ดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธ.ค.นี้ เฉลี่ย 120-150 ดวง/ชม. เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 2 ทุ่ม มาถี่หลังเที่ยงคืน

12 ธ.ค.2566 – สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)แจ้งชวนประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าค่ำคืนเดือนธันวาคมกับ ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ที่จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 20 ธันวาคม ของทุกปี มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม สามารถรอชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มดาวคนคู่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไป ฝนดาวตกจะปรากฏให้เห็นเป็นลำแสงวาบพาดผ่านทั่วท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ดูได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท ซึ่งปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง โดยปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า จะตกเฉลี่ยประมาณ 120-150 ดวงต่อชั่วโมง ดูได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย

สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนเข้าผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่น ขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) หลงเหลือทิ้งไว้ ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านสายธารดังกล่าว แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเหล่านั้นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ปรากฏให้ผู้สังเกตการณ์บนโลกเห็นเป็นลำแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball ซึ่ง “ฝนดาวตก” จะแตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ

NARIT (สดร.)เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม จึงเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ดังนี้ ที่เชียงใหม่ จัดกิจกรรม “แอ่วสวน ผ่อดาวกลางดอย นอนกอยฝนดาวตกเจมินิดส์” ภายในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 17:00 – 02:00 น. สอบถามกิจกรรมที่ โทร. 081-8854353 หากประสงค์ค้างคืน สอบถามที่พัก โทร. 062-5942963 (ลานกางเต็นท์สวนพฤกษ์)

สำหรับภูมิภาคอื่น ๆ จัดขึ้น ณ หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 17:00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า โดยที่โคราช จัดที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489 ขอนแก่น ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น โทร. 063-8921854 ฉะเชิงเทรา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264 และสงขลา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา โทร. 095-1450411 โดยลักษณะการจัดกิจกรรมจะแตกต่างละพื้นที่ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามเบอร์โทรศัพท์แต่ละพื้นที่และทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดร.เผยภาพดาวหาง ฝีมือคนไทยบันทึกจากยอดดอยอินทนนท์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เป็นฝีมือคนไทยบันทึกได้ช่วงหัวค่ำวันที่ 11 มีนาคม 2567 จากยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่

IRPC เยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คุณอนุชา สมจิตรชอบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

แห่ชม 'ฝนดาวตก' คึกคัก! มากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยบรรยากาศและภาพกิจกรรมคืนฝนดาวตกเจมินิดส์ปีนี้มีปริมาณมากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

รอชม 'ดาวศุกร์สว่างที่สุด' รุ่งเช้า 18 ก.ย. สังเกตได้ด้วยตาเปล่า

เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า รุ่งเช้า 18 กันยายนนี้ #ดาวศุกร์สว่างที่สุด อีกครั้ง 18 กันยายน 2566 ช่วงเช้าก่อนรุ่งสาง

ชวนชม 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมนี้พบกับ 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (ฝนดาวตกวันแม่) ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพฯ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี และซูเปอร์บลูมูน