ย้อนเวลา 120 ปี ร.ร.ราชินี สัญลักษณ์การศึกษาสตรีไทย

ปีนี้โรงเรียนราชินีครบ 120 ปี     ย้อนประวัติศาสตร์ไปวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.  2447 ณ ตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์และจักรเพชร “โรงเรียนราชินี” ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่สำหรับสตรีไทยได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีความชำนาญทางการช่างฝีมือที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ มีการอบรม ศีลธรรม จรรยา และมารยาท เพื่อยกระดับสตรีไทยให้พรั่งพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถรอบด้าน เมื่อมีการเปิดสอนสักระยะ ย้ายมาอยู่ที่ตึกสุนันทาลัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งของโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน  และยังคงเปิดการเรียนสอนมาจนทุกวันนี้

เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินี และพระกรุณาธิคุณในพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี โรงเรียนราชินีจัดปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับการศึกษาของสตรีไทย” โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯลฯ และเสวนาวิชาการเรื่อง โรงเรียนราชินี : มุมมองประวัติศาสตร์พื้นที่และสถาปัตยกรรมของอาคารสุนันทาลัย โดย รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนารมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร งานจัดขึ้นวันที่ 1 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน อาทิ การเมืองการปกครอง การศึกษา ประเพณีวัฒนา ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ อีกทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเจ้านายฝ่ายในซึ่งสมัยก่อนเปรียบดั่งช้างเท้าหลังของพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ ที่มีความสนพระทัยในการพัฒนาสตรีไทย โดยเฉพาะด้านการศึกษา ไม่จะวิชาสามัญหรือการผดุงครรภ์ อดีตการก่อตั้งโรงเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณวัด เพราะการเล่าเรียนต่างๆ ถูกสอนอยู่ในวัด ดังนั้นมีแต่โรงเรียนบุรุษ ซึ่งโรงเรียนราชินีถือเป็นโรงเรียนฝ่ายสตรีแรกๆ ในสมัยนั้น ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ  ทรงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างโรงเรียน บริเวณระหว่างถนนอัษฎางค์ และถนนจักรเพชร ตำบลปากคลองตลาด ปัจจุบันคือ แขวงวังบูรพาภิรมย์ ทรงมีความใส่พระทัยติดตามการดำเนินกิจการด้านต่างๆ ในโรงเรียน ทั้งการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครู การกำหนดเงินเดือน เป็นต้น

“  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ โปรดให้จ้างครูจากประเทศญี่ปุ่น 3 คน มาสอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปักและการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง  โดยมีมิสเทตสุ ยาซูอิ เป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาทรงจ้างสตรีไทยเป็นครูสอนภาษาไทยและการตัดเย็บเสื้อผ้าอีก 1 คน มีการเปิดรับนักเรียนกินนอนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในปี 2448 ปีต่อมาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนราชินีได้ย้ายมาอยู่ ณ สถานที่สุนันทาลัย ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนราชินีปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 120 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนราชินีได้สร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพและมีผลงานที่ได้รับการยอมรับของสังคมทุกสาขาอาชีพ ทั้งแพทย์ เภสัชกรรม การศึกษา กฎหมาย การเมือง สังคมสงเคราะห์ วรรณกรรม ตลอดจนวงการบันเทิง”ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว

 สตรีไทยจากรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชินี  โดยเฉพาะสายพระราชวงศ์จักรี  อาทิ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าฉายภาพผ่านอาคารสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี ต้นแบบการอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศไทย รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง กล่าวว่า อาคารสุนันทาลัยสร้างขึ้นโดยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นอนุสรณ์หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือสมเด็จพระนางเรือร่ม  อดีตเป็นโรงเรียนสุนันทาลัย แต่ปิดกิจการลงปี พ.ศ.2445 ต่อมาปี พ.ศ.2448 กระทรวงธรรมการใช้เป็นอาคารเก็บรักษาพัสดุและจัดตั้งโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษเพื่อสอนภาษาอังกฤษ ปีต่อมา ร.ร.ย้ายออกไป จึงมาเป็นที่ตั้งอาคารเรียนของโรงเรียนราชินี ซึ่งย้ายมาจากฝั่งถนนอัษฎางค์

“ จากการสันนิษฐานตัวอาคารสุนันทาลัยรับเหมาและก่อสร้าง โดยโยอาคิม กรัสซี สถาปนิกชาวอิตาลีกลุ่มแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นตึกขนาดใหญ่ 2 ชั้น 2 หลัง มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมยุโรปมีการบูรณะซ่อมมาโดยตลอด เพราะมีอายุกว่า 100 ปี  แบ่งเป็นอาคารฝั่งเหนือริมน้ำเจ้าพระยา มีลักษณะโดมอยู่ตรงกลาง มีมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้คล้ายกับรูปกากบาท มีระเบียงโถงรอบอาคาร ตัวอาคารประดับด้วยช่องโค้งและกระจกสีอย่างดี มีการทำเสาอิงประดับลวดลายปูนปั้นแบบตะวันตก หน้าบันมีอักษรระบุคำว่า ‘Royal Seminary ‘ สันนิษฐานได้ว่า เป็นตึกที่สอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์  ปัจจุบันชั้นบนใช้เป็นห้องเรียนดนตรีไทย ชั้นล่างใช้เป็นพื้นที่โรงอาหาร อาคารฝั่งใต้ คือตึกนาฬิกา หลังจากทรุดโทรมได้บูรณะสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ ใช้นามว่า ‘สว่างวัฒนา’ ปัจจุบันใช้เป็นหอประชุม ส่วนอาคารสุนันทาลัยริมน้ำเจ้าพระยายังคงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ” รศ.ดร.พีรศรี กล่าว

ด้าน รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนารมย์  เล่าว่า  พื้นที่ตั้งของ ร.ร.ราชินี ส่วนหนึ่งอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นพื้นที่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่นเดียวกับกรณีการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินบริเวณมิวเซียมสยาม เป็นที่ตั้งของป้อมเมืองบางกอก อยุธยาตอนปลาย ต่อมาเป็นที่ตั้งของป้อมมหาฤกษ์ วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น พ.ศ.2550 โรงเรียนราชินีมีการปรับปรุงพื้นที่ ทำให้ต้องมีการขุดศึกษาและพบเครื่องถ้วยต่างประเทศ อาทิ ขวดน้ำแร่ ประเทศสิงคโปร์ เครื่องถ้วยจากประเทศจีน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เครื่องหอม ขวดแก้วต่างๆ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่บนอาคารสุนันทาลัย

ตลอดปี  67 นี้จะมีกิจกรรมสำคัญจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อฉลองครบรอบ 120 ปี โรงเรียนราชินี ร่วมรำลึกความทรงจำกับนิทรรศการทางวิชาการราชินีนิทรรศน์ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. , งาน 120 ปีราชินีแรลลี่ วันที่  31 ส.ค. , คอนเสิร์ตการกุศล 120 ปี โรงเรียนราชินี วันที่  30 พ.ย. และงานคืนสู่เหย้าพิกุลแก้วสู่สวนขวัญ วันที่ 21 ธ.ค. ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางเพจ 120 ปีราชินี ศักดิ์ศรีกำจรจาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธงทอง' แจงแล้ว หลังโพสต์คนในกระบวนการยุติธรรมบ่นทำคดีตามธง

นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่เคยโพสเฟซบุ๊คเมือปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าคนในกระบวนการยุติธรรมบ่นว่าต้องทำคดีตามธง ซึ่งขัดหลักการหลักกฎหมาย และส่งผลเสียระยะยาว ว่า เป็นเรื่องของคนบ่นจุกจิกจู้จี้ทั้งหลาย

'ธงทอง' เปิด 7 ปมย้ายอุเทนถวายพ้นที่ดินจุฬาฯ

ศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีย้าย-ไม่ย้าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หลังศาลปกครองสู

'กรุงเทพธนาคม' เดินหน้าอุทธรณ์จ่ายหนี้สายสีเขียว 1.17 หมื่นล้าน

“กรุงเทพธนาคม” เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง กรณีค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ย้ำต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ยอมรับหนี้มีอยู่จริงแต่ขอศึกษาและเจรจาก่อนตัวเลขให้นิ่งก่อน พร้อมเล็งหารือ “บีทีเอสซี” ถึงแนวทางการชำระหนี้ต่อไป

‘กรุงเทพธนาคม’ ถก ‘บีทีเอส’ ขอเวลา 1 เดือนสรุปประกาศเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

‘กรุงเทพธนาคม’ หารือ ‘บีทีเอส’ นัดแรกจับตาถกสัมปทาน-สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เล็งตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียด ย้ำขอเวลา1 เดือนสรุปประกาศเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

'ผู้ว่าฯชัชชาติ' เคาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายไม่เกิน 59 บาท

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า จะต้องสรุปความคืบหน้าร่วมกับ นายธงทอง จันทรางศุ มาเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ภายใน 1 เดือน สิ่งสำคัญคือ