'ร้อนหน้าหนาว'ปรากฎการณ์ใหม่ฤดูหนาว 2566

ภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเริ่มต้นฤดูหนาวในประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา แต่ฤดูหนาวปีนี้ในหลายพื้นที่ยังไม่มีโอกาสจะสัมผัสถึงอากาศหนาวเย็น ไม่รู้สึกถึงลมหนาวปะทะร่างกาย แถมกลางวันอากาศยังร้อนตับแตก  คนไทยเฝ้ารอลมหนาว ทันทีที่กรมอุตุฯ รายงานสภาพอากาศสัปดาห์หน้าหนาวแน่  หลายคนสะบัดเสื้อหนาวรอ เตรียมออกเดินทางท่องเที่ยวฟินๆ กับอากาศเย็น

ฤดูหนาวปีนี้มาล่าช้า  เหตุที่ไม่สามารถประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงเดือนตุลาคมได้เหมือนเคย ช้าเป็นเดือน ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  ฝ่ายวิชาการ ให้สัมภาษณ์ถึงฤดูหนาว 2566 ของประเทศไทยว่า ปีนี้สภาพอากาศผิดปกติจากเงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ความหนาวเย็นแรงๆ ยังมาไม่ถึงต้องรอสัปดาห์หน้า แต่ช่วงนี้ยังพอมีลมหนาวพัดอยู่บ้าง ช่วงวันที่ 15 -16 ธ.ค.2566 มวลอากาศเย็นกำลังอ่อนถึงปานกลางแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้อากาศเย็นในตอนเช้า ลมหนาวแรงขึ้นบ้างพอพัดพา กระจายฝุ่นออกไปจาก กทม.และปริมณฑลได้บ้าง แต่กลางวันอากาศยังร้อน ฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนยังน้อย ต้องระวังรักษาสุขภาพช่วงอากาศที่เปลี่ยนแปลง

“ ส่วนช่วงวันที่ 17-24 ธ.ค.66 อุณหภูมิจะลดลงมาก เตรียมรับลมหนาวจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงๆ กันอีกระลอก คาดว่า จะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ทางตอนบนเริ่มมีอุณหภูมิลดลง โดยมีอากาศเย็นถึงหนาว ยอดดอย ยอดภูอากาศหนาวถึงหนาว  มีลมแรงบางพื้นที่ เตรียมวางแผนเดินทางท่องเที่ยวได้   โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน ส่วนมวลอากาศเย็นจะเข้ามาอีกมั้ย อาจจะเกิดได้ ม.ค. คาดว่าจะหนาวเย็นมากสุด เพราะฤดูหนาวยังไม่สิ้นสุด  ปีนี้คาดว่าจะถึงกลางเดือน ก.พ. 2567  ส่วนภาคใต้คลื่นลมแรงขึ้นจากลมหนาวที่มีกำลังแรง ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนผ่านบริเวณภาคใต้ ช่วงวันที่ 23 -25 ธ.ค.66 ฝนเกิดขึ้นได้และมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่าง ต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ กล่าว

ด้าน นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา  เผยการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของไทยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวของไทยอย่างเป็นทางการวันที่ 14 พ.ย. 2566 ปกติฤดูหนาวจะอยู่ในช่วงตั้งแต่กลาง ต.ค.- ก.พ.ของปีถัดไป ยกเว้นบางปีที่ประกาศล่าช้าไป 2 สัปดาห์ เป็นช่วงต้นเดือน พ.ย. ในรอบ 39 ปี เคยมีเพียง 2 ปีที่ไทยเข้าสู่ฤดูหนาวล่าช้ามากไปจนถึงกลางเดือน พ.ย. คือ ปี 2526 และปี 2542 เข้าฤดูหนาววันที่ 15 พ.ย.  

เหตุผลที่ฤดูหนาวของไทยมาล่าช้ากว่าปกติ ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังฯ อธิบายว่า ขณะนี้อยู่ในปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรง โดยปัจจัยหลัก 3 ตัวที่กรมอุตุนิยมใช้เป็นเกณฑ์ประกาศฤดูหนาว  ประกอบด้วยฝน ซึ่งฝนไม่ลดลงช่วงที่ผ่านมา ยังมีฝนต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์ที่สองของเดือน พ.ย. เรื่องทิศทางลม มีความไม่สม่ำเสมอของลมหนาวหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือมาไม่เต็มร้อย ปกติจะต้องพัดต่อเนื่อง หลังๆ มามีลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดมาเสริมบ้าง ทำให้มีฝน อีกปัจจัยมวลอากาศเย็น ซึ่งปีนี้จำนวนมวลอากาศเย็นที่ลงมาแรงๆ นับจำนวนได้เลย ทุกๆ ปี จะถี่กว่านี้ ปีนี้เสริมต่อเนื่องน้อย และเว้นช่วงว่างนานมาก บางที 5-6 วันมารอบหนึ่ง แล้วก็มีกำลังอ่อนมาก ทำให้สภาพอากาศฤดูหนาวกับฤดูร้อนไม่แตกต่างเลย ปกติช่วงฤดูหนาวซีกโลกเหนือจะหันขั้วออก ฉะนั้น ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ห่างมาก อากาศจะหนาวเย็นต่อเนื่องจากมวลอากาศเย็นซีกโลกเหนือลงมา แต่ปีนี้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจากเอลนีโญมีผลกระทบ ไม่แน่ใจว่าขั้วโลกเหนือ ไม่ผลิตลมหนาวแบบแรงมาให้ เมื่อมาเจอลมตะวันออกจากผลของเอลนีโญ ทำให้ลงมาแค่จีนตอนใต้อากาศหนาวจึงดันกันอยู่ 

เมื่อถามว่า คนไทยจะมีโอกาสเจอฤดูหนาวกี่เดือน นายสมควร กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.ปีนี้ถึงเดือนมกราคมปีหน้าจะมีอากาศหนาวอยู่  แต่ถ้าจะสัมผัสอากาศหนาวเย็นจะต้องเป็นภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานตอนบน ส่วนกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสานตอนล่าง จะได้แค่เย็นๆ บางช่วง ความถี่ของอากาศที่หนาวเย็นจะน้อย ระยะเวลาอากาศหนาวสั้นลงไป  

นอกจากหนาวล่าช้าแล้ว นายสมควรตั้งข้อสังเกตุว่า ฤดูหนาวปี2566 เกิดปรากฎการณ์ใหม่’อากาศร้อนหน้าหนาว’ ปกติอุณหภูมิเฉลี่ยหน้าหนาวกลางวันจะไม่สูง แต่ปีนี้กลับพบว่า กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณภาคกลาง ภาคอีสาน ตะวันตก ตะวันออก กรุงเทพฯ ปริมณฑล อุณหภูมิสูงขึ้นมา

“ จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา จ.เพชรบูรณ์ พุ่งสูงถึง 36.7 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับ จ.อุตรดิตถ์ อุณหภูมิจะแตะ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบ 10 ปีจากสถิติค่าเฉลี่ย เพชรบูรณ์หน้านี้อุณหภูมิกลางวันควรอยู่ที่ 31 องศา เพราะตั้งอยู่บนที่สูงและมีอากาศเย็นต่อเนื่อง ส่วนหน้าร้อนขึ้นได้ถึง 40 องศา อากาศร้อนในฤดูหนาวมันแปลกไป ”

ฤดูหนาวสั้นลงเป็นเรื่องจริง ผอ.บอกช่วงฤดูหนาวปกติจะมีความหนาวต่อเนื่อง ตอนนี้มีอากาศร้อนในช่วงฤดูหนาวเกิดขึ้น มวลอากาศเย็นที่เคยแผ่ลงมาถี่ๆ ช่วงหลังห่างไป ช่วงระยะเวลาหนาวเย็นเริ่มสั้นลง   หนาวเพียง 2-3 วัน ร้อน 5 วัน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศสุดขั้วแบบนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้  หลังปีใหม่อาจจะมีบางวัน บางช่วงที่มวลอากาศเย็นกำลังแรงแผ่มาได้ เพราะสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ปกติ ธ.ค.- ม.ค. อาจเลื่อนไปปลาย ม.ค. ก็มีความเป็นไปได้ จากข้อมูลบางปีเดือน มี.ค. แล้วก็มีอากาศหนาว นี่เป็นความสุดขั้ว ต้องติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่องและรายงานอย่างเป็นทางการ

“ ปีนี้ความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งสัญญาณตั้งแต่ต้นปี ฝนก็เลื่อนไป ฤดูหนาวก็เลื่อนไป แต่จากโมเดลวันที่ 17 ธ.ค. เริ่มลมแรงที่ภาคอีสาน เช้าวันที่ 18 ธ.ค. อุณหภูมิจะเริ่มลดลง วันที่ 19 ธ.ค.จะทรงๆ วันที่ 20 อุณหภูมิจะลดลง  ช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุดจะตั้งแต่วันที่ 21-23 ธ.ค.  ซึ่ง 3 วันนี้ กรุงเทพฯ  มีโอกาสอุณหภูมิต่ำกว่า 20  จะอยู่ระหว่าง 18-19 องศาเซลเซียส ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ก็หนาว แต่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน จะอยู่ที่ 20-21 องศาเซลเซียส ส่วน จ.นครพนม มีโอกาสต่ำกว่า 10 องศา  วันที่ 22 ธ.ค. ยอดดอยไม่ต้องพูดถึงหนาวจัดแน่นอน 8 องศา คริสมาสก็ยังหนาวเย็นกลางคืน จากนั้นจะอุ่นไปจนถึงปีใหม่ แต่หลังวันที่ 24 ธ.ค. มวลอากาศเย็นกำลังอ่อนลงให้เฝ้าระวังปัญหาฝุ่น  ”  นายสมควร กล่าว

ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กล่าวอีกว่า การเข้าสู่ฤดูหนาวล่าช้าจะมีผลต่อการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ปีนี้มีความแปรปรวนก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว มีฝนตกต่อเนื่อง  มีผลต่อการจัดการน้ำ การเพาะปลูก กระทบการผลิตข้าวและพืชผลการเกษตร เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวไม่ได้ เพราะเกิดความชื้นสูง  กระทบต่อการปลูก และการขายข้าว รวมทั้งปัญหาฝุ่นก็มาเร็วกว่าปกติ

สำหรับสถิติหนาวล่าช้าในรอบ 39 ปี ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2526-2565 ประเทศไทยมีการประกาศข้าสู่ฤดูหนาวปีปกติ (ช่วง ต.ค.-ก.พ.) ในปี 2527,2528, 2534,2529,2532 ,2534 ,2538 ,2549 ,2554 เป็นต้น ส่วนปีที่ประกาศเข้าฤดูหนาวล่าช้ามี 2 ปี คือ ปี 2526 และปี 2542 ประกาศวันที่ 15 พ.ย. ส่วนที่ฤดูหนาวล่าช้าแค่ 2 สัปดาห์ คือ ต้นเดือน พ.ย.คือ ปี 2551 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศการเข้าฤดูฝนปี 2567 จะมาช้ากว่าปกติ 2 สัปดาห์ ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดฤดูฝนปี 2567 จะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567 ช้ากว่าปกติ 2 สัปดาห์

อุตุฯ เตือนพระอาทิตย์ตั้งฉาก ร้อนระอุส่อทุบสถิติ!

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดทผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า

อุตุฯ เตือนร้อนจัด ทะลุ 43 องศา ฝนฟ้าคะนอง ลมแรง 39 จังหวัด

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด

กรมอุตุฯ เปิดพื้นที่เสี่ยงภัย 'พายุฤดูร้อน' ใน 24 ชม.ข้างหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน