'บ้านครัว'ฟื้นย่านมุสลิมเก่าแก่สู่แหล่งเที่ยวใหม่

‘บ้านครัว’ ชุมชนมุสลิมจามที่ซุกซ่อนอยู่ในย่านราชเทวีมาอย่างยาวนานกว่า 235 ปี ย้อนไปได้ไกลถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย มีการทอผ้าไหม มีบ้านเรือนไม้ มัสยิดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีให้พบเห็น เช่น เรือนแม่ทรัพย์ที่มีอายุกว่า 200 ปี และถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มาจนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของชุมชนบ้านครัว

มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ มัสยิดแห่งแรกฝั่งพระนคร

ย่านบ้านครัวผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัย และตอนนี้ชุมชนตั้งหมุดหมายเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งชุมชนบ้านครัวได้ทดลองพัฒนาชุมชนและย่านเก่าแก่นี้ผ่านเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 Bangkok Design Week 2024  เพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนบ้านครัวอย่างสร้างสรรค์และสอดคล้องกับบริบทของย่านเก่า ภายใต้กิจกรรมมากมายด้วยแนวคิด “สำรับบ้านครัว” เป้าหมายหลักๆ เผยแพร่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นมุสลิมจามที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชนบ้านครัว  สร้างโอกาสให้ชุมชนทดลองจัดกิจกรรมยกระดับทั้งด้านอาหารและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และสร้างความร่วมมือกับนักออกแบบและนักจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชน  กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ม.ค. – 4 ก.พ.  2567  งานนี้ ชุมชนบ้านครัวทำงานร่วมกับคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม  สถาบันอาศรมศิลป์  TK Park อุทยานการเรียนรู้ และกาลิเลโอเอซิส 

ชมนิทรรศการปรับปรุงและฟื้นฟูชุมชนบ้านครัว

อิสริยา ปุณโณปถัมภ์  Executive Director สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า ชุมชนบ้านครัวมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก เป็นชุมชนมุสลิมเชื้อสายจามที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นที่ตั้งของมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ซึ่งเป็นมัสยิดแห่งแรกของฝั่งพระนคร ภายในชุมชนมีมัสยิดรวม 3 แห่ง จุดเด่นเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่มีความศรัทธาและความเหนียวแน่นในวิถีวัฒนธรรมใจกลางเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม การอยู่อาศัยที่หนาแน่น แบ่งเป็นชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวใต้ และชุมชนบ้านครัวตะวันตก  ทำให้เป็นกึ่งชุมชนแออัด  เพราะการพัฒนาชุมชนเก่าขาดการบูรณาการ และขาดกฎหมายเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน อีกทั้งสภาพทางกายภาพทรุดโทรม สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับชุมชนบ้านครัวมีแนวคิดนำต้นทุนทางวัฒนธรรมทั้งด้านอาหารและวิถีชีวิตมายกระดับและต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งเข้ากับแนวคิด ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ของเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้

“ ชาวบ้านครัวมีภูมิปัญญาการทอผ้าไหมที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ ฝีมือการทอเป็นเอกลักษณ์ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งทอผ้าไหมกลางกรุง  และเมื่อ จิม ทอมป์สัน ติดต่อซื้อผ้าไหมบ้านครัวไปขายอเมริกา ส่งผลให้ผ้าไหมของชุมชนบ้านครัวเป็นที่รู้จักในระดับโลก แต่เมื่อ จิม ทอมป์สัน หายตัวไป กิจการผ้าไหมครัวเรือนก็ซบเซาลง  ปัจจุบันมีบ้านลุงนิพนธ์ซึ่งเป็นลูกหลานชาวจามที่ยังทอผ้าหลงเหลือเป็นหลังสุดท้าย ส่วนเสน่ห์อาหารพื้นถิ่นมุสลิมที่หาทานไม่ได้จากที่ใดมีการสืบสาน ด้วยกิจกรรมภัตตาคารบ้านครัว โดยเชฟเจ้าของร้านเรือนแม่ทรัพย์ บ้านเรือนไทย 200 ปี ริมคลองแสนแสบ  เป็นครั้งแรกชุมชนนำเสนอเมนูเปิดสำรับให้คนภายนอกได้ลิ้มลอง  พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ชุมชนจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปทำอาหารของชุมชนบ้านครัว  อย่าง แกงส้มเขมรจาม โรตีมะตะบะ กะหรี่ปั๊ป   ทั้งยังจัดกิจกรรมเดินเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์กินได้ พาไปย้อนรอยตำนานต่างๆ ที่บ้านครัวอีกด้วย  “ อิสริยา กล่าว

เรือนแม่ทรัพย์อายุ 200 ปี สู่พื้นที่เรียนรู้วัฒนธรรมอาหาร

ย่านเก่าในเขตราชเทวีแห่งนี้ ยังมีเสน่ห์ทางด้านภาษา นำมาสู่การต่อยอดจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ “อารบิก แฮนบุ๊ค” สอนการเขียนอ่านภาษาอาราบิกใช้สถานที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์และกาลิเลโอเอซิส พร้อมจัดทำหนังสือคู่มือสอนภาษาอาราบิกพร้อมแนะนำสถานที่สำคัญในชุมชนบ้านครัว เพื่อเป็นสะพานเรียนรู้วัฒนธรรมมุสลิมในสังคมไทย อิสริยาบอกอยากให้ผู้มาเยือนได้รู้จักภาษาอาราบิกผ่านคำทักทาย คำขอบคุณ ชื่อเมนูอาหารจาม  และยังมีโปรแกรมสอนการเขียนภาษาอาราบิกให้กับผู้ที่สนใจ ปัจจุบันชาวบ้านครัวสามารถพูดภาษาอาราบิกและภาษาไทย เพราะมีโรงเรียนสอนศาสนาบ้านครัวสอนเขียนอ่านอาราบิกให้เด็กและเยาวชนในชุมชนทุกวันตอนเย็น รวมถึงวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนมุสลิม

แกงส้มเขมรจาม อาหารพื้นถิ่นมุสลิม

อีกแนวทางฟื้นฟูชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ อิสริยา บอกด้วยว่า ตอนนี้มีการปรับปรุงบ้านในชุมชน ทำบ้านเป็นคาเฟ่และโรงละครสำหรับสายอาร์ต ชื่อ กาลิเลโอเอซิส  เชื้อเชิญให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเสพบรรยากาศในย่านเก่า ในเทศกาลนี้ที่นี่ก็เปิดพื้นที่ให้จัดโปรแกรมต่างๆ ด้วย เป็นหนึ่งในบ้านต้นแบบให้บ้านในชุมชนหลังอื่นๆ เห็นตัวอย่าง เห็นโอกาส พัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาย่านจะต้องมีมิติปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินริมคลองแสนแสบ  เพิ่มพื้นที่สีเขียว จุดพักคอย  เชื่อมกับศาลา มัสยิดในชุมชน  เชื่อมต่อกับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน  อีกแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม ต่อเนื่องไปถึงสะพานหัวช้างไปย่านปทุมวันระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เดินเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะบีทีเอส สยาม แหล่งช้อปปิ้ง แต่ทุกวันนี้ทางเดินริมน้ำยังเป็นหลังบ้าน ถ้าปรับปรุงให้เดินได้ น้ำในคลองแสนแสบสะอาด จะเพิ่มโอกาสให้บ้านหันหน้าเข้าคลอง

“ เราอยากเห็นเศรษฐกิจชุมชนฟื้นตัว เพราะการพัฒนาที่หมุนเร็ว ชุมชนจะปรับตัวเองให้ร่วมกระบวนการพัฒนาโดยมีรากฐานวัฒนธรรมชุมชนมากน้อยแค่ไหน ความเสี่ยงของชุมชนบ้านครัวซึ่งมีราว 900 ครัวเรือน จากการสำรวจพบกว่า 50% ชาวบ้านครัวทิ้งบ้านในชุมชนให้เป็นบ้านเช่า บ้านพักราคาถูกในย่านราชเทวี หากสร้างกระบวนการออกแบบและพัฒนาเมืองที่ตอบโจทย์ยุคใหม่ สร้างงาน  สร้างรายได้ ชาวบ้านจะไม่มีแผนปล่อยบ้านเช่าหรือรื้อบ้านทิ้ง แต่จะปรับเป็นร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่เก๋ๆ  มีโอกาสเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ  สอดรับกับความต้องการของชุมชนบ้านครัวที่ตั้งเป้าหมายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน   จากเทศกาลนี้ได้รับการตอบรับดีจากคนข้างนอก สร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านครัว  จนต้องเปิดทัวร์บ้านครัวรอบพิเศษเพิ่ม  จบเทศกาลแล้ว ชุมชนและภาคีเครือข่ายจะขับเคลื่อนสร้างย่านสร้างสรรค์  ชูอัตลักษณ์ชุมชน เพราะบ้านครัวเป็น 1 ใน 10 ย่านสร้างสรรค์นำร่องของกรุงเทพมหานคร “ อิสริยา กล่าวชุมชนเดินหน้าดึงอัตลักษณ์ให้คนรู้จักบ้านครัวมากขึ้น

ชาวบ้านครัวเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม

ตอนนี้บ้านครัวเปิดย่านต้อนรับผู้มาเยือนมาเดินชมงานเทศกาล Bangkok Design Week 2024 บนชุมชนมุสลิมใหญ่ในกรุงเทพฯ จากนั้นลัดเลาะเข้าไปในชุมชน  เสาะหาของอร่อยตำรับแขกจาม ชมนิทรรศการปรับปรุงและฟื้นฟูชุมชนบ้านครัวและงานแสดงภาพถ่ายผ่านมุมมองเยาวชนบ้านครัวในนิทรรศการ Youth Photo Exhibition ‘Singature of Bankrua’ ที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์  จากนั้นไปเสพงานศิลป์ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ กับ LIKE A COMMUNITY LIGHT และ STREET ART พิกัดใต้สะพานเจริญผล แล้วไปต่อกับนิทรรศการ กาล(ะ) I สถาน(ะ) ที่กาลิเลโอเอซิส  สำหรับวันที่ 4 ก.พ. เวลา 14.00-17.30 น. เปิดทัวร์สำรับบ้านครัวรอบพิเศษ ทัวร์ที่จะพาทุกคนไปรู้จักชุมชนชาวแขกจามอายุกว่า 200ปีที่ยังคงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

ถือเป็นโมเดลพัฒนาพื้นที่เก่าสู่พื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ที่คงความเป็นพหุวัฒนธรรมของเมืองกรุงเทพฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สร้างเมืองน่าอยู่ผ่านศิลปะ'กรุงเทพฯ242'

ผลงานศิลปะจากการร่วมสำรวจเมืองของเหล่าศิลปินและนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาในฐานะพลเมืองกรุงเทพฯ เปิดให้ชมแล้วในนิทรรศการ "กรุงเทพฯ ๒๔๒" (Bangkok 242 Space of Sharing)   ศิลปินแต่ละคนมอง กทม.ผ่านเลนส์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม

เปิดพิกัดลับ'Solar Art' ย่านศรีนครินทร์

ครั้งแรกของย่านศรีนครินทร์ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่คนกรุงเทพฯ ผ่าน 4 คอนเซ็ปต์ “คน แสง เวลา อารมณ์” ที่จะเนรมิตพื้นที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ และ MMAD – MunMun Art Destination คอมมูนิตี้อาร์ต ให้กลายเป็นพื้นที่งานศิลปะสร้างสรรค์ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ทั้งยัง

เปิดโลกลวดลายผ้าไทยสุดวิจิตร กับละครดังทางช่อง3 'พรหมลิขิต'

เรียกได้ว่าเป็นละครไทยที่กำลังมาแรงที่สุดในตอนนี้ สำหรับ "พรหมลิขิต" ทางช่อง3 ที่นอกจากบทละครจะสนุกและสอดแทรกความรู้ด้านประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ "เครื่องแต่งกาย" ซึ่งหลายคนชื่นชมว่างดงามและใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก งานนี้ผู้เขียนเลยจะพาไปเปิดโลกของ "ผ้า" ลวดลายต่างๆที่นำมาทำเครื่องแต่งกายของตัวละครในละคร พรหมลิขิต

เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ หนุน Learning City

แม้จะจัดเทศกาลครั้งแรกเพื่อเป็นการนำร่องเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ประสบผลสำเร็จในการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกคน สำหรับ “เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ : Learning Fest Bangkok 2023” ระหว่างวันที่ 14-17 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ TK Park จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) กรุงเทพมหานคร