สวนสัตว์แห่งใหม่ พิกัด'ทุ่งน้ำรังสิต'

กระแสการท่องเที่ยวสวนสัตว์ที่เปลี่ยนไป จากปรากฎการณ์หมูเด้ง ทำให้สวนสัตว์กลายเป็นแลนด์มาร์กของคนกรุงเทพฯ วันว่างนิยมไปเที่ยวสวนสัตว์พบพระเอกนางเอกของแต่ละสวนสัตว์ พร้อมกับชมความน่ารักของสัตว์นานาชนิด  โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ พื้นที่ทุ่งน้ำรังสิต คลอง 6 ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  กำลังจะกลายเป็นที่เที่ยวสวนสัตว์แห่งใหม่ใกล้กรุงที่ทุกคนเฝ้ารอ

สวนสัตว์แห่งใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็น สวนสัตว์แห่งอนาคต เน้นการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการเรียนรู้ระบบนิเวศในรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด “Biodiversity Park” จำลองถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์แต่ละชนิดอย่างใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุดเพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตของสัตว์กับประสบการณ์ของผู้เข้าชมทุกเจนเนอเรชั่น รวมถึงมีบทบาทอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “สวนสัตว์สีเขียว” (Green Zoo) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระยะที่ 1 คืบหน้าแล้วกว่า  60%   ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการในปี 2569   คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการต้อนรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบในปี 2572 ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมคณะตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยมี รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รายงานความก้าวหน้าพร้อมนำชมพื้นที่โครงการฯ ช่วงเย็นวันที่ 14 พ.ค.2568 ที่ผ่านมา

ขนาดของพื้นที่ประมาณ 300 ไร่  จะมีสัตว์ให้ชมหลายโซนและจำลองบ้านของสัตว์แต่ละชนิดอย่างเหมาะสม   สวนสัตว์แห่งใหม่แตกต่างจากเขาดิน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าวว่า การออกแบบสวนสัตว์ได้แรงบันดาลใจจากภูมิประเทศของทุ่งรังสิต  เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงของภาคกลาง  อดีตเป็นป่ามีสัตว์หลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น ควายน้ำ เก้ง ช้าง รวมถึงกระเรียนในพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยนำมาปรับใช้เป็นภูมิทัศน์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ พัฒนาเป็นส่วนจัดแสดงสัตว์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสิ่งกั้นขวางสายตา เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด เหมือนเข้าไปอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามแนวความคิดที่เชื่อมโยงคน  สัตว์ และธรรมชาติ เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ

“ ความต่างไม่ใช่สวนสัตว์ 2 มิติแบบสมัยก่อน  แต่สวนสัตว์สมัยใหม่จะเป็น  3 มิติ การจัดแสดงสัตว์ในแต่ละโซนจะถูกออกแบบให้สัตว์สามารถมองเห็นกันได้เหมือนอยู่ในพื้นที่เดียวกันตามธรรมชาติ โดยใช้แนวกั้นธรรมชาติ เช่น คูแห้ง คูน้ำ หรือระดับพื้นที่ต่าง ๆ แบ่งโซนอย่างปลอดภัย ไม่ให้สัตว์ข้ามเขตกันได้ คงบรรยากาศที่เสมือนจริง พื้นที่คนจะน้อย พื้นที่สัตว์กว้างใหญ่  ประสบการณ์ของผู้เข้าชมเหมือนซุ่มดูสัตว์ในป่า  เป็นความท้าทายของผู้เข้าชม สัตว์ในสวนสัตว์ใหม่จะไม่ให้สูญเสียสัญชาติญาณ บรรดาสัตว์ผู้ล่ายังเป็นนักล่า ส่วนสัตว์ผู้ถูกล่าต้องรักษาสัญชาติญาณการระแวดระวังภัย การหลบหนี   มีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ได้มาตราฐานสากล   “ รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

คนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า จะมีการย้ายสัตว์จากเขาดินมาจัดแสดงที่สวนสัตว์ใหม่แห่งนี้ ซึ่งไม่ใช่ สัตว์ที่เคยอยู่เขาดินได้กระจายไปสวนสัตว์ 6 แห่งทั่วประเทศ เมื่อสวนสัตว์แห่งใหม่เปิดบริการ จะมีพระเอกนางเอกของสวนสัตว์เขาดินเดิมที่วางแผนคัดเลือกไว้มาที่นี่  แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงจากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป หรือมีสัตว์ตัวใหม่ที่เหมาะสมกว่าก็ต้องปรับเปลี่ยน ยกตัวอย่างแม่มะลิฮิปโปอายุ 60 ปีแล้ว ปัจจุบันอยู่สวนสัตว์เขาเขียว ไม่เหมาะที่จะเคลื่อนย้ายมาที่ใหม่ อีกส่วนหนึ่งเป็นสัตว์มาจากที่อื่น รวมถึงสัตว์ที่จะมาจัดแสดงสวนสัตว์แห่งใหม่เป็นตัวชูโรงได้ทั้งนั้น

การวางแผนสัตว์จัดแสดง มีโซนที่น่าสนใจ แบ่งเป็นโซนแอฟริกา จัดแสดงม้าลาย ยีราฟ ฮายีน่า สิงโต   โซนเอเชีย โซนออสเตรเลีย จัดแสดงจิงโจ้ หมีโคล่า แทสเมเนียล เดวิล รวมถึงนกเฉพาะถิ่น  โซนอเมริกาใต้  และสวนสัตว์เด็ก  รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุจากการตรวจเยี่ยม รมว.ทส.ให้นโยบายสวนสัตว์ควรเป็นที่จัดแสดงสัตว์ที่แปลกใหม่ สัตว์ที่อยู่ในความสนใจขงผู้คน รวมถึงสัตว์หายาก ซึ่งก็มีความยากที่จะได้สัตว์เหล่านั้นมา  ในแผนมีสัตว์ที่ไม่เคยมีการจัดแสดงในประเทศไทยมาก่อน เช่น กวางแอฟริกา แทสเมเนียล เดวิล ฯลฯ  ส่วนสวนสัตว์เด็กจะเป็นสัตว์ที่เด็กเข้าใกล้ชิดได้ง่าย ปลอดภัย  เรียนรู้ช่วยดูแลสัตว์ในถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เลี้ยง 

เมื่อถามถึงกระแสความนิยมการจัดงานแสดงสัตว์แปลก สัตว์หายาก เหล่าสัตว์เลี้ยงในศูนย์การค้า ชวนให้คนมาพบกับความน่ารัก ตื่นตาตื่นใจกับสัตว์นานาชนิดนั้น  ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์ฯ แสดงทัศนะว่า แม้ผู้เข้าชมจะได้เข้าถึงสัตว์ง่ายขึ้น  แต่ในแง่สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตสัตว์อาจไม่ดีนัก ทั้งความจำกัดของพื้นที่ ต่างจากการเรียนรู้ในสวนสัตว์ อย่างสวนสัตว์แห่งใหม่นี้ไม่ใช่เพียงสถานที่ชมสัตว์ แต่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ มีชีวิตที่เชื่อมโยงผู้คนให้เข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เป็นห้องเรียนสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ในระดับสากลที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย (Lifelong Learning)

โครงการสวนสัตว์แห่งใหม่คลองหก ยังชูการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ครอบคลุมตั้งแต่ระบบจำหน่ายและจองตั๋วล่วงหน้า จนถึงระบบบริหารจัดการสวนสัตว์ พร้อมด้วยศูนย์ข้อมูลที่รองรับการจัดเก็บและปกป้องข้อมูลของสวนสัตว์อย่างปลอดภัย ด้านระบบขนส่งมวลชนจะเชื่อมโยงรับ-ส่งผู้เข้าชมจากในเมืองสู่ย่านรังสิต อบจ.ปทุมธานี จะขยายพื้นที่ขนส่งมวลชน นอกจากนี้ ประสานงานรถไฟฟ้าเพื่อตั้งสถานีรถไฟฟ้าสวนสัตว์แห่งใหม่  อาจจะสำรวจคลองรังสิตพัฒนาเส้นทางสัญจรทางน้ำในอนาคต รวมถึงร่วมกับสถานศึกษาส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมสวนสัตว์สีเขียว

หมุดหมายสวนสัตว์แห่งใหม่เมื่อสร้างแล้วเสร็จ รศ.ดร.เจษฎ์วาดหวังสวนสัตว์แห่งนี้จะเป็นพื้นที่สาธารณะคุณภาพและแหล่งเรียนรู้ระดับสากล ที่ประชาชนสามารถมาใช้พักผ่อนและออกกำลังกาย เพิ่มโอกาสให้กับเด็กๆ และคนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวสวนสัตว์ในต่างประเทศ ได้เที่ยวสวนสัตว์ระดับโลกในประเทศไทย เป็นที่เชิดหน้าชูตา อีกทั้งยังเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าทั้งในและนอกถิ่นอาศัย การท่องเที่ยวสวนสัตว์แห่งใหม่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจอีกด้วย

ในอนาคตอันใกล้สวนสัตว์แห่งใหม่นี้บนทุ่งน้ำรังสิตจะเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้เรื่องราวสัตว์ป่า นิเวศวิทยา และส่งมอบประสบการณ์เสมือนจริงไว้ในที่เดียว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กุนซือ รมว.ทส.' ซัด 2 สส. ปชน. จงใจด้อยค่า 'เฉลิมชัย' ตีปี๊บ 6 เดือน ผลงานเพียบ

'ที่ปรึกษา รมว.ทส.' โต้ 2 สส.พรรคประชาชน จงใจด้อยค่า “เฉลิมชัย” ปิดหูปิดตาจนไม่มองผลงาน แจงยิบ 6 เดือนขับเคลื่อนแก้ปัญหามากมาย ไล่ให้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้สมบูรณ์ก่อน

ส่วนราชการ ปลื้ม ครม. มีมติขยายระยะเวลายื่นขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ช่วยสร้างสุขให้คนไทย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมสร้างสุขให้พี่น้องชาวไทย ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ที่ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงรวบรวมนโยบายสนับสนุนการกินดีอยู่ดี หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนของกรมป่าไม้

เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568

ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย