'อบจ.ภูเก็ต' ผ่าทางตัน Pain point เมืองท่องเที่ยวระดับโลก 

นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต บรรยายแผนพัฒนาเมือง

ภูเก็ตมีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตร  มีเขตปกครองเพียงแค่ 3อำเภอ 17  ตำบล  แต่แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ภูเก็ต เปรียบเสมือนห่านที่ออกไข่ทองคำให้กับประเทศ เพราะติดอันดับ World Destination จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วทั้งโลก มานานหลายสิบปี ด้วยจุดขาย Sea, Sand, Sun ซึ่งยืนหยัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  

โดยในช่วงครึ่งปีแรกหรือสิ้นเดือน มิ.ย.2567  ภูเก็ตทำรายได้ ประมาณกว่า 2.46 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี2567 จะทำรายได้แตะระดับ  5แสนล้าน เมื่อเทียบกับงบประมาณ ปี2568 ที่มีจำนวน 3.57 ล้านล้านบาท ถือว่าภูเก็ต สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณกว่า 10% ของงบประมาณทั้งปี  ทั้งที่ในปีนี้ นักท่องเที่ยวยังมาภูเก็ตไม่เท่ากับช่วงก่อนปี2019 หรือก่อนช่วงโควิด 19 ระบาด   สิ่งที่เป็นอานิสงส์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาภูเก็ตไม่ขาดสาย ส่วนหนึ่งนั้นก็คือ นโยบายฟรีวีซ่าให้กับ 50-60 ประเทศของรัฐบาล และความพร้อมของสนามบินภูเก็ต ที่มีศักยภาพสูงในเรื่องตรวจคนเข้าเมือง สามารถระบายคนเข้าออก ได้ภายในเวลา 15นาที

ศูนย์ควบคุมเรือยอร์ชโฉมใหม่

แม้สังคมภายนอกจะมองภูเก็ตว่าเป็นจังหวัดที่เจริญ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยว  แต่แท้จริงแล้ว ในพื้นที่เล็กๆของภูเก็ต มีปัญหาหรือ pain point ที่รอวันแก้ไขซ่อนอยู่ ที่สำคัญคือ ระบบขนส่งสาธารณะในเมือง ที่เชื่อมโยงกับปัญหาจราจรติดขัด เนื่องจาก ทั้งจังหวัดมีถนนสายหลักเพียงสายเดียว ไม่เพียงพอกับการสัญจรไปมา ทั้งจากคนในพื้นที่และจากนักท่องเที่ยว ที่หลั่งไหลเข้าภูเก็ตตลอดเวลา ทุกวันนี้ ปัญหารถติดของภูเก็ตจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองรถติดไม่แพ้กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ภูเก็ต ยังไม่มีถนนที่จะเชื่อมต่อไปยังจังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น พังงา หรือกระบี่

นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากศักยภาพที่หลากหลายของจังหวัดภูเก็ต สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การขนส่ง และศูนย์กลางการบินของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งในส่วนของ อบจ.ภูเก็ตมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพิ่มการใช้จ่ายต่อคน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น  

รถโพถ้อง รถท้่องถิ่น จะถูกแทนที่ด้วยรถEV เพื่อแก้ปัญหาจราจร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนปัญหาจราจรของภูเก็ต นายเรวัติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้  สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยเสนอให้ภูเก็ต สร้างรถไฟฟ้าเพื่อให้การสัญจรนักท่องเที่ยวคล่องตัว ซึ่งเป็นแผนของการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวสำคัญพึงมีระบบนี้ แต่โครงการนี้ก็ยังไม่ได้รับการสานต่อ ยังคงเป็นแค่แผนเท่านั้น  ที่สำคัญ ทางจังหวัด ยังเสนอให้มีการสร้างถนนอีกสาย ระยะทางประมาณ 46 กม. เพื่อลดความแออัด แก้ปัญหารถติด เพราะมีถนนสายหลักเพียงเส้นเดียว แต่การสร้างถนนต้องได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง เนื่องจากใช้งบฯมากถึง 1หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเวณคืนที่ดิน ซึ่งทุกวันนี้ หากเวณคืนช้าไปหนึ่งปี ราคาโครงการก็จะเปลี่ยนไป ไม่ใช่หมื่นล้านบาท

“ถ้าถามว่าทำไมเราไม่มีงบฯสร้างเอง ต้องบอกว่าเรามีงบฯไม่พอ งบประมาณที่ได้รับและเหลือสุทธิสำหรับการบริหาร/พัฒนาจังหวัดต่อปีเพียง 85 ล้านบาทเท่านั้น  เพราะงบฯที่ได้เป็นการอิงกับจำนวนตัวเลขประชากรที่ระบุในระบบ เพียง 4 แสนกว่าราย งบฯจึงน้อยขณะที่ประชากรแฝงมีกว่า 1 ล้านคน และเฉลี่ยภูเก็ตจะมีประชากรหมุนเวียน1.3 – 2 ล้านคน  ถ้าถามเรื่องภาษี จากพวกห้างฯใหญ่ๆที่เข้ามาเปิดในภูเก็ต ก็พบว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของห้างในกรุงเทพฯ ไม่ได้เข้าจังหวัดแต่อย่างใด ส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมก็มีสัดส่วน 1% ของค่าห้องเข้าพัก ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องจ่ายให้ท้องถิ่น ซึ่งส่วนนี่้จังหวัดมีรายได้กว่า 300 ล้านบาท  “

แม้ปัญหาการพัฒนาที่เป็นโครงการใหญ่ จะยังไม่บังเกิดเพราะต้องใช้งบประมาณระดับสูง  แต่ทางอบจ.ภู เก็ต ไม่หยุดยั้งการพัฒนาเมือง โดยนายเรวัต กล่าวว่า  ทางอบจ.มีแผนที่จะแก้ปัญหาจราจร และเมืองในด้านอื่นๆหลายแผนด้วยกัน

แผนแรก คือ การพลิกโฉมการขนส่ง แก้ปัญหารถติดสะสมในตัวเมือง โดยโครงการนำรถ EV จำนวน 24 คัน มาใช้แทนรถโพถ้อง สีชมพู ของทาง อบจ.ภูเก็ต ที่ให้บริการมานานกว่า 10 ปี โดยให้บริการใน 3 เส้นทาง บวก 1 เส้นทาง  ประกอบด้วย สายที่ 1 สายสีเหลือง เริ่มต้นที่สะพานหิน ไปสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ระยะทาง 11 กิโลเมตร สายที่ 2 ท่าเรืออ่าวฉลอง-ห้างซุปเปอร์ซีป หรือสายสีแดง ระยะทาง 18 กิโลเมตร สายที่ 3 ท่าเทียบเรือรัษฎา-สวนน้ำอันดามันดา หรือสายสีเขียว ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และบวกอีก 1 เส้นทางคือสนามบิน- หาดราไวย์ รวมระทางประมาณ 47 กิโลเมตร  ทั้งนี้ได้ปรับให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือ โรงเรียน ชุมชน ย่านการค้า ย่านเมืองเก่ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทั้งคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยว คนไทย และ ต่างชาติ  1 คันรองรับผู้โดยสารได้ 21 คน  ตั้งเป้าทดลองวิ่งเดือนต้นธันวาคมปีนี้

สวนสาธารณะที่จะพัฒนา

แผนต่อมาคือการพัฒนาเมือง จังหวัดภูเก็ตได้มีการย้ายเรือนจำประจำจังหวัดไปอยู่ที่สถานที่แห่งใหม่ ที่บ้านบางโจ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แทนเรือนจำจังหวัดภูเก็ตเดิม ทำให้พื้นที่ของเรือนจำเดิมว่าง จึงได้มีโครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ตแห่งเดิมเป็นสวนสาธารณะ เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ จิตใจให้ชาวภูเก็ต เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สร้างปอดแห่งใหม่ให้จังหวัดภูเก็ต โดยมีงบประมาณ 169.5 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่เรือนจำเก่าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นสถานที่ออกกำลังกายแห่งใหม่ พร้อมด้วยที่จอดรถยนต์อีก 300 คัน รองรับรถยนต์ของประชาชนที่มาออกกำลังกายและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาท่องเที่ยวยังย่านเมืองเก่าภูเก็ต และเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่สีเขียวโดยรอบให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เพื่อให้เกิดเป็นสวนสาธารณะของชาวภูเก็ตอย่างยั่งยืน บนพื้นที่ 33 ไร่

และล่าสุด แผนการพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือที่อยู่ในการดูแลของ อบจ.ภูเก็ต ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ทาง อบจ.เป็นผู้บริหารจัดการเอง โดยจะยกระดับเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ใช้ระบบ AI คัดกรองผู้โดยสาร จัดระเบียบการจราจรบนสะพาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เพื่อความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ตมากที่สุด

นายเรวัต อารีรอบ นายกอบจ.ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์แผนพัฒนาเมือง

ส่วนพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของนักท่องเที่ยว  และจัดว่าเป็นชุมชนขับเคลื่อนการท่องเที่ยว นายเรวัต กล่าวว่า เขตเมืองเก่านี้  เป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ถือว่ามีศักยภาพในการนำเสนอประสบการณ์ที่หลากหลายให้แก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการชมเมือง การชิมอาหารพื้นถิ่น และการสัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูเก็ต ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักภูเก็ตในแง่มุมที่แตกต่างออกไป ไม่ได้มีเพียงแค่ Sea, Sand, Sun แต่ยังมี City ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สลีค อีวี แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาแรง เปิดแผนเพิ่มกำลังการผลิต 200% ตั้งเป้าเทียบชั้นเจ้าตลาด

สลีค อีวี (SLEEK EV) ผู้นำเทคโนโลยีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รับยอดขายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเติบโตหนุนปัจจัยด้านพลังงานทางเลือก ตั้งเป้าขยายธุรกิจตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น

 ‘เมืองศิลปะสร้างสรรค์’ ฝันของคนภูเก็ต

ทุกภาคส่วนในภูเก็ตร่วมนำเสนอความพร้อมเป็นเมืองศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ของประเทศไทย ลำดับที่ 4 ต่อจาก จ.กระบี่ นครราชสีมา และเชียงราย ในมิติต่างๆ ผ่านการประชุมที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)