เดิมพัน 8.25 หมื่นล้าน ลบภาพ'คลองแสนแสบ'เป็น'คลองแสนสวย'

คลองแสนแสบเป็นคลองขุดขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)เมื่อพ.ศ.2380 เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง  ส่วนหนึ่งของแม่น้ำใช้เพื่อการขนส่งสาธารณะคลองนี้มีความยาว 72 กิโลเมตรไหลผ่าน 21 เขต ของกรุงเทพฯ   และเชื่อมคลองสายย่อยกว่า 100 แห่ง  

ภาพของคลองแสนแสบ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ เป็นคลองมีน้ำสีดำ มีน้ำเน่าเหม็น  เล่ากันว่าที่มาของชื่อคลองแสนแสบ มาจากการที่มียุงชุมมาก เพราะมีการทิ้งขยะและสิ่งปฎิกูลลงในแม่น้ำ แม้จะผ่านมากว่า 180ปี แต่สภาพของคลองแสนแสบ ก็ยังไม่ดีขึ้น ไม่ได้เป็นคลองสวย น้ำใส อย่างที่หลายคนอยากเห็น

ล่าสุดในการประขุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 มีมติอนุมัติงบประมาณ 82,563 ล้านบาทในการฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นระยะเวลา 11 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2574  รวมทั้งสิ้น 84 โครงการ ดำเนินการ 3 ระยะ คือ1.ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2564) 2.ระยะกลาง ( พ.ศ.2565-2570) 3.ระยะยาว (พ.ศ. 2571 -2574)

โดยมีการรายงานปัญหาคลองแสนแสบให้กับครม.รับทราบว่าปัจจุบัน คลองแสนแสบและคลองสาขามีปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเกิดจาก (1)กิจกรรมครัวเรือนหรือชุมชนที่มีบริเวณติดคลองแสนแสบและคลองสาขา (ร้อยละ 70 )ของปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขาทั้งหมด) (2) โรงงาน สถานประกอบการต่าง ๆที่จะต้องจัดระบบการระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพมาตรฐานก่อนระบายสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง (ร้อยละ29) และ (3) การเดินเรือและการสะสมของตะกอนท้องคลอง (ร้อยละ 1) โดยจากการประเมินและตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ พบว่า ในปี 2563ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่ที่คาดว่าจะระบายลงคลองแสนแสบโดยไม่ผ่านการบำบัด อยู่ที่  807,672ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading)* เท่ากับ 64,614 กิโลกรัมต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* ในพื้นที่ต่าง ๆ ระหว่าง 6.9 มิลลิกรัมต่อลิตร – 12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยคลองสาขาต่าง ๆ มีความสกปรกมาก เช่น คลองลาดพร้าวมีค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น(BOD loading)* 9,832 กิโลกรัมต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* อยู่ที่ 18 มิลลิกรัมต่อลิตร

โดยก่อนหน้านี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้เคยเข้าตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งพื้นที่ริมคลองแสนแสบ และคลองสาขา ตั้งแต่เดือนต.ค.2558 – เดือนก.ย. 2560 ได้แก่ โรงแรม อาคารชุด โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ตลาด และที่ดินจัดสรร จำนวน 631 แห่ง      ผลการตรวจสอบในครั้งแรกพบว่า มีแหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมไม่เป็นไปตามมาตรฐานถึงร้อยละ 66 จึงใช้มาตรการบังคับทางปกครองออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ สำหรับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฯ จะมีโทษปรับสูงสุดในอัตรา 2,000 บาท/วัน จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัด น้ำเสียให้บำบัดน้ำทิ้งตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

การฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครม ได้มอบหมายให้ 8 หน่วยงาน ได้แก่กรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์การจัดการน้ำเสีย กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา  ร่วมดำเนินการ โดยตอบสนอง5 เป้าประสงค์ดังนี้


1.เสริมสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำของประชาชน 10 โครงการ ดำเนินการโดย กทม.กรมเจ้าท่า และจ.ฉะเชิงเทรา ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) การเดินเรือในคลองแสนแสบมีส่วนต่อขยายเพิ่มเติม 10.50 กม. มีท่าเทียบเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 8 ท่า ระยะกลาง (ปี 2565-2570) การพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือในคลองแสนแสบ 10 ท่า เรือไฟฟ้าสัญจร 12 ลำ รองรับประชาชนใช้บริการเรือไฟฟ้าส่วนต่อขยายวัดศรีบุญเรืองถึงสำนักงานเขตมีนบุรี ได้ถึง 800 – 1,000 คนต่อวัน


2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 14 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง 190 ตร.กม. คลองบางขนากมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนริมคลองและซ่อมแซมสะพานข้ามคลองพัฒนาและขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ 21 แห่ง ระยะกลาง (ปี 2565-2570) มีสะพานข้ามคลองบางขนาก 4 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณการสัญจรได้ 4,000 คัน/วัน


3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ 44 โครงการ ดำเนินการโดย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร องค์การจัดการน้ำเสีย และจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) จัดระเบียบพื้นที่ภายในคลองแสนแสบ มีระบบรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 10,000 ลบ.ม./วัน


การบังคับใช้กฎหมายเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบกำกับดูแลโรงงานบริเวณคลองแสนแสบ การติดตามและตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ อาคารประเภทต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะกลาง (ปี 2565-2570) ระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 661,000 ลบ.ม./วัน และระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 2 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 935 ลบ.ม./วัน ระยะยาว (ปี 2571 -2574) ระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 597,000 ลบ.ม./วัน และระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 24 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 2,590 ลบ.ม./วัน
4.การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ 1 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานครระยะเร่งด่วน (ปี 2564) สำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา


5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ 15 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) กำจัดวัชพืชคลองบางขนาก ปริมาณ 14,700 ตัน ระยะกลาง (ปี 2565-2570) เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บางส่วนของเขตบางกะปิ เขตสะพานสูง เขตบึงกุ่ม และเขตคันนายาว พื้นที่ 25 ตร.กม. ด้วยอุโมงค์ระบายน้ำในอัตราการระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที ความยาว 3.8 กม. การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะ 33.32 กม. มีพื้นที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 130 ตร.กม. เป็นต้น


ในการรายงานครม.มีการระบุผลผลสัมฤทธิ์โดยรวมที่ได้จากการฟื้นฟู คือ  1.มีการพัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำโดยมีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบในกรุงเทพฯ ทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้าในการสัญจร รองรับการใช้บริการ 800 – 1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือคลองแสนแสบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสาร


2.มีการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจรทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน และอาคารประเภทต่าง ๆ พร้อมมีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39  แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน


3 มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ ได้แก่  1.)ในพื้นที่กรุงเทพฯ  มีอุโมงค์ระบายน้ำสามารถเร่งการระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตรช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่ 2.) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำเครื่องสูบน้ำและปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย เป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองวัฒนธรรมและมีอารยธรรม  แต่ขณะนี้กรุงเทพฯ มีริ้วรอยและไม่น่าดู ทุกคลองเน่าเสีย ต้องเทียบกับกรุงโตเกียว กรุงโซล ที่มีคลองเป็นหน้าตาของประเทศ ไม่ใช่หน้าอาย เห็นด้วยกับที่มีแนวคิดจัดทำแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ แต่แนวทางโครงการ งบประมาณ จำเป็นต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณะ โครงการต่างๆ ควรจัดทำเวทีTechnic Hearing กับนักวิชาการ เพื่อให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการที่ทั้ง 8 หน่วยงานจะจัดทำเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูมลภาวะของคลองแสนแสบ  จากนั้นจะต้องดำเนินการจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ หรือ Public Hearing กับประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

“  แผนพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี วงเงินงบประมาณกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท เท่ากับใช้งบฯ ปีละเกือบ 7.5 พันล้าน ถามว่าทำไมต้องพัฒนา ปรับปรุง  และฟื้นฟูเฉพาะคลองแสนแสบ คลองก็เป็นหน้าตาของเมืองเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตและทำให้เมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น  แต่คลองในกรุงเทพน้ำเน่าเสียเป็นสีดำ ถ้าใช้เวลาพัฒนาคลองแสนแสบ11ปี ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาทำกับคลองสามเสน คลองผดุงกรุงเกษม  คลองเปรมประชากร  มันไม่ทันหรอก รัฐบาลต้องปรับแนวคิดจากการใช้งบฯ เป็นค่าใช้จ่ายแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองเป็นการลงทุนที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น  “ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าว

 นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมแสดงทัศนะว่า แผนพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบที่ผ่านการอนุมติของครม. จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบการจัดการน้ำเสียของชุมชนเมือง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสียและลงสู่สิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ เป็นเมืองเก่า ใช้ท่อร่วม  แต่ประเทศที่เจริญแล้วมีระบบท่อแยก คือ แยกท่อระบายน้ำฝนกับท่อน้ำเสีย ท่อระบายน้ำฝนจะส่งน้ำลงคลอง แม่น้ำ และทะเล  ถ้ามีท่อแยก จะส่งน้ำเสียไปบำบัดที่โรงบำบัดฯ วิธีการจัดการน้ำเสียชุมชนในปัจจุบันของกรุงเทพฯ ยังปลดปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนถึง 20 เท่า ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ นอกจากจะไม่แก้ปัญหาน้ำเสีย ยังจะเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันกรุงเทพฯ สู่เมืองคาร์บอนเป็นศูนย์อีกด้วย

“ ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดจากกิจกรรมครัวเรือนหรือชุมชนร้อยละ 80 จากเดิมคนชี้นิ้วโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ทำให้น้ำในคลองเน่า  ฉะนั้น จะแก้น้ำเสียคลองในกรุงเทพฯ ไม่เพียงคลองแสนแสบและคลองสาขา ต้องพัฒนาปรับปรุงการจัดการน้ำเสียชุมชน แล้วก็ไม่ใช่แค่ชุมชนที่มีบริเวณติดคลองเท่านั้น แต่ทุกชุมชนล้วนก่อมลภาวะทางน้ำจากระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียในบ้าน อาคาร ร้านอาหาร สถานประกอบการ ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงขาดการบำรุงรักษา ที่สำคัญสะท้อนไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง   “ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าว  

นอกจากนี้ แผนพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบจะคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ได้ต้องครอบคลุมทุกมิติ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย  ย้ำว่า การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณรอบคลอง ทำให้น่ามองเมื่อมีผู้คนสัญจรทางเรือผ่านไปมา ไม่มีกองขยะทิ้งสกปรกบริเวณแนวกำแพง  จะช่วยเพิ่มความสุนทรีย์ในการดำเนินชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางน้ำในเมืองอีกด้วย  การแก้ไขการบุกรุกทำลายหรือรุกล้ำลำคลองแสนแสบ รวมถึงคลองสาขา ที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนัก และทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วม ก็ต้องแก้ไขมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังด้วยเช่นกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลังงานจ่อของบเฉียด 2 พันล. อุ้ม 'ค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม' ช่วยกลุ่มเปราะบาง

จับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ คาดว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เปิดใจ ‘ปานปรีย์’ ละเอียดยิบ เหตุยื่นหนังสือลาออก ’รมว.ต่างประเทศ’

'ปานปรีย์’ยอมรับขอลาออกจากรมว.กต. เหตุถูกปรับพ้นรองนายกฯ หวั่นไร้ตำแหน่งรองนายกฯพ่วงอาจทำงานไม่ราบรื่น เชื่อยังมีคนอื่นเหมาะสมมาทำงานแทนได้ อำลาทีมผู้บริหารกระทรวงฯแล้ว

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

พรรคร่วมรัฐบาลเคาะ 'ทำประชามติ' 3 รอบ เข้า ครม. อังคารนี้

'ภูมิธรรม' คอนเฟิร์มทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ชง ครม. อังคารนี้ คาดทำรอบแรกเดือน ส.ค. ซัดกลุ่มจ้องเคลื่อนไหวห้ามปชช.ใช้สิทธิ์ ปัดหารือหัวหน้าพรรคร่วมเรื่องนิรโทษกรรม