โศกนาฎกรรมซ้ำซาก จาก'ผักตบชวา' ถึง 'ปลาหมอคางดำ'

งานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 “ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ จัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 “ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ” ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาฯ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย และตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากสังคม อาทิ ความรุนแรงของการแพร่กระจาย วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมและกำจัด การบังคับใช้กฎหมายอันเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าพืชและสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นที่เป็นอันตราย การชดเชยเยียวยาความเสียหาย การฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปลาหมอคางดำถูกนำเข้าจากแอฟฟริกามาในประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีชนิดพันธุ์นี้มาก่อน  ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย  มีทั้งตั้งใจนำเข้ามาเพื่อเศรษฐกิจและปากท้อง เพาะเลี้ยงเป็นอาหาร ปลาสวยงาม อีกส่วนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้าในไทยผ่านน้ำอับเฉาในเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ  ซึ่งป้องกันไม่ได้   ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในไทย จะก่อให้เกิดผลกระทบที่อาจจะรุนแรงมากหรือน้อย และจะใช้เวลาให้เห็นผลกระทบช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับจำนวนของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาในพื้นที่ด้วย

ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์

“ปลาหมอคางดำเป็นบทเรียนสำคัญการรุกรานชนิดพันธุ์ต่างถิ่นต่อระบบนิเวศไทย สร้างความเสียหายเกิดขึ้น และมีศักยภาพในการปรับตัว ฉะนั้น อย่าประเมินความเสี่ยงหรือมาตรการรับมือต่ำ  ต้องพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน “

“ กรณีปลาหมอคางดำมีการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วต่อเนื่องในระยะ 5 ปี 10 ปี สร้างกองทัพแพร่กระจายไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ถ้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถตั้งรกรากได้แล้ว  โอกาสที่จะกำจัดให้หมดไปให้เหลือศูนย์คงเป็นไปได้ยากมากเหมือนกรณีผักตบชวา  แต่ถ้าทำอย่างไรเพื่อให้จำนวนเหลือน้อยกว่าเดิม ไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา การป้องกันมากกว่าการแก้ไข เป็นแนวทางต้องให้ความสำคัญ ปลาหมอคางดำเป็นบทเรียนสำคัญการรุกรานชนิดพันธุ์ต่างถิ่นต่อระบบนิเวศไทย สร้างความเสียหายเกิดขึ้น และมีศักยภาพในการปรับตัว ฉะนั้น อย่าประเมินความเสี่ยงหรือมาตรการรับมือต่ำ  ต้องพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน “ศ.ดร.สุชนา กล่าว

การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ในทัศนะ ศ.ดร.สุชนา เห็นว่าต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เราต้องป้องกันและลดประชากรปลาหมอคางดำโดยไม่ทำให้ระบบนิเวศได้รับผลกระทบหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีก มาตรการป้องกันดีที่แล้วมา ไทยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ต่างประเทศมีมาตรการป้องกันชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้มงวด เพราะมีบทเรียนและผลกระทบหนัก ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องก้าวต่อไป ให้ความสำคัญและกำหนดกฎเกณฑ์ มาตรการเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ไม่เฉพาะปลาหมอคางดำ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดการ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สามารถนำมาใช้ประโยชน์และต่อยอด ตั้งคำถามเราจำเป็นมั้ยที่ต้องนำเข้าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเข้ามาในประเทศ

ผศ.ดร.วันศุกร์ เสนานาญ

“ปัจจุบันพบปลาหมอคางดำรุกรานในพื้นที่อื่นๆ มากกว่านั้น เป็นการกระจายพันธุ์ระลอกสอง  ที่จ.ชลบุรี อันเป็นที่ตั้งของม.บูรพา เพิ่งพบปลาหมอคางดำใกล้รอยต่อป่าชายเลน และคลองที่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม จะต้องมีมาตรการป้องกันสู่ชายฝั่งและทะเล”

 ผศ.ดร.วันศุกร์ เสนานาญ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ปัจจุบันพบปลาหมอคางดำโผล่ในหลายพื้นที่ จากการศึกษาดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ ที่รายงานโดยกรมประมง เมื่อปี 2561 –2563 พบว่า มีการรุกรานระลอกแรกที่พบพื้นที่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระยอง บ่งชี้ว่าปลาหมอคางดำที่พบจากทั่วประเทศ อาจมาจากการนำเข้าพื้นที่มากกว่า 1 ครั้ง มาจากคนละแหล่ง แต่ละพื้นที่ความหลากหลายต่ำ นอกจากนี้ การกระจายต่างพื้นที่ที่อยู่ห่างกัน สันนิษฐานว่าไปโดยการนำพาเข้าไปของคน มากกว่าที่จะไปโดยธรรมชาติ  จากการขาดความรู้ปลาหมอคางดำแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็ว ตัวผู้สืบพันธุ์ สร้างรัง ตัวผู้อนุบาลลูกในปากของพ่อ ทำให้มีอัตรารอดสูง พฤติกรรมต่างจากปลานิล ปลาหมอเทศ แม่อมไข่ ปัจจุบันพบปลาหมอคางดำรุกรานในพื้นที่อื่นๆ มากกว่านั้น เป็นการกระจายพันธุ์ระลอกสอง  ที่จ.ชลบุรี อันเป็นที่ตั้งของม.บูรพา เพิ่งพบปลาหมอคางดำใกล้รอยต่อป่าชายเลน และคลองที่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม จะต้องมีมาตรการป้องกันสู่ชายฝั่งและทะเล


“ ปลาหมอคางดำทนความเค็มได้สูงและกว้างมาก เมื่อเปลี่ยนสถานที่ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเล เหงือกของปลาหมอคางดำมีประสิทธิภาพในการควบคุมเกลือแร่และสมดุลน้ำ การทนความเค็มเป็นหนึ่งในลักษณะของสัตว์ที่มีศักยภาพรุกราน การควบคุมจึงต้องมีมาตรการที่เหมาะสม “ ผศ.ดร.วันศุกร์ กล่าว

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า  หลังการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในปีนี้  รัฐออกแผนปฏิบัติการ 7 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570  ซึ่งมีมาตรการที่ 5 ที่ระบุว่า สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัด  จัดทำคู่มือประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือการแพร่ระบาด  แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปลาหมอคางดำจำนวนมาก มีความตื่นกลัว แตกตื่น  และส่งผลกระทบต่อการจัดการกับการแพร่ระบาด เช่น บอกว่า ไม่เหมาะเป็นอาหารมนุษย์  กินไม่ได้ ความจริงกินได้แต่เนื้อน้อย จะทำน้ำปลา ปลาป่นก็ได้ มีข่าวไข่ปลาตากแดดไว้ 2 เดือนยังฟักเป็นตัวได้ กลายเป็นปลาซอมบี้ นกกินไข่ปลาเข้าไป ถ่ายออกมาแพร่พันธุ์ได้ อีก เรื่องใหญ่กว่านั้น ปลานิลกลายพันธุ์ผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำ กลายเป็นปลานิลคางดำ ความจริงไม่ใช่กลายพันธุ์ แต่เป็นปลาหมอคางดำอ้วน โอกาสผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติน้อยมาก เพราะกระบวนการสืบพันธุ์ต่างกันมาก

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ุ

“การนำเอาลำดับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำในประเทศไทย มาวิเคราะห์เทียบกับปลาหมอคางดำในประเทศอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกา ก็จะเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นถึงที่มาของการแพร่ระบาดว่าเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศใด “

“ กรณีของการสื่อสารออกไปคลาดเคลื่อน ว่าปลาหมอคางดำในประเทศไทยมีดีเอ็นเอเหมือนกันหมด ฟันธงว่ามาจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้ว ไม่สามารถระบุได้เช่นนั้น เพราะขาดตัวอย่างลูกปลาที่เคยนำเข้ามาในอดีต มาวิเคราะห์เทียบเคียง แต่ก็ยังมีความหวัง ด้วยการนำเอาลำดับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำในประเทศไทย มาวิเคราะห์เทียบกับปลาหมอคางดำในประเทศอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกา ก็จะเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นถึงที่มาของการแพร่ระบาดว่าเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศใด “ รศ.ดร.เจษฎา กล่าว

นักชีววิทยาย้ำว่าการระดมไอเดียและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาการระบาดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและสืบค้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก  บริษัทเอกชนรายหนึ่งเคยนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 3,000 ตัว มีรายงานข่าวตายหมดแล้ว แต่คนก็สงสัยว่าเป็นผู้นำเข้ามาแล้วทำให้ระบาด แพร่กระจายหรือเปล่า ก็ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ทางวิทยาศาสตร์ช่วยตอบคำถามได้ อย่างตอนนี้กรมประมงขอ DNA ปลาหมอคางดำจากกาน่า  เวลานี้มีการสื่อสารปลาหมอคางดำที่พบมีพันธุกรรมเหมือนกัน ตีความทุกตัวเป็นญาติกันหมด ซึ่งเร็วเกินไป ตนเสนออธิบดีกรมประมง หากไม่สามารถหาตัวอย่างปลาหมอคางดำ สามารถเอาตัวอย่างในประเทศเทียบกับต่างประเทศ ไม่เฉพาะกาน่า อีกทั้งฐานข้อมูล DNA ปลาหมอคางดำในต่างประเทศมีอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอ DNA ส่งมาจากกาน่า สิ่งที่ต้องคิดต่อไป เราต้องมองไปข้างหน้า การตามหาที่หาและผู้รับผิดชอบนั้นสำคัญ ต้องค้นหาวิธีจัดการและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการแก้ปัญหา

ผศ.ดุสิต สุขสวัสดิ์

“แต่ปลาหมอคางดำระบาดไปถึงจ.สงขลา ใต้สุดจ.ปัตตานีแล้ว อยากเห็นระดับชาวบ้านใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าแบบสะพายหลัง ส่วนเรือช็อตไฟฟ้าใช้ในภาพใหญ่  ขณะที่บ่อกุ้งใช้แผ่นกรองสนามไฟฟ้าที่ประตูน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ภาครัฐต้องลงทุน”

ผศ.ดุสิต สุขสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวว่า เมื่อพบการระบาดปลาหมอคางดำ พบเห็นชาวบ้านใช้วิธีช็อตไฟฟ้ากันมาก บางกรณีมีผู้เสียชีวิต  ซึ่งกรมประมงห้าม เพราะผิดกฎหมาย  แต่การจัดการด้วยการใช้ไฟฟ้าน่าสนใจและมีประสิทธิภาพหยุดการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในขณะนี้ มีกรณีศึกษาการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในสหรัฐ จัดการปลาจีนด้วยเรือช็อตไฟฟ้า  แต่ก็ยังมีอีกหลายระบบในการจัดการ  ปลาหมอคางดำเป็นปลาลอยหัว หากทำสนามไฟฟ้าที่มีความถี่สูง จะไม่อันตรายต่อสัตว์ที่อยู่น้ำลึก โดยให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าไหลเป็นชุดๆ ตามคำสั่งเปิดปิดของคน มีความปลอดภัย  ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ขณะนี้สั่งโรงงานผลิตนวัตกรรมนี้แล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบ กรมประมงสามารถนำเครื่องมือหรือเรือช็อตไฟฟ้านี้ไปแจกจ่ายชาวบ้านใช้การจัดการปลาหมอคางดำตามคูคลอง โดยมีการควบคุม ตรวจสอบ อบรม เมื่อการแพร่ระบาดยุติก็เก็บเครื่องมือดังกล่าวคืน อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดการด้วยไฟฟ้าต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจ และบริบทของธรรมชาติแต่ละพื้นที่

“ ตอนนี้ชาวนากุ้งปล่อยกุ้งล้านตัว แต่ได้ปลาหมอคางดำมา 5 ตัน ภายในเวลา 4 เดือน แต่ละวันความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล  การแก้ปัญหาต้องแบ่งเป็นระยะสั้น กลาง และยาว อนาคตบ่อกุ้งจะไม่เหลือ ลองนึกภาพอยุธยาไม่มีกุ้งแม่น้ำ สุพรรณฯ ไม่มีปลาม้า ปลาหมอคางดำจะทำให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไป นักวิชาการต้องร่วมมือจัดการปัญหา ตอนนี้เราไม่เห็นตัวเลขการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ปลาหมอคางดำระบาดไปถึงจ.สงขลา ใต้สุดจ.ปัตตานีแล้ว อยากเห็นระดับชาวบ้านใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าแบบสะพายหลัง ส่วนเรือช็อตไฟฟ้าใช้ในภาพใหญ่  ขณะที่บ่อกุ้งใช้แผ่นกรองสนามไฟฟ้าที่ประตูน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ภาครัฐต้องลงทุน เพิ่มความหวังให้เกษตรกรด้วยเทคโนโลยี “ ผศ.ดุสิตเสนอแนะแก้วิกฤต

ผศ.ดร.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล

“อีกทางเลือกการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำทางชีวภาพสามารถทำได้ โดยการปรับแต่งจีโนม (genome editing)  “

เวทีเดียวกัน ผศ.ดร.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนออีกทางเลือกการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำทางชีวภาพสามารถทำได้ โดยการปรับแต่งจีโนม (genome editing)  ซึ่งเป็นเทคนิคที่แก้ไขรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งที่ต้องการอย่างจำเพาะ และไม่ถือเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) หากไม่มีสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตอื่นหลงเหลืออยู่  เทคนิคนี้สามารถใช้เปลี่ยนเพศปลาได้  ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วในปลานิล เช่น ทำให้เป็นเพศผู้ทั้งหมด อาจลดอัตราส่วนเพศเมีย ช่วยคุมประชากรปลาหมอคางดำ  แล้วยังมียาแรงเป็นการใช้เทคนิคดังกล่าวในการสร้างระบบ gene drive เคยถูกใช้ควบคุมประชากรยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาในปลาม้าลาย  แต่การใช้ระบบ gene drive นี้ จะเป็นการปล่อย GMO สู่สิ่งแวดล้อม จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการปรับแต่งจีโนมเพื่อเปลี่ยนเพศ ร่วมกับการนำระบบ gene drive มาใช้ในการจัดการการระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยี และแนวทางในการป้องกันหรือลดทอนผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงวิธีการจัดการควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ถือเป็นแผนระยะยาว ใช้หรือไม่ใช้ ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดเตรียมพร้อมไว้ก่อน

นายคงภพ อำพลศักดิ์

“การปล่อยปลาหมอคางดำโครโมโซม 4 ชุด (4n)  ตัวผู้ เพื่อให้ไปผสมกับปลาเพศเมียที่อยู่ในแหล่งน้ำแล้วได้ลูกที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้  “

ด้าน นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ (นักวิชาการประมงเชี่ยวชาญ) กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันกรมประมงการควบคุมปลาหมอคางดำด้วยชีววิธี (Biological control) เป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาว  เป็นการปล่อยปลาผู้ล่า เป็นปลากินเนื้อโดยธรรมชาติ  มีความกระหายบริโภคสัตว์น้ำ ในน้ำจืด ปล่อยปลากดเหลือง ปลากดแก้ว ปลากราย ส่วนปากแม่น้ำ ปล่อยปลากะพงขาว ปลาดุกทะเล ส่วนน้ำกร่อย ปล่อยปูทะเล ปูม้า โดยควบคุมการปล่อยในสัดส่วนที่เหมาะสม   ช่วงเวลาปล่อยที่มีประสิทธิภาพ

 อีกชีววิธี ผู้เชี่ยวชาญพันธุกรรมสัตว์น้ำ ระบุเป็นการปล่อยปลาหมอคางดำโครโมโซม 4 ชุด (4n)  ตัวผู้ เพื่อให้ไปผสมกับปลาเพศเมียที่อยู่ในแหล่งน้ำแล้วได้ลูกที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้  เดือนแรกผสมได้ 1 คอก เดือนที่ 2 ผสมใหม่ได้อีกคอกใหม่ เดือนที่ 3 ผสมใหม่ได้อีก จะได้ปลาหมอคางดำโครโมโซม 4 ชุด จำนวน 3 ชุด  และไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO)  เดือนที่ 4 ปลาจะไปปะปนกับปลาหมอคางดำในธรรมชาติ  ถึงจะเป็นหมันแต่ปลาเพศผู้ก็มีพฤติกรรมผสมพันธุ์อยู่ จะกวนประชากรในธรรมชาติ ลูกจะไม่ได้  วิธีควบคุมปลาหมอคางดำทั้ง 2 วิธี มีเป้าหมาย ทำให้ประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำลดลง ความคืบหน้าขณะนี้กรมประมงเร่งเก็บปลาหมอคางดำในธรรมชาติให้มากที่สุด ในแหล่งน้ำ ลำราง บ่อเลี้ยงเกษตรกร  เมื่อจำนวนเบาบางลง จะปล่อยปลาผู้ล่า เพื่อให้สมดุลในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในธรรมชาติ  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแล้ว! เลขาฯไบโอไทย เจอหมายเรียกปมปลาหมอคางดำ

เฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถีโพสต์ข้อความ ระบุว่าหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแจ้งความดำเนินคดี นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

กลุ่มชาวประมง ยื่นฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายเอกชนหลายพันล้าน ทำปลาหมอคางดำแพร่ระบาด

นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง พร้อมชาวบ้านกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา และประมงพื้นบ้าน ในเขตอําเภออัมพวา อําเภอบางคนที