'ม.หอการค้า-หัวเว่ย' จับมือปั้น 'นศ. AI Champion'

สถาบันการศึกษา ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทักษะบุคลากรในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวให้ทันกับเทรนด์โลก โดยเฉพาะ AI ที่ในตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกองค์กร อุตสาหกรรมต่างๆ ได้ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามข้อตกลงในโครงการ Huawei ICT Academy เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงให้แก่นักศึกษาและบุคลากร ให้เข้าสู่ยุค AI Integrated University

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ จะยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอนและการทำงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การบูรณาการการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยใช้ AI มาช่วยขับเคลื่อน สู่การเป็น AI Integrated University เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาสู่การทำงานกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน ICT และ AI ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม การวิจัย และกิจกรรมอื่นๆ ในโครงการ Huawei ICT Academy ซึ่งนักศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรหลังจากสอบผ่านการฝึกอบรมออนไลน์แล้ว จะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักศึกษาที่มีเป้าหมายในการร่วมงานกับองค์กรด้านเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ

วิลเลียม จาง

วิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลในสถานศึกษาซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงจากการนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้งานเฉพาะบางส่วนสู่การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดให้รองรับการทำงานแบบอัจฉริยะ ซึ่งหัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีไอซีทีที่หลอมรวมไอซีทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเชื่อมต่อ การประมวลผลบนคลาวด์ บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์เข้ากับกระบวนการการศึกษาทั้งหมด เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในการเรียนการสอน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การจัดการ และบริการ พร้อมทั้งการให้บริการเทคโนโลยีไร้สายที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมขณะนี้อย่าง AirEngine Wi-Fi 7 ด้วยความเร็วการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ราบรื่น ไม่มีสะดุด แม้ในจุดที่เคยอับสัญญาณ ตอบโจทย์การเรียนการสอนยุคอัจฉริยะ

ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา

ด้านดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา UTCC AI Master และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า จากการสำรวจเทรนด์งานทั่วโลก พบว่า 66% นายจ้างไม่จ้างบุคลากรที่ไม่มีทักษะเอไอ และ 71% เลือกที่จะจ้างบุคลากรที่ทักษะเอไอ มากกว่าคนที่เก่ง นอกจากนี้นักศึกษาใน Gen Z ที่จะกลายมาเป็นแรงงานในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะนำเอไอมาใช้ทำงาน ถึงบริษัทจะทำงานโดยไม่ใช้เอไอ ดังนั้นในอนาคตเด็กทุกคนก็จะสามารถใช้เอไอเบื้องต้นได้  ซึ่งการบ่มเพาะให้นักศึกษามีทักษะด้านเอไอได้ม.หอการค้าได้เริ่มทำหลักสูตรเอไอเฉพาะทางมากว่า 20 ปี อาทิ Smart Warehousing, ปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้น, ปัญญาประดิษฐ์ สำหรับดิจิทัลเกมและซิมูเลชัน และปัญญาประดิษฐ์สำหรับธุรกิจเกมและ E-Sports ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  แต่ในปัจจุบันการขับเคลื่อนทางเทคโนดลยีที่รวดเร็วจึงจำเป็นจะต้องเพิ่มทักษะให้กับนักเรียนรวมถึงบุคลากรทุกคนในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น  

“ม.หอการค้าไทย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI อย่างจริงจัง โดยนักศึกษาทุกคน ทุกสาขาวิชา ได้รับการพัฒนาทักษะด้านเอไอตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ผ่านวิชาปัญญาประดิษฐ์สำหรับธุรกิจ (AI for Business) ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้เอไอ ในการทำ Visual influencer, วางแผนการตลาด, ผลิตสื่อดิจิทัล, สร้าง chatbot ได้ และยังได้สร้างแล็ปที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอไอที่ครอบคลุมเกือบทุกสายอาชีพ ทั้งยังพัฒนาระบบ Soft Skill Transcript เพิ่มเติมให้นักศึกษาทุกคน รวมถึงแอพพลิเคชัน Career Sync ที่แสดงจุดแข็งและทักษะของนักศึกษาแต่ละคน พร้อมระบบสมัครงานในแอพเดียว  การขับเคลื่อนขนาดใหญ่แบบนี้ได้ทางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งทีม AI Champion ทั้งสิ้น 93 คน ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อขับเคลื่อนการใช้ AI ทั่วทั้งองค์กร และวัดผลได้ มุ่งสู่การเป็น AI Integrated University  อย่างเป็นรูปธรรม”  ดร.ชัชชัย กล่าว

ธนาภพ จุฑาวรรธนะ

แง่มุมการเป็นพลังการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย AI ด้วย AirEngine Wi-Fi 7  ธนาภพ จุฑาวรรธนะ ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า ในปัจจุบันโลกของเราเดินทางมาถึงยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 ที่จะรวมศักยภาพ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เข้ากับความแม่นยำและความสามารถของหุ่นยนต์ หรือ เอไอ รวมถึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนตระหนักถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่จะเดินทางไปควบคู่กัน ดังนั้นเพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรทางด้านเอไอ โดยในการเสริมให้การใช้งานเอไอมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ต้องอาศัยความเร็วในการเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi ซึ่งในปัจจุบันการเชื่อมต่อสัญญาณยังเป็นการใช้งานในรูปแบบ Wi-Fi 6 เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายที่เราใช้ในปัจจุบัน แต่ทางหัวเว่ย ได้มีการเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi 7 ให้ใช้ได้ในม.หอการค้าไทย เป็นแห่งแรกในเซาท์อีสท์เอเชีย เพราะเป็นการออกแบบเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่ต้องการความเร็วขึ้น 4 เท่า  ด้วยการผสานช่องสัญญาณทั้ง 3 ย่านความถี่ 2.4, 5 และ 6 กิกะเฮิรตซ์ ให้ความเร็วสูงสุดถึง 10 กิกะเฮิรตซ์ และแบนด์วิธที่มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น มีการตอบสนองไว และการรองรับอุปกรณ์ได้จำนวนมาก

ธนาภพ  กล่าวต่อว่า โดยขณะนี้มีจำนวนการติดตั้งเครื่องปล่อยสัญญาณที่มหาวิทยาลัยกว่า 200 เครื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้นักศึกษา ตลอดจนบุคลากรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงคลาสเรียนหรือใช้เน็ตเวิร์คเพื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างราบรื่น เพื่อการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไร้ขอบเขต ตอบโจทย์การเรียนการสอนยุคอัจฉริยะ เช่น เมตาเวิร์ส และการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีเออาร์-วีอาร์ ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจผนึกกกร.-ม.หอการค้า เปิดสมัครชิงสุดยอดซีอีโอ 2567

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ พร้อมด้วยกกร.-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเดินหน้าโครงการคัดเลือกสุดยอดผู้นำ CEO Econmass Awards 2024 ดีเดย์เปิดรับสมัครบริษัทรุ่นกลาง-เอสเอ็มอีภายในเดือนก.ค.นี้