ฉลองมรดกโลก'ภูพระบาท'แหล่งวัฒนธรรมสีมาทวารวดี

ศูนย์มรดกโลกจัดส่งใบประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม “ภูพระบาทประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” เป็นแหล่งมรดกโลกที่ลงนามรับรอง โดย Ms. Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มาให้กับประเทศไทย เนื่องในโอกาสนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานฉลองแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมภูพระบาท เพื่อติดตั้งตราสัญลักษณ์มรดกโลกและใบประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการให้ชาวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ ร่วมยินดีและเฉลิมฉลอง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา  โดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม  เป็นประธาน การนี้ นายประสพ เรียงเงิน ปลัด วธ. นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าฯ อุดรธานี นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา และอาสาสมัครท้องถิ่นดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมกว่า 200 คน ตลอดจนชาวบ้านผือ ชาวอุดรธานี เข้าร่วม

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ตามที่ยูเนสโกประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2567 โดยเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของไทยทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม วธ.จัดงานฉลองแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมภูพระบาท เพื่อติดตั้งตราสัญลักษณ์มรดกโลกและใบประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มรดกโลก

“ ภูพระบาทเป็นแหล่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แสดงถึงรูปแบบการกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และแสดงถึงรูปแบบทางศิลปะสีมานิมิตของวัฒนธรรมทวารวดีในบริบทของโลก และลักษณะทางภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้ปรับเปลี่ยนสำหรับการตั้งสีมานิมิต มีการใช้งานพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ศตวรรษ มีความสัมพันธ์กับประเพณีและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่า การใช้พื้นที่แสดงถึงวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดีที่โดดเด่นที่สุดในที่ราบสูงโคราช “ นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

รมว.วธ. กล่าวด้วยว่า อุดรธานีถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรม มีแหล่งมรดกโลก 2 แห่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงและอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขณะนี้บูรณาการการทำงานจัดทำเส้นทางจังหวัดเดียวเที่ยว 2 มรดกโลก เชื่อมโยงระหว่างภูพระบาทและบ้านเชียง เชื่อว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวในอุดรธานีเพิ่มขึ้น  มอบหมายให้กรมศิลปากร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด บูรณาการกับทุกภาคส่วนสร้างการรับรู้ จัดทำข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยว พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก จะเร่งผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับงานฉลองมรดกโลกภูพระบาท กรมการศาสนาจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ โบราณสถานหอนางอุสา ซึ่งมีพระราชภาวนาวชิรากร (อินทร์ถวาย สนตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดอุดมมงคลวนาราม (วัดป่านาคำน้อย) อ.นายูง จ.อุดรธานี แสดงธรรมเทศนาและนำชาวพุธเจริญจิตภาวนา กรมศิลปากรจัดกิจกรรมปลูกต้นรวงผึ้ง ไม้มงคลประจำร. 10 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพื้นที่หอนางอุสา โบราณสถานสำคัญเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภูพระบาท และช่วยสร้างภูมิทัศน์โดยรวมของแหล่งมรดกโลกแห่งนี้

ภายในงานชาวชุมชนไทพวนอำเภอบ้านผือแสดงศิลปะพื้นบ้าน ส่วนกรมศิลปากรจัดการแสดงชุดพิเศษละครตำนานภูพระบาท เรื่อง อุสา บารส  เล่าโศกนาฏกรรมความรักนางอุสาและท้าวบารส ซึ่งถูกกีดกันจากเจ้าเมืองพาน ถูกกลั่นแกล้งจากเหล่าชายาของท้าวบารสจนนางอุสาป่วยหนักและสิ้นใจ ด้วยความรักท้าวบารสจึงตรอมใจตายตามนางอุสาไป จากชื่อตัวละครในนิทาน ตำนานรักเล่าสืบต่อกันมาได้ผูกโยงเข้ากับโบราณสถานบนภูพระบาทจนเกิดเป็นชื่อเรียกโบราณสถานต่าง ๆ เช่นทุกวันนี้ ทั้งยังจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน สุครีพถอนต้นรัง

ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งยกระดับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ สร้างรายได้  สร้างการรับรู้คุณค่าความสำคัญของมรดกโลกวัฒนธรรมแห่งนี้ทั้งในประเทศและระดับสากล

เพิ่มเพื่อน