ชวนชม 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม

4 ส.ค.2566 - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมนี้พบกับ 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (ฝนดาวตกวันแม่) ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพฯ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี และซูเปอร์บลูมูน

โดยนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ คือ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (ฝนดาวตกวันแม่) เกิดขึ้นคืนวันที่ 12 - รุ่งเช้า 13 สิงหาคม 2566 มีอัตราการตกสูงสุด 100 ดวง/ชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอิดส์ สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23:00 น. ของวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม ไม่มีแสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้เมฆฝน แนะนำนอนชมในพื้นที่มืดปราศจากแสงเมือง

ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 12:22 น. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นโลก หากสังเกตวัตถุกลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี และอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดูข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทยได้ที่ https://www.narit.or.th/index.php/news/2841-sun-thailand-2566

ปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืน 27 สิงหาคม 2566 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเริ่มสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออก ปรากฏสุกสว่าง สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สามารถชมได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย

และซูเปอร์บลูมูน (Super Blue Moon) ช่วงคืนวันที่ 30 - รุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566 ชม 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปีนี้มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และ บลูมูน (Blue Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน ปกติแล้วในหนึ่งเดือนจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่บ่อยนักที่จะเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563

ทั้งนี้ทาง สดร. เตรียมจัดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2566 และ “ซูเปอร์บลูมูน” ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร. ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดร.เผยภาพดาวหาง ฝีมือคนไทยบันทึกจากยอดดอยอินทนนท์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เป็นฝีมือคนไทยบันทึกได้ช่วงหัวค่ำวันที่ 11 มีนาคม 2567 จากยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่

IRPC เยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คุณอนุชา สมจิตรชอบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

แห่ชม 'ฝนดาวตก' คึกคัก! มากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยบรรยากาศและภาพกิจกรรมคืนฝนดาวตกเจมินิดส์ปีนี้มีปริมาณมากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธ.ค.นี้ เฉลี่ย 120-150 ดวง/ชม. เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 2 ทุ่ม มาถี่หลังเที่ยงคืน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)แจ้งชวนประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าค่ำคืนเดือนธันวาคมกับ ฝ