ส่อง'Mission2023'อุตสาหกรรมปูน ปฏิบัติการลดโลกร้อนที่เป็นจริง

รูปแบบ Green mining ตามนโยบายเหมืองสีเขียว

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับสามรองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมเหล็ก อีกทั้งแนวโน้มอุตสาหกรรมปูน ยังคงเติบโตต่อเนื่อง  เพราะรัฐลงทุนตอกเสาเข็มเมกะโปรเจ็คในประเทศ หากไม่มีมาตรการลดผลกระทบจากการผลิต  ก็จะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน  

ถ้าผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยจับมือกันลดการปล่อยก๊าซตัวการก่อภาวะโลกร้อนจะมีส่วนสำคัญให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ตามเป้าที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร  

เหตุนี้ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA)โดยผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกรายในประเทศจึงได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ประกาศเป้าหมาย “MISSION2023” ลดก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ให้ได้ 1 ล้านตัน CO 2  ภายในปี 2566 หลังจากประสบความสำเร็จจากมาตรการส่งเสริมใช้“ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก”ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทดแทนปูนเม็ดในปี 2564 สามารถลดก๊าซได้ 300,000 ตัน CO 2  บรรลุเป้าหมายก่อนปี 2565 ที่ได้ตั้งธงไว้

ชนะภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศชะงักงันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากปัญหาปากท้อง ประเทศไทยยังเผชิญอุบัติภัยจากน้ำท่วม ภัยแล้งเป็นระยะ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม จนทุกคนต้องปรับตัว หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก บนเวที COP26 มีการประกาศเป้าหมายเพิ่มจากข้อตกลงปารีสที่กำหนดขีดจำกัดอุณหภูมิโลก 1.5 องศา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม TCMAจึงร่วมกับสมาชิกขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกผ่าน 3 แผนงาน1.ลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนเม็ด โดยบูรณาการความร่วมมือภายใต้ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: มาตรการทดแทนปูนเม็ด” ระหว่าง 19 หน่วยงาน

โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ จนสามารถบรรลุเป้าหมายสามารถลดก๊าซคาร์บอนด์ได้ 300,000 ตัน    เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2565 เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น เป็นการเปลี่ยนปูนเม็ดมาเป็นปูนไฮดรอลิกเกือบ6 ล้านตัน ซึ่งการนำนวัตกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกไปใช้ มีการวิจัย พัฒนาและได้มาตรฐาน มอก. 2594

2.ยังมีการดำเนินการการพัฒนาเหมืองหินปูนสู่ความยั่งยืน ขณะนี้โครงการ“เขาวงโมเดล”ที่เป็นการวางผังเหมืองร่วมกันเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และ “แก่งคอยโมเดล” ได้รับความเห็นชอบในร่างแผนผังโครงการจากภาครัฐเป็นต้นแบบการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยังมีการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุด อาจเป็นแหล่งน้ำหรือจุดเรียนรู้สำหรับชุมชนนั้นๆตัวอย่างที่เห็นชัดคือ  เหมืองบ้านแม่ทาน จ.ลำปางซึ่งพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ และส่งต่อไปยังบ่อน้ำชุมชนใกล้เคียงให้ได้ใช้ประโยชน์กว่า 250   ครัวเรือน ทั้งนี้ ช่วงปีที่ผ่านมาได้นำน้ำกว่า 1.3 ล้านลูกบาศ์เมตรจากบ่อเหมืองช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ,เหมืองห้วยแร่ จ.สระบุรี เปิดคันขอบเหมืองแร่ดินซีเมนต์ที่สิ้นสุดทำเหมืองแล้วเป็นพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำถึง 6.6 ล้าน ลบ.ม.ช่วยป้องกันน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่ว่า 1,000 ไร่บรรเทาความเดือดร้อนช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา  

ถุงใส่ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก  โดยปูนชนิดนี้จะเป็นพระเอกเพราะมีกระบวนการผลิตที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก

3. สร้าง Ecosystem สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน TCMA ส่งเสริมสมาชิกนำ Waste ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชนและการเกษตรมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing สมาคมฯร่วมลงนาม MOU กับกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการอ้อยและน้ำตาลทรายนำWaste จากอ้อยมาเผาเป็นเชื้อเพลิง ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5      

นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหม่จะศึกษาความเป็นไปได้นำเศษคอนกรีตจากการก่อสร้างและรื้อถอนมาใช้ประโยชน์ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดการปล่อยก๊าซอีกทาง  

สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 2564 และแนวโน้มในอนาคตนายชนะให้ภาพรวมว่า  อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยต้องปรับตัวให้ก้าวข้ามความท้าทายที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นการเข้ามาของเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมการสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมด้านสังคม ชุมชนทิศทางความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จะสอดคล้องไปกับภาคการก่อสร้างของประเทศ ทั้งของภาครัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และของภาคเอกชนเป็นงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยในแนวราบ งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมแบ่งเป็นปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้างและงานหล่อผลิตภัณฑ์คอนกรีตร้อยละ 89 ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ร้อยละ 10 และปูนซีเมนต์สำหรับงานพิเศษ ร้อยละ 1

“ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศประมาณ 30 – 35 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 50 – 60 ของกำลังการผลิตโดยรวม  อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยมุ่งเน้นหนุนการพัฒนาเติบโตของประเทศ   ไม่มีนโยบายผลิตส่งออก  ประเมินอัตราการเติบโตโดยรวมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 2564 ที่ -1% และปี 2565 เติบโตขึ้น 2%  ทิศทางปี 2565 เราเดินหน้าการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิต การทำเหมืองตามแนวทาง Green Mining ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่การดูแลชุมชนโดยบูรณาการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น”นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนฯกล่าว

 เหมืองแม่ทาน จ.ลำปาง ที่มีการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน หลังสัมปทานเหมืองสิ้นสุด

ส่วนการกำหนด“Mission2023” ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2566   ลดก๊าซจากมาตรการทดแทนปูนเม็ดให้ได้ 1,000,000 ตันCO 2  เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122,000,000 ต้น โดยผู้ผลิตทุกรายพร้อมใจส่งปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก  เข้าสู่การใช้งานในวงกว้างทั่วประเทศเพื่อให้การลดก๊าซบรรลุเป้าหมาย และเชิญชวนประชาชนผู้ประกอบการร่วมลดภาวะโลกร้อนด้วยการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์

“ เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 1 ล้านตัน สมาชิกมุ่งมั่นหลังเป้าหมายแรกทำได้ดีและภาครัฐสนับสนุน นอกจากนี้มีแนวคิดยกเลิกปูนโครงสร้างเดิมออกจากตลาดสมาชิกทั้งหมดและนำปูนไฮดรอลิกใช้ทดแทนทั้งประเทศ เป็นปูนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำถือเป็นภาคอุตสาหกรรมแรกของประเทศไทยที่มีโรดแมปชัดเจน ส่วนโครงการคาร์บอนซิงค์มุ่งเน้นฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและปลูกต้นไม้ฟื้นฟูเป็นกระบวนการดูแลพื้นที่เหมืองเป็นสีเขียว “ นายกฯ TCMA กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พปชร. เดินหน้าเสนอร่างพรบ.ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต เข้าสภาฯ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิตพ

TCMA นั่งบอร์ด GCCA กอบกู้วิกฤติโลกเดือด ขับเคลื่อนซีเมนต์โรดแมป สู่ Global Connectivity

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ผลงานเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ดัน “ดร. ชนะ ภูมี” ร่วมนั่งในทีมบอร์ดบริหารสมาคมผู้ผลิตซีเมนต์และคอนกรีตโลก

TCMA โชว์วิสัยทัศน์ผู้นำลดโลกร้อน ชู PPP Model ผนึกวิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทย สู่ Net Zero

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดวิสัยทัศน์เป็นผู้นำลดก๊าซเรือนกระจก และทิศทางนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทย มุ่งสู่ 2050