเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน

จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดมีนายทุนชาวเวียดนาม ทำการการเปิดโฆษณาจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ โดยลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์มาจากประเทศเวียดนาม และนำสินค้ามาเก็บไว้ตามอาคารให้เช่าต่าง ๆ เพื่อรอการจำหน่าย เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้า แอดมินเพจจะส่งข้อมูลการสั่งซื้อให้กลุ่มผู้ต้องหาชาวเวียดนามทำการบรรจุ และส่งให้กับลูกค้าในประเทศไทย

จากการตรวจสอบสถานะทางด้านการเงินของกลุ่มเครือข่ายดังกล่าว พบว่า มีการเปิดบัญชีสำหรับรับโอนเงินค่าสินค้า ตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2566 - ปัจจุบัน รวมระยะเวลา 3 เดือน มีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 175 ล้านบาท เบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน

  1. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (10) ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
  2. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72 (4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
  • ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  1. พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบรับจดแจ้ง” ระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. พ.ร. บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. พ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ. 2560 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 10,000 บาท

ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนจนสามารถจับกุมผู้ค้า ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้เป็นอาหารที่ลักลอบนำเข้า ไม่ขออนุญาตทั้งหมด โฆษณาโอ้อวดเกินจริง ซึ่ง อย. ได้ประชาสัมพันธ์ว่าเป็นข่าวปลอมเผยแพร่ทางเว็บไซต์ อย. และส่งข้อมูลรายงานให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1) “OVISURE GOLD” 2) “HEVISURE GOLD” 3) “HIUP COMPLETE” 4)Sica sure canxi wemee และพบผลิตภัณฑ์อื่นอีก 10 รายการ ได้แก่ 1) ZextraSure 2) Via Sure Canxi 3) GluOats 4) Gluzextra Gold 5) Digo sure6)Hevifood Body fit 7) Pro up 8) Boca Max 9) Gluhealth 10) Boca premier ที่โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ ไม่มีหลักฐาน หรือผลการทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน จึงขอเตือนผู้บริโภคว่าไม่มีอาหารที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ โฆษณาเกินจริง ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: [email protected], Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าขอให้ระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ควรซื้อสินค้าจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่โฆษณาหลอกลวงบรรยายสรรพคุณเกินจริง หรือซื้อเพราะราคาถูกเกินกว่าราคาทั่วไป เนื่องจากหลังจากที่ผู้บริโภคซื้อและได้ใช้สินค้า อาจไม่ได้มีสรรพคุณตามที่โฆษณาหลอกลวงไว้ หรือไม่ได้ผลการรักษาตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ผู้บริโภคเสียเงิน และสูญเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ และขอเตือนไปยังผู้กระทำความผิดหลอกลวงคนอื่นด้วยวิธีการเอาความเจ็บป่วย หรือความเยาว์วัยมาหลอกลวงขายสินค้าให้กับผู้บริโภค หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง! รองโฆษกรัฐบาลออกมาการันตี 'ยาย้อมผม'

'คารม' เผย อย.สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค ระบุยาย้อมผม มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ใช้ชนิดและปริมาณสารเคมีตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัย ย้ำยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดเป็นอันตรายต่อตับหรือไต

สธ. หารือแนวทางเยียวยาผู้ใช้ยาลดความดันโลหิตสูง 'เออบีซาแทน' ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งเรียกคืนยารักษาโรคความดันโลหิตสูง “เออบีซาแทน” (Irbesartan) ที่จำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากยาบางรุ่นการผลิต พบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเอแซดบีทีใน